Carbon Economy เมื่อสิทธิ ‘การสร้างมลพิษ’ซื้อ-ขายได้ 💵 ไทยเติบโตแค่ไหนในตลาดคาร์บอนโลก?

Highlight

ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) เป็นตัวกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต (Crabon Credit) มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งคาร์บอนเครดิตเป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรหรือธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนได้

.

โดยถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้บรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกรวน ที่สามารถช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิลดลง ซึ่งในต่างประเทศมีตลาดคาร์บอนเครดิตในรูปแบบภาคบังคับที่เรียกว่า ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading System : ETS)

.

ในขณะที่ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเป็นรูปแบบภาคสมัครใจ โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ TGO ที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ในปี 2014 เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เรียกว่า TVERs สามาถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ซึ่งรายงานในปี 2022 ระบุว่า มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตประมาณ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 150 ล้านบาท 

.

#Agenda ชวนทุกคนมาสำรวจพร้อมเปรียบเทียบราคาของตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกในปี 2021 ที่ผ่านมา พร้อมวิเคราะห์ถึงปัจจัยและโอกาสในการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตไทยในอนาคต

.

.

สหภาพยุโรป 🇪🇺

ประเภท : ตลาดภาคบังคับ 🔒

อัตราแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต : 1 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) = 2,536.91 บาท

.

ระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (European Union Emissions Trading System : EU-ETS) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2005 โดยเทียบมูลค่าการซื้อขายในปี 2021 สูงถึง 12,214 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 25 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.9% ของตลาดคาร์บอนทั่วโลก

.

โดยสหภาพยุโรปได้รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศสมาชิกเพื่อกำหนดแผนการจัดสรรคาร์บอนเครดิต ในรูปแบบสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (National Allocation Plans) สำหรับประเทศสมาชิก โดยกำหนดเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกแบบเส้นตรงเป็นรายปีที่ระดับร้อยละ 2.2 จนถึงปี 2030 และยังจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free allocation) ร้อยละ 43 และผ่านการจัดประมูลสิทธิอีกร้อยละ 57 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีธุรกิจที่เข้าร่วมในโครงการมากกว่า 11,000 ราย

.

EU-ETS กำลังจัดตั้งกองทุนสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพ (Market Stability Reserve) เพื่อจัดเก็บและรักษามูลค่าของคาร์บอนเครดิต โดยจะสำรองคาร์บอนเครดิตมูลค่ามากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาทเข้ากองทุน และยังส่งเสริมการระดมทุนพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีลดคาร์บอน เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขข้อกฎหมายปฏิรูประบบ EU-ETS โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ระยะที่ 4 (ปี 2021-2030) เป็นต้นไป 

.

.

สหรัฐอเมริกา 🇺🇸

ประเภท : ตลาดภาคบังคับ 🔒

อัตราแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต : 1 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) = 1,067.17 บาท

.

สหรัฐฯ ได้ก่อตั้งโครงการ ‘’California’s Cap-and-Trade’’ เพื่อสร้างระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมีธุรกิจที่เข้ารวมโครงการมากกว่า 450 ราย โดยมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนของสหรัฐฯ ในปี 2021 อยู่ที่ 2,680 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.5% ของตลาดคาร์บอนทั่วโลก

.

California’s Cap-and-Trade เป็นโครงการที่บังคับใช้ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นจำนวนมากกว่า 25,000 ตันต่อปี ได้กำหนดเพดานการลดคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 5 จากปี 2021 ถึงปี 2030 โดยรายได้จากโครงการจะถูกส่งเข้าสู่กองทุนของรัฐ จากนั้นจึงจัดสรรให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือส่งต่อไปยังชุมชนท้องถิ่น โดยโครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้รวม 5 พันล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินไทยสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท

.

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ได้ทำ MOU ร่วมกันในปี 2010 เพื่อดำเนินโครงการริเริ่มสภาพภูมิอากาศในการขนส่ง (Transportation Climate Initiative : TCI) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มตัวเลือกการขนส่งที่ปลอดภัยและลดการสร้าง Carbon footprint เพื่อดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลกลางและเพิ่มวิธีการลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบของภาคการขนส่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2030 

.

.

จีน 🇨🇳

ประเภท : ตลาดภาคบังคับ 🔒

อัตราแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต : Carbon Credit 1 tCO2e = 293.02 บาท

.

จีนพึ่งเปิดตัวระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ (China National  Emissions Trading Scheme : China’s ETS) ไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา โดยมีธุรกิจกว่า 1,700 แห่งเข้าร่วมโครงการ โดยมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนของจีน ในปี 2021 อยู่ที่ 412 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.2% ของตลาดคาร์บอนทั่วโลก

.

กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีน (MEE) ระบุว่า จีนได้ริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในระยะแรก ด้วยการเปิดตัว ‘Beijing Green Exchange’ แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจ (VERs) และสําหรับตลาดคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ (CCERs) ซึ่งธุรกิจที่เข้าร่วม China’s ETS จะต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดต่างๆ โดยให้ตลาดคาร์บอนเครดิตในเมืองหูเป่ยทําหน้าที่เป็นศูนย์ลงทะเบียนชั่วคราว ในการทําธุรกรรมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตจนกว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์ทะเบียนของ China’s ETS อย่างเป็นทางการ

.

โดยรัฐบาลจีนกำลังผลักดันการออกข้อกฎหมายเพื่อควบคุมการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการมุ่งไปสู่เป้าหมายคาร์บอนคู่ (Dual Carbon) ภายในปี 2030 ด้วยการพัฒนาระบบและจัดตั้งหน่วยงานด้านการลดคาร์บอนเพิ่มเติม รวมทั้งออกมาตรการ MRV (Measurement, Reporting and Verification) ในการประเมินคุณภาพของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้สามารถรับรองผลและกำหนดคาร์บอนเครดิตได้อย่างเป็นรูปธรรม 

.

.

เกาหลีใต้ 🇰🇷

ประเภท : ตลาดภาคบังคับ 🔒

อัตราแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต : Carbon Credit 1 tCO2e = 525.30 บาท

.

เกาหลีใต้เริ่มดำเนินการระบบซื้อขายแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Korea Emissions Trading Scheme : K-ETS) ในปี 2015 ซึ่งส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ด้วยมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนในปี 2021 อยู่ที่ 51 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือตีเป็นมูลค่าราวๆ 2.9 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วน 0.1% ของตลาดคาร์บอนทั่วโลก

.

โดยตลอดทั้ง 3 เฟสนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2015 เป็นต้นมา K-ETS ได้จัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่า (Free allocation) แก่ธุรกิจ 599 รายที่เข้าร่วมโครงการในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2015 – 2017) และเตรียมเริ่มการจัดสรรแบบให้เปล่าเหลือร้อยละ 90 และประมูลร้อยละ 10 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2021 – 2025) โดยอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานเข้มข้นในการผลิตและมีความเสี่ยงทางการค้า (Energy-intensive and trade-exposed : EITE) จะได้รับสิทธิแบบให้เปล่าทั้งหมด

.

ซึ่งในช่วงเฟส 3 (ปี 2021-2025) K-ETS ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินหรือตัวกลางทางการเงินประมาณ 20 รายสามารถเข้าร่วมในตลาดรองเพื่อสร้างแรงจูงใจและดำเนินสภาพคล่องของตลาดคาร์บอนเครดิตในเกาหลีใต้ โดยจำกัดให้ครอบครองสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 2 แสนสิทธิต่อราย ทั้งนี้เกาหลีใต้ตั้งเป้าการลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 22 ภายในปี 2030

.

.

ไทย 🇹🇭

ประเภท : ตลาดภาคสมัครใจ ✅

อัตราแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต : 1 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) = 76.98 บาท

.

ในส่วนของไทยได้ริเริ่มโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจมาตั้งแต่ปี 2014 โดยปริมาณคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 0.25 ล้านตันคาร์บอนฯ ในปี 2016 เป็น 3.03 ล้านตันคาร์บอนฯ ในปี 2021 โดยมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 9.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.001% ของตลาดซื้อขายคาร์บอนทั่วโลก

.

โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ TGO ได้ริเริ่มการให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ขึ้นในปี 2014 เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยความสมัครใจ ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากโครงการดังกล่าวจะเรียกว่า ‘เครดิต TVERs’ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ อีเว้นท์ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้

.

ซึ่ง อบก. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนา “Thailand Carbon Credit Exchange Platform” เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตของโครงการ T-VER ให้มีความเชื่อมโยงกับระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตของ อบก. ทั้งนี้ การซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบการซื้อขายกันโดยตรงผ่านทางเว็บไซต์ ดังนั้น อาจต้องเร่งการพัฒนาโดยเร็วเพื่อให้รองรับแนวโน้มการเติบโตตลาดคาร์บอนในอนาคต ให้สอดคล้องกับภาพรวมของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ขยายตัวถึง 61% ในปี 2021 

.

จะเห็นได้ว่า ภาพรวมของราคาและการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกเมื่อเปรียบเทียบกับไทย พบว่าตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยยังมีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกมาก เช่น จูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ กำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดลง จัดทำระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอนหรือการลงทุนเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต และสร้างการรับรู้ให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงจะเป็นการสร้างแนวปฏิบัติเพื่อลดคาร์บอนได้อย่างยั่งยืน

.

Sources : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), TRIS, Carbon Credits, European Commission, Krungthai Compass, C2ES, International Carbon Action Partnership, China Dialogue, The China Project, World Economic Forum

Popular Topics