ส่อง #ความล้มเหลวของการศึกษาไทย กับ 3 ระบบการศึกษาที่ขึ้นชื่อของโลก

Highlight

‘ระบบการศึกษา’ ยุคใหม่ ไม่ใช่แค่โรงงานปั๊มอะไหล่ ที่ตรวจสอบคุณภาพแบบ ‘ใช้ได้ก็ผ่าน ไม่ลงบล็อคก็ทอดทิ้ง’ อีกต่อไปแล้ว และเราก็ได้สรุปนโยบายและสภาพ #ความล้มเหลวของการศึกษาไทย พร้อมเล่าถึง 3 ประเทศ ที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานดีที่สุดในโลกกัน

ไม่ว่าโลกจะหมุนผ่านไปกี่ยุค ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรสำคัญของแต่ละประเทศก็คือ ‘มนุษย์’

ถ้าพัฒนาทรัพยากรนี้ได้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ก็จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างลื่นไหล หลาย ๆ ประเทศจึงลงทุนในทรัพยากรมนุษย์นี้อย่างหนัก ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘ระบบการศึกษา’

ในยุคก่อน ๆ การศึกษาอาจจะเน้นบ่มเพาะให้คนไปในทางเดียวกัน เพื่อให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม

แต่มาถึงปัจจุบัน การบ่มเพาะและพัฒนาทรัพยากรสำคัญที่เรียกว่ามนุษย์นี้เริ่มเปลี่ยนไป

เพราะเรากำลังพูดถึงทรัพยากรที่มีชีวิตจิตใจ

มีความชอบ ความสนใจ ความฝัน

มีต้นทุนและแรงทุนสนับสนุนแตกต่างกัน

มีบุคลิกและมุมมองไม่เหมือนกัน

การเรียนรู้แบบเดิม ๆ เริ่มทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้นกับระบบการศึกษา

และมีการประเมินถึงปัจจัยอื่น ๆ หลายต่อหลายด้านมากขึ้น 

ทำให้ ‘ระบบการศึกษา’ ยุคใหม่ ไม่ใช่แค่โรงงานปั๊มอะไหล่ ที่ตรวจสอบคุณภาพแบบ ‘ใช้ได้ก็ผ่าน ไม่ลงบล็อคก็ทอดทิ้ง’ อีกต่อไปแล้ว

และเราก็ได้สรุปนโยบายและสภาพ #ความล้มเหลวของการศึกษาไทย พร้อมเล่าถึง 3 ประเทศ ที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานดีที่สุดในโลกกัน

ไทย – เหลื่อมล้ำสูง การสอนและระบบวัดผลล้าหลัง

งบประมาณการศึกษา/ปี : 482,765 ล้านบาท*

คิดเป็น 15% ต่องบประมาณทั้งหมด

เงินเดือนครูเริ่มต้น 15,050 บาท**

ถ้าให้รีวิวประสบการณ์ของเราที่มีกับการศึกษาของไทย เราอาจจะเจอประสบการณ์ทำนองนี้หรือคล้าย ๆ กัน

“ตรงนี้ต้องขีดเส้นใต้สองเส้น ด้วยปากกาน้ำเงิน”

“ถุงเท้าพื้นดำผิดระเบียบ”

“สอบจริยธรรม ท่องบทสวดอันนี้มานะ”

เรื่องยิบย่อยเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ที่มักจะถูกพูดถึงว่าควรปรับปรุง

ทั้งการเน้นไปที่ระเบียบวินัย การท่องจำ ในขณะที่รูปแบบการทดสอบและคัดกรอง ทำให้โฟกัสเด็กเก่งวิชาการเป็นหลัก ผลักดันให้เด็กต้องกวดวิชาหนัก ๆ เพื่อสอบเข้า 

ในขณะที่อีกแง่มุมหนึ่ง หากขยายวงออกไปที่โรงเรียนชายขอบ หรือแม้แต่โรงเรียนที่ผู้ปกครองมองข้ามเพราะไม่ใช่ชื่อที่อยากให้ลูกเข้าเรียน ก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพการสอนเหลื่อมล้ำ เป็นแผลที่แกะสะเก็ดไป ก็จะเจออีกปัญหาคือ ‘คุณภาพบุคลากรผู้สอน’ ที่เคยถูกตั้งคำถามมาแล้วหลายครั้ง ว่าเด็ก ๆ จะพัฒนาเต็มที่ได้อย่างไร ถ้าคุณภาพการสอนไม่ได้มาตรฐาน

แต่จะโทษผู้สอนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะปัญหาคุณภาพผู้สอน ก็สะท้อนกลับไปที่ 

– ผู้สอน ก็เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาเดียวกับเด็ก ๆ

– ค่าตอบแทนอาชีพครูในประเทศไทย ที่อยู่ในระดับดีพอจะดึงดูดคนมีความสามารถได้เลย

กลายเป็นว่า การศึกษาที่ควรจะบ่มเพาะเด็ก ๆ ให้เติบโตอย่างสวยงาม กลายเป็นอีกหนึ่งจุดด่างพร้อยของเรา

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าภาครัฐไม่รับรู้ปัญหาเหล่านี้ เพราะแผนการดำเนินนโยบายในปี 64-65 ก็สะท้อนว่า มีการไกด์เอาไว้แล้ว ว่าจะต้องปรับปรุงระบบการศึกษาไทยให้ทันสมัยมากขึ้น โดยมีสโลแกนว่า ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ และแนวทางอื่น ๆ เช่น

– ปรับปรุงแนวทางการสอนให้เป็น Active Learning เรียนจากประสบการณ์หรือลงมือปฏิบัติ
– ยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ (English for All)

– พิจารณาการจัดงานวันครูออนไลน์

– 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ 

– เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ

ก็ได้แต่หวังว่าในแง่ปฏิบัติจะทำให้  #ความล้มเหลวของการศึกษาไทย เป็นเพียงอดีตได้จริง ๆ

ที่มา:

* งบประมาณปี 2564 แบ่งตามลักษณะงาน ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ

** พ.ร.บ.เงินเดือนข้าราชการครู

ฟินแลนด์ – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No One is Left Behind) 

งบประมาณการศึกษา/ปี คิดเป็น 5.6% ของ GDP ประเทศ (ปี 2561)

เงินเดือนครูเริ่มต้นเฉลี่ย 64,500 – 205,000 บาท

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No One is Left Behind) คือความตั้งมั่นและกลายเป็นหลักในการจัดการระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ทำให้ระบบการศึกษาของฟินแลนด์เป็นแบบรัฐสวัสดิการคือรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งก็คล้ายกับไทย

แต่ถ้ามองดูวิธีการเรียนการสอนแล้ว แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เริ่มแรกเลยก็คือ ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ จัดสรรให้เด็กทุกคนเรียนร่วมกัน ไม่ว่าฐานะครอบครัวจะมีฐานะแตกต่างกันแค่ไหน เพื่อให้เด็กเข้าใจความแตกต่างของสังคม มีความเห็นอกเห็นใจและมีความเข้าใจความสุขความทุกข์ของคนหลากหลายประเภท

และทุกคนเรียนร่วมกันโดยไม่มีเครื่องแบบ การบ้านน้อย

การเรียนการสอนในแต่ละวัน จะใช้เวลาวันละ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ครูมีเวลาเตรียมการสอน

และเด็กจะมีเวลาได้เป็นเด็ก คือใช้เวลากับสิ่งที่ชอบ การเล่น และใช้ชีวิต

ในขณะที่คุณภาพของผู้สอนนั้นจะมีการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ในปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้สอบผ่านเพียง 5% และเนื่องจากครูคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด ครูแต่ละคนจึงสามารถออกแบบการสอนเองได้ แตกต่างจากระบบทั่วไปที่รัฐเป็นผู้กำหนดหลักสูตรมาให้

สิงคโปร์ – มุ่งมั่นที่จะดีที่สุด แต่เด็กถูกกดดัน

งบประมาณการศึกษา/ปี คิดเป็น 20% ของงบประมาณทั้งหมด

เงินเดือนครูเริ่มต้นเฉลี่ย 52,000 – 113,000 บาท

ท่ามกลางพื้นที่ที่ขาดทรัพยากรอาหาร พื้นที่เพราะปลูก ไม่ใช่พื้นที่ ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ทำให้สิงคโปร์มีแนวคิดหลักว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด มากว่าครึ่งทศวรรษ

คนของสิงคโปร์และระบบการศึกษาจึงเป็นที่เลื่องลือทั้งความสามารถและความเข้มข้นของการเรียน ทั้งด้านวิชาการและภาษา และมายด์เซ็ตแบบมุ่งมั่นที่จะดีที่สุดให้ได้ 

รวมถึงการวัดผลอย่างการสอบ ก็ะกำหนดระดับโรงเรียนตั้งแต่วัยเด็ก นั่นแปลว่าการแข่งขันสูงก็ยิ่งสูงขึ้น เด็กบางคนต้องเรียนพิเศษตั้งแต่ 2 ขวบ ทำให้ธุรกิจกวดวิชาในสิงคโปร์ทำเงินได้ดี (2.4 หมื่นล้านบาท/ปี)

อย่างไรก็ตาม การที่เด็ก ๆ ถูกกดดันมากเกินไปตั้งแต่วัยนี้ ทำให้สิงคโปร์เกิดการฆ่าตัวตายของคนวัย 10-29 ปี ด้วยความกดดันที่ต้องเผชิญ ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงระดับการทำงาน

ญี่ปุ่น – เคร่งครัด เข้มข้น แต่ยังต้องปรับตัว

เงินเดือนครูเริ่มต้นเฉลี่ย 105,000 บาท

ในแง่ของระบบการศึกษาโดยรวม สิ่งที่ญี่ปุ่นผลักดันเสมอมาก็คืวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยรูปแบบการเป็นไปของเศรษฐกิจโลก แม้กระทั่งปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นมองว่าการมีนวัตกรรมของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ

อีกมุมหนึ่งก็คือ ญี่ปุ่นกับระเบียบวินัยและการแข่งขันในโรงเรียนเป็นที่ขึ้นชื่อมานาน ถึงขนาดที่ว่า เคยมีการเสนอให้เคยลดเวลาเรียนลง ลดเนื้อหาลง 30% และมีการนำมาใช้ระยะสั้น ๆ แต่ทว่าถูกต่อต้านอย่างหนักจากผู้ปกครองที่กลัวว่าลูก ๆ จะได้รับความรู้ไม่เพียงพอ จนต้องยกเลิกไป

อีกหนึ่งอย่างที่เรามักได้ยินเสมอคือการปลูกฝังความรักชาติของญี่ปุ่น อันมีสาเหตุมาจากการฟื้นฟูประเทศหลังแพ้สงคราม ทำให้เดิมที ญี่ปุ่นไม่สนับสนุนการเรียนภาษาต่างประเทศเท่าสนับสนุนการใช้ภาษาญี่ปุ่น

แต่ถ้าใครจำกันได้ ในช่วงกระแสเรื่อง #หมูป่าติดถ้ำ ที่เด็ก ๆ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทำให้มีการพูดคุยกันบนโลกออนไลน์ของญี่ปุ่น ว่าระดับภาษาอังกฤษของพวกเขานั้นน่าเป็นห่วง

และจากการมีกระแสเรียกร้องถึงระดับทักษะภาษาอังกฤษเด็กรุ่นใหม่ รัฐบาลจึงต้องยอมให้ความสำคัญกับภาษาที่สามมากขึ้นในที่สุด

อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีกับญี่ปุ่นก็คือ มีความล่าช้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ญี่ปุ่นมีปัญหามากในการปรับมาเรียนที่บ้าน โรงเรียนเพียง 5% เท่านั้นที่เลือกใช้วิธีเรียนออนไลน์ ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่เลือกให้เด็ก ๆ ศึกษาเองที่บ้านผ่านหนังสือเรียนและเอกสาร

ข้อมูลที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ ข้อมูลจากโครงการวัดประเมินผลนักเรียนอย่าง Programme for International Student Assessment (PISA) ในปี 2018 มีนักเรียนญี่ปุ่นเพียง 3% เท่านั้นที่ยอมรับว่าใช้คอมพิวเตอร์ทำการบ้าน

Popular Topics