เตียงผู้ป่วยมีมากแค่ไหนในแต่ละจังหวัด?

Highlight

เมื่อ “หมอ” ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ขาดแคลนในระบบสาธารณสุขไทย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแสดงให้เห็นว่า คนไทยเข้าสู่ระบบสาธารณสุขมากถึง 20 ล้านคนต่อปี แต่จำนวนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยทั้งหมดของประเทศกลับมีเพียง 160,000 เตียงเท่านั้น

.

จำนวนเตียงผู้ป่วยเพียงพอแค่ไหนในแต่ละจังหวัด?

ทำไมเตียงผู้ป่วยของประเทศไทยมีจำนวนน้อยจนน่าใจหาย?

.

#Agenda สรุปมาให้แล้ว

.

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าสัดส่วนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยที่เหมาะสม คือ 1 เตียง ต่อ ประชากร 400 คน ซึ่งสัดส่วนของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 1 เตียง ต่อ ประชากร 412 คน

.

แม้ในระดับประเทศสัดส่วนจะดูได้มาตรฐานตามที่ WHO กำหนด

แต่เมื่อเจาะลึกถึงในระดับจังหวัดแล้ว ประเทศไทยยังมีตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอยู่อีกมาก

.

โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรต่อเตียงผู้ป่วย 1 เตียง มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

1) จังหวัดหนองบัวลำภู ที่มีสัดส่วนประชากรมากถึง 753 คน ต่อ เตียงผู้ป่วย 1 เตียง

2) จังหวัดนครพนม มีสัดส่วนประชากร 706 คน ต่อ เตียงผู้ป่วย 1 เตียง

3) จังหวัดกำแพงเพชร มีสัดส่วนประชากร 684 คน ต่อ เตียงผู้ป่วย 1 เตียง

.

สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนที่น้อยที่สุดได้แก่ กรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนประชากรเพียง 190 คนเท่านั้น ต่อ เตียงผู้ป่วย 1 เตียง

.

สาเหตุที่ทำให้เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยทั่วประเทศมีจำนวนน้อย อาจเกิดมาจาก

.

– จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ลดลง

กฎหมายได้มีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมในเรื่องของ บุคลากรทางการแพทย์และจำนวนเตียงผู้ป่วยในสถานพยาบาลเอาไว้ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยมีความครอบคลุมและทั่วถึง ดังนั้นจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ลดลงในช่วงระยะหลัง จึงทำให้การเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยในสถานพยาบาลเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย

.

– โครงสร้างสาธารณสุขไทย

มีแนวคิดที่น่าสนใจว่าจำนวนเตียงผู้ป่วยที่มีจำนวนน้อยนั้นตอบโจทย์แล้ว เพราะตัวอย่างจากสถานพยาบาลในประเทศสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มจำนวนเตียงไม่ได้ทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศดีขึ้น หรือทำให้เตียงเพียงพอมากขึ้น

.

โดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์มีอัตราการครองเตียงผู้ป่วยประมาณ 70% ด้วยความที่อยากให้อัตราการครองเตียงลดน้อยลงจึงทำการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยให้มากขึ้น แต่ผลลัพธ์คืออัตราการครองเตียงกลับเพิ่มมากขึ้นถึง 90% ด้วยเช่นกัน

.

ดังนั้นจำนวนเตียงพยาบาลที่มีน้อยอาจตอบโจทย์ระบบสาธารณสุขมากกว่า แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มมากขึ้นนั่นคือ โครงสร้างระบบการดูแลรักษาที่จัดสถานบริการนอกโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ เช่น สถานที่ที่ดูแลผู้ป่วยระยะยาว สถานที่สำหรับทำกายภาพบำบัด เป็นต้น เพื่อให้ไม่เกิดการกระจุกตัวที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

.

อย่างไรก็ตาม แม้ในบางจังหวัดสัดส่วนอาจดูเหมาะสมและสอดคล้องต่อเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่ก็ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นในทางปฏิบัติเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงวัยที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาและการฟื้นตัวในโรงพยาบาลยาวนานกว่า หรือความคิดของคนไทยที่ต้องการอยู่ใกล้มือคุณหมอให้มากที่สุดในระหว่างการพักฟื้น ทำให้เรามักเห็นปัญหาจำนวนคนไข้ล้นโรงพยาบาลอยู่เสมอ

.

แถมไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาเรื่องจำนวนเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพที่น่ากังวลอยู่อีกด้วย ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีการแก้ไขระบบสาธารณสุขของไทยอย่างจริงจังเสียที

.

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, The 101 .World, Excel Medical, World Health Organization

Popular Topics