AGENDA ขอพาทุกคนย้อนดูการสู้เรียกร้อง กรณีตัวอย่าง การรวมตัวกันของคนตัวเล็ก ๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ ๆ ได้ ผ่านการชุมนุม วิธีสะท้อนเสียงประชาชนให้ผู้มีอำนาจได้ยิน!
“การชุมนุมสาธารณะ” เป็นสิทธิการแสดงออกขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรองรับตามกฎหมายเพื่อเป็นการแสดงออกจาก ‘ผู้เรียกร้อง’ ไปสู่ ‘ผู้ถูกเรียกร้อง’ กดดันไปยังผู้มีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้รับฟังข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีความสำเร็จอยู่มากมาย เมื่อประชาชนพร้อมใจกันเรียกร้อง ทำให้เสียงของพวกเขาดังขึ้น และเพียงพอที่จะได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจ
อาจเรียกได้ว่า “ม็อบ” เป็นวิธีแสดงเจตจำนงของผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในสังคมประชาธิปไตย และเตือนให้ ‘รัฐบาล’ ตระหนักถึงการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด
#AGENDA ขอยกกรณีตัวอย่าง 5 เหตุการณ์ ที่สะท้อนว่าพลังประชาชน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้
ไทย 🇹🇭 – พลังแรงงานสู่สิทธิลาคลอดที่ดีกว่าเดิม 🤱
◾ จุดเริ่มต้น ◾
กฎหมายลาคลอด 90 วัน เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของภาคแรงงานและภาคประชาสังคมที่ต้องการเรียกร้องให้เพิ่มสวัสดิการรองรับการตั้งครรภ์ของแรงงานหญิง ซึ่งแต่เดิมกฎหมายลาคลอด ปี 2533 ให้ระยะเวลาเพียงแค่ 60 วันและนายจ้างจะจ่ายค่าตอบแทน 30 วันเท่านั้น
ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงต้องรีบกลับมาทำงานทั้งที่ร่างกายอาจยังไม่ฟื้นตัวสมบูรณ์ มีความกังวลเรื่องการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะในกลุ่มสาวโรงงานถึงขั้น ‘ซ่อนท้อง’ หาอุปกรณ์รัดหน้าท้องเพื่อปกปิดนายจ้าง หรือบางรายตัดสินใจ ‘ทำแท้ง’ เพื่อรักษางานไว้
◾ การต่อสู้เรียกร้อง ◾
ปี 2534 ความอัดอั้นตันใจ นำไปสู่การลุกฮือขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสวัสดิการที่ดีกว่าเดิม กลุ่มคนงานย่านพระประแดง อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และรังสิต ออกมากเดินขบวนเรียกร้องขอเพิ่มจำนวนวันลาคลอดเป็น 90 วัน แม้รัฐบาลขณะนั้นจะรับข้อเสนอ ผ่านไปกว่า 2 ปี ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก
ปี 2535 เริ่มมีการทดลองเพิ่มสิทธิวันลาคลอดในกลุ่มข้าราชการหญิง โดยยังคงได้ค่าจ้างเต็ม จากเดิมที่ได้เพียง 45 วัน
ปี 2536 เกิดการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแรงงานอีกครั้ง ผู้ประท้วงกว่า 1,000 ชีวิตได้เดินทางไปยังบ้าน ชวน หลีกภัย เพื่อถามหาความคืบหน้าข้อเรียกร้อง โดยมีนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ มารับเรื่องไว้
กระทั่ง 8 มีนาคม ปีเดียวกันนี้ ไปส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 เม.ย. 2536 เกิดการชุมนุมยืดเยื้อหน้าทำเนียบรัฐบาล แกนนำและกลุ่มคนท้องประกาศอดข้าว กรีดเลือด
◾ ผลลัพธ์ ◾
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้กฎหมายให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิลาคลอดได้ 90 วันอย่างทุกวันนี้ โดย นายจ้างจ่ายค่าแรง 45 วัน และประกันสังคมจ่าย 45 วัน และปี 2552 รัฐบาลประกาศให้ลาคลอดได้เพิ่มเป็น 98 วัน แต่เป็นการเพิ่มวันลาตรวจครรภ์ก่อนคลอด
อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อเสนอยกระดับสวัสดิการสนับสนุนการมีครอบครัวแรงงานให้ดียิ่งขึ้น แต่กระแสการเรียกร้องได้เบาลงไป ประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ความต้องการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน, เพิ่มสิทธิวันลาเลี้ยงบุตรในผู้ชาย, เพิ่มเงินอุดหนุนแก่เด็กแรกคลอดให้เพียงพอ และสามารถทำเรื่องวันลาเลี้ยงดูบุตรให้ได้สัก 1 เดือน ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและผลักดันกันต่อไป
อังกฤษ 🇬🇧 – กบฎต้านการสูญพันธุ์ “แรงกดดันให้รัฐสนใจปัญหาโลกร้อน” 🌍🔥
◾ จุดเริ่มต้น ◾
การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อ กบฏต่อต้านการสูญพันธุ์ Extinction Rebellion หรือ XR โดยมีจุดประสงค์ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ประกาศมาตรการฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศโลกและนิเวศน์วิทยา เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change)
กลุ่ม XR เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมแบบอารยะขัดขืนที่ไม่ใช้ความรุนแรง โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปนาฬิกาทรายในวงกลม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเวลาของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์กำลังจะสูญพันธ์
◾ การต่อสู้เรียกร้อง ◾
ปี 2562 เดือนเมษายน การชุมนุมเริ่มเป็นที่จับตาจากการทำแฟลชม็อบกระจายทั่วกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การเดินขบวน การถือป้าย เป็นเวลากว่า 11 วัน เหตุการณ์แฟลชม็อบ มีผู้เข้าร่วมประท้วง ถูกจับกุมกว่า 1,130 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
1. ให้รัฐบาลอังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ
2. ให้อังกฤษลดปริมาณการเพิ่มก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศให้เหลือ 0 ภายในปี 2025
3. จัดตั้งคณะกรรมการภาคประชาชน โดยคัดสรรจากชุมชนและสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อดูแลตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
แม้ในปี 2563 ยังมีการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง อย่างวันที่ 10 ก.ย. นักเคลื่อนไหวหญิงจากกลุ่มกบฏต่อต้านการสูญพันธุ์ ได้ออกมายืนเรียงแถวเปลือยหน้าอก และเขียนข้อความแสดงออก บริเวณประตูทางเข้าอาคารรัฐสภาของอังกฤษ เน้นย้ำถึงข้อเรียกร้อง “อย่าปิดบังความจริง” เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน (climate change) กินเวลายืดเยื้อกว่า 10 วัน
◾ ผลลัพธ์ ◾
หลังจากเกิดกระแสการชุมนุม และมีแนวโน้มจะมีผู้เข้าร่วมร่วมมากขึ้น นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน (ขณะนั้น) ฝ่ายค้านในสภาได้รับข้อเสนอของผู้ประท้วงไปเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหราชอาณาจักรมีมติเห็นชอบ รัฐบาลจึงยอมประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม กำหนดเป้าหมายการลดมลพิษอย่างเร่งด่วน และกดดันให้ผู้นำโลกรับเรื่องนี้พิจารณาร่วมกันต่อไป
ฝรั่งเศส 🇫🇷 – ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง คัดค้านนโยบายขึ้นภาษีน้ำมัน 🦺
◾ จุดเริ่มต้น ◾
ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง มีแนวคิดที่จะขึ้นภาษีน้ำมัน ตามนโยบายที่หาเสียงชูเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ ตั้งใจจะใช้มาตรการนี้ลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์และระดมทุนสนับสนุนพลังงานสะอาด
แต่การขึ้นภาษีน้ำมันนั้นจะมีผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของฝรั่งเศสช่วงนั้นอยู่ในช่วง ‘สุกงอม’ มีปัญหารุมเร้า คุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ดีเท่าไรนัก จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ และลุกลามไปสู่การออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อให้รัฐบาลถอดนโยบายดังกล่าวออก
◾ การต่อสู้เรียกร้อง ◾
นับเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี เริ่มตั้งแต่ วันที่ 17 พ.ย. 2561 กลุ่มผู้ประท้วงถูกเรียกว่า “กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง” เพราะร่วมใจกันใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองออกมาชุมนุมจำนวนมาก ชักชวนกันผ่านทางเฟซบุ๊ก มีการปิดถนน เผารถ เป็นต้น มีรายงานว่าม ผู้เข้าร่วมการประท้วงทั่วประเทศเกือบ 283,000 คน จนมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและมีการจับคุมผู้ชุมนุม
จากจุดเริ่มเริ่มต้นเรื่องความไม่พอใจการขึ้นภาษีน้ำมันและมาตรการรักษ์โลก ขยายไปสู่การตั้งคำถามถึงการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ เศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิตของประชาชน ถึงขั้นต้องการให้ ปธน. มาครง ลาออก
◾ ผลลัพธ์ ◾
ท้ายที่สุด รัฐบาลก็ยอมรับข้อเรียกร้อง และถอดแผยการขึ้นภาษีน้ำมันออกไปจากกฎหมายงบประมาณปี 2563 และเจรจาลดระดับความรุนแรงของการชุมนุมด้วยการประกาศตรึงค่าไฟฟ้าและแก๊ส รวมถึงประกาศข้อเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีต่าง ๆ จนผู้ประท้วงส่วนใหญ่พอใจ
การประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองยังคงมีอยู่ทุกวันเสาร์ แต่มีผู้เข้าร่วมจะน้อยลงมาก ข้อเรียกร้องหลัก คือ ต้องการให้ ปธน.มาครง ออกจากตำแหน่ง
สหรัฐอเมริกา 🇺🇸 – จากบาร์เกย์สู่ LGBT Pride March เราจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป 🏳🌈
◾ จุดเริ่มต้น ◾
28 มิถุนายน 1969 ที่บาร์เกย์ Stonewall Inn ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าจับกลุ่มผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่มีการขัดขืนจนเกิดปะทะกันค่อนข้างรุนแรงล้นออกไปหน้าบาร์ เนื่องจากช่วงทศวรรษที่ 1960 เมืองนิวยอร์ก ได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่กำจัดสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เช่น ห้ามประชาชนแต่งตัวผิดกับเพศสภาพ ห้ามมีการเปิดบาร์เกย์ การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มหลากหลายทางเพศถูกกดดันจากสังคมอย่างหนัก
◾ การต่อสู้เรียกร้อง ◾
ในคืนนั้น มีรายงานว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้แต่งตัวเป็นผู้ชายถูกตำรวจจับกุม เธอขัดขืน กระทั่งโดนตำรวจนำกระบองตีไปที่หัวของเธอ ท่ามกลางชาว LGBTQ+ ที่เห็นเหตุการณ์ จึงได้ขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ แก้ว ก้นบุหรี่ กระป๋องเบียร์ และกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่ ‘เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots)
ตำรวจได้มีการเรียกกำลังเสริม ในขณะที่ผู้ชุมนุมจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศรวมตัวกันมากขึ้น ขว้างปาก้อนหินและขวดใส่ตำรวจ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองกินระยะเวลากว่า 5 วัน สถาณการณ์จึงคลี่คลาย
◾ ผลลัพธ์ ◾
เหตุจลาจลสโตนวอลล์ กลายเป็นข่าวกระจายไปทั่วโลก จุดประกายให้ชาว LGBTQ+ มีความกล้าที่จะแสดงออกเพื่อสิทธิที่ควรจะได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เกิดการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ที่เมืองนิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์
ก่อนแพร่ขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ เริ่มมีการเดินขบวนจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ชาว LGBTQ+ ได้รับสิทธิและการยอมรับมากขึ้น และส่งผลให้เดือนมิถุนายน จึงกลายเป็นช่วงเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง (Pride Month) 🏳🌈 และรณรงค์ถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้นมา
ปี 2019 ครบรอบ 50 ปี เหตุจลาจลสโตนวอลล์ ตำรวจได้มีการยอมมาแถลงขอโทษ และยอมรับว่าวันนั้นคือ ‘ความผิดพลาด’
อาร์เจนตินา 🇦🇷 – คลื่นสีเขียว การต่อสู้ทางศีลธรรมและสิทธิทำแท้งของสตรี 🤰
◾ จุดเริ่มต้น ◾
อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่การทำแท้งถูกจำกัด และเห็นว่าเป็นอาชญากรรมขั้นรุนแรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 ประกอบกับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกมองว่าการทำแท้งมีค่าเท่ากันการ “จ้างวานฆ่า” แม้ว่าจะมีรายงานสถิติว่ามีผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนมากขึ้นในทุก ๆ ปีก็ตาม
ระยะเวลา 60 ที่ผ่านมานี้ ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 30 ประเทศได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างง่ายขึ้นและตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยเพื่อปกป้องชีวิตและอนามัยของคนท้อง ทำให้กลุ่มคนความคิดก้าวหน้าในอาร์เจนตินา ต้องการให้มีการอนุญาตการทำแท้งถูกกฎหมายเพื่อช่วยให้ชีวิตของผู้ใหญ่มีทางเลือกและมีความปลอดภัยมากขึ้น
◾ การต่อสู้เรียกร้อง ◾
ปี 2018 เกิดการยื่นร่างกฎหมายอนุญาตให้หญิงอายุครรภ์ต่ำกว่า 14 สัปดาห์ สามารถทำแท้งถูกกฎหมาย แต่วุฒิสภาอาร์เจนติน่าไม่ยอมผ่านร่าง จนเกิดการประท้องจากกลุ่มผู้ที่มีความคิดหัวก้าวหน้า
ผู้ชุมนุมหลายพันคนต่างพากันเดินไปตามถนนของเมืองซันติอาโกในประเทศชิลีโดยการสวมผ้าพันคอสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักเคลื่อนไหวในอาร์เจนตินา การเคลื่อนไหวนี้เรียกว่า “Ni Una Menos” เป็นการตอบสนองต่ออัตราที่น่ากลัวของการเสียชีวิตของผู้หญิงและเด็กหญิงในอาร์เจนตินา
การเรียกร้องยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจน ปลายปี 2019 มีความพยายามผลักดันร่างทำแท้งถูกกฎหมายเข้าสภาอีกครั้ง ประชาชนได้ออกมาแสดงพลังเพื่อกดดันรัฐบาล และวุฒิสภาที่เคยปัดตกกฎหมายนี้ในครั้งก่อน ทั้งยังต้องต่อสู่กับหลักทางศีลธรรมของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ยังมองว่าการทำแท้งเป็นบาปร้ายแรง
◾ ผลลัพธ์ ◾
ในที่สุดปลายปี 2020 การต่อสู้และความพยายามหลายปีได้ประสบความสำเร็จ วุฒิสภาอาร์เจนตินาได้ผ่านร่าง “ทำแท้งถูกกฎหมาย” ด้วยคะแนนเสียง 38 ต่อ 29 เสียง ระบุให้การทำแท้งสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากอายุครรภ์ไม่เกิน 14 สัปดาห์ จากเดิมที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นในกรณีที่ตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน หรือผู้ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตเท่านั้น
นับเป็นความสำเร็จขั้นประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลของประเทศที่เคร่งครัดเรื่องศีลธรรมของศาสนา ได้เปิดใจรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น และผ่านร่างกฎหมายที่จะช่วยในผู้หญิงในอาร์เจนตินามีทางเลือกต่อการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
ที่มา:
The101.world, WorkPoint Today, The Matter, The Standard, Amnesty, VOAThai, NPR