วันเด็ก..ที่เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 1,000,000 คน

Highlight

“เรียนอย่าแบด แซดอย่าบ่อย”

สุขสันต์วันเด็ก! ที่เด็กไทยอยู่นอกระบบการศึกษามากกว่า 1,000,000 คน

.

‘ความจน’ ทำให้เด็กไทย 1,189,338 คน หรือ 10% จากเด็กไทยทั้งประเทศ หลุดออกจากระบบการศึกษา

.

เมื่อพ่อแม่ไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ก็ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาสำหรับบุตรของตนเองได้ แถมค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในทุกระดับการศึกษายังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกปีอีกด้วย

.

ข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมาก ระหว่างครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสูง และครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ

.

ครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสูง มีรายจ่ายด้านการศึกษาโดยรวมสูงถึง 60,133 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเทอมหรือค่าเรียน 77% สะท้อนถึงการจ่ายเพื่อเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่า อย่างเช่น การเข้าโรงเรียนเอกชน หรือการเรียนพิเศษเพิ่มเติม

.

ในขณะที่ครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ มีรายจ่ายด้านการศึกษาโดยรวม 6,335 บาท ต่ำกว่าครอบครัวฐานะเศรษฐกิจสูงเกือบ 10 เท่าตัว มีสัดส่วนรายจ่ายเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนมากที่สุดเช่นกัน แต่คิดเป็นเพียง 42% เท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนอื่นเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับ ค่าเดินทาง (34%) ค่าเครื่องแบบ (15%) และค่าอุปกรณ์เล่าเรียน (9%)

.

สัดส่วนค่าเดินทางของครัวเรือนที่สถานะทางเศรษฐกิจต่ำจะมีสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับ 2 เนื่องจากครัวเรือนดังกล่าวมักอาศัยในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสถานศึกษามากนั่นเอง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) คาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางลดน้อยลง เพราะโดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายการเดินทางมีสัดส่วนสูงถึง 38% หรือมากกว่านั้น 

.

นอกจากนี้ หากต้องการจะเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับกระบวนการสอบเข้าที่ซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายมาก เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความยากในการเข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษาของเด็ก

.

ผู้ปกครองส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจให้เด็กออกจากระบบการศึกษา ภายหลังจากเรียนครบตามกฎหมายกำหนด หรือจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้ในปี 2563 อัตราการศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 อยู่ที่ 61% จากเด็กทั้งหมด

.

ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนที่เพียงพอหรือยัง?

.

ไทยมีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว ผ่านโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโครงการเรียนฟรี 15 ปี
.

ตามด้วยโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาของรัฐ แต่มีอัตราการเข้าถึงต่ำ ปี 2564 มีเด็กเพียงแค่ 0.7% เท่านั้นที่เข้าถึง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะโครงการของรัฐนั้นให้กู้ต้ังแต่ ม.ปลาย หรือระดับปวช.ขึ้นไปเท่านั้น

.

ดังนั้นภาครัฐอาจต้องปรับเปลี่ยนมาตรการสำหรับการกู้ยืมให้สามารถกู้ได้ตั้งแต่ก่อนจบมัธยมศึกษาตอนต้น หรือพิจารณาการจัดสรรเงินกู้ยืม จัดสรรทุนการศึกษา ให้กับนักเรียนกลุ่มที่สถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เพื่อลดปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และเพิ่มโอกาสในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

.

นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา ประมาณการไว้ว่า ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 330,000 ล้านบาทต่อปี เพราะทำให้ทรัพยากรมนุษย์สำหรับการพัฒนาชาติลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

.

ดังนั้นหากไม่อยากให้เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้ ทางภาครัฐจึงควรพิจารณาเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และหามาตรการในการช่วยเหลือหรือดูแล กลุ่มเด็กที่มีปัญหาในการเข้าถึงระบบการศึกษาให้มากและให้ประสิทธิภาพที่มากกว่าวิธีที่อยู่ 

.

ไม่อย่างนั้น “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” จะไม่ใช่แค่เพียงวลีฮิตติดปากเท่านั้น แต่จะกลายเป็นสถานการณ์ที่เด็กไทยกำลังเผชิญจริง ๆ อย่างแน่นอน

.

ที่มา: รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564; สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

Popular Topics