Solar Economy เปิดเทรนด์โซลาร์ฯ มาแรง กับโอกาสที่ไทยยังแซง ‘เวียดนาม’ ไม่ได้?

Highlight

ปัจจุบันเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ได้รับความนิยมทั่วโลก ทำให้กลไกตลาดทำหน้าที่ส่งผลให้ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ ลดลงมากถึง 60% ในรอบ 10 ปี และมีความคุ้มทุนเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้วัตถุดิบต่างๆ และเซมิคอนดักเตอร์มีราคาแพงและกำลังขาดตลาด กระทบต่อการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และตัวแปลงไฟฟ้า (Inverter) ให้มีราคาสูงตามไปด้วย

.

โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถติดตั้งได่ทั้งบนพื้นดิน หลังคา หรือลอยอยู่บนผืนน้ำและบนทะเล ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตแหล่งพลังงานที่สามารถใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน หรือถ่านหิน ที่สร้างมลพิษและส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์และทุกชีวิตบนโลกใบนี้

.

ทั่วโลกจึงมีการพัฒนาและติดตั้งโซลาร์เซลล์ จนเกิดเป็นภาคอุตสาหกรรมในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างมูลค่าและปริมาณพลังงานมหาศาล โดยในปี 2021 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 5.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์รวมกันถึง 942 กิกะวัตต์ (1 กิกะวัตต์ = 1 พันล้านวัตต์) 

.

โดยมีจีนเป็นผู้นำในการแข่งขันอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของโลก ในขณะที่ย้อนกลับมาในไทย ที่ถึงแม้ว่ามาตรการรัฐจะเริ่มมีการปรับปรุงระเบียบต่างๆ เอื้อให้เติบโตดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภค และถูกชาติที่อาจมองได้ว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคอย่าง ‘เวียดนาม’ แซงหน้าไปด้วยนโยบายที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์มาตั้งแต่เนิ่นๆ

.

#Agenda ชวนสำรวจประเทศที่ครองตลาดโซลาร์เซลล์ในระดับโลกพร้อมเปิดแผนในอนาคต

.

จีน 🇨🇳

เรียกได้ว่า นอกจากจีนจะเป็น ’มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ’ แล้ว ยังอาจเป็นมหาอำนาจในด้านพลังงานทางเลือกอย่าง ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ อีกด้วย เพราะในปี 2021 จีนสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากถึง 307 กิกะวัตต์ สร้างมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท อีกทั้งยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 33% 

.

สอดคล้องกับที่สำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติของจีน (NEA) ที่คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สะสมได้สูงถึง 490 กิกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2023 นี้ อีกทั้งยังมีแผนที่จะสร้าง ‘โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ’ ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในอวกาศแล้วส่งกลับมายังโลก โดยอยู่ในการทดสอบระบบตรวจสอบภาคพื้นดิน และจะสามารถเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2028 ต่อไป

.

สหรัฐอเมริกา 🇺🇸

อีกชาติมหาอำนาจที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์เป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 95.2 กิกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาท ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10% ในปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวภายในประเทศ

.

อีกทั้งการส่งเสริมนโยบายลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลง 50% ระหว่างปี 2020-2030 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแผงโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่นเมือง Lancaster รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่กำหนดให้ผู้สร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยใหม่ทุกหลังต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยถือเป็นเมืองนำร่องการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง ที่จะก้าวไปสู่การเป็น “Net-zero Town” อย่างเต็มรูปแบบ

.

ญี่ปุ่น 🇯🇵

หนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ในปี 2021 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 74.2 กิกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 8% โดยมีเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 สืบเนื่องจากการที่ต้องกลับมาใช้พลังงานจากถ่านหิน หลังเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา

.

ซึ่งไฮไลท์ที่สำคัญ คือการออกระเบียบใหม่โดยสภาท้องถิ่นของโตเกียว ที่กำหนดว่าบ้านในโตเกียวทุกหลังที่สร้างใหม่หลังเดือนเมษายนปี 2025 จะต้องติดแผงโซล่าเซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในครัวเรือน โดยสำนักงานบริหารมหานครโตเกียว (Tokyo Metropolitan Government) ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2000

.

เยอรมนี 🇩🇪

เยอรมนีถือได้ว่ามีบทบาทในการเป็นผู้นำเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่โดดเด่นในยุโรป โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากถึง 58.5 กิกะวัตต์ สร้างมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 6% ในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของโลก

.

และในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา รัฐสภาบุนเดิสทาค (Bundestag) ของเยอรมนีได้อนุมัติร่างกฎหมายที่ส่งเสริมการขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี ที่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 80% และตั้งเป้าการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้ได้ 215 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030 โดยลดขั้นตอนในการออกใบอนุญาตและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้สามารถก่อสร้างได้เร็วขึ้น

.

เวียดนาม 🇻🇳

แม้จะเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์หลังจากไทย แต่ในปัจจุบันเวียดนามกลับแซงหน้าไปเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน ด้วยปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้จากโซลาร์เซลล์ในปี 2021 อยู่ที่ 16.7 กิกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าราวๆ 1 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของโลกที่ 2% 

.

ด้วยการวางนโยบายเริ่มต้นด้านพลังงานหมุนเวียนที่จริงจังและเป็นระบบ ส่งผลเวียดนามมีแผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติมาแล้วถึง 7 ฉบับ และกำลังจะร่างแผนฉบับที่ 8 ที่ตั้งเป้าผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 21 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030 อีกทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทวิภาคี (PPAs) ผ่านโครงการนําร่องที่จะช่วยให้ซื้อขายเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ จากเดิมที่การไฟฟ้าแห่งชาติของเวียดนาม (EVN) มีอำนาจผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว

.

ไทย 🇹🇭

ในปี 2021 ไทยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 3.04 กิกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 0.3% โดยนักวิเคราะห์มองว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เหมาะต่อการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์ม อีกทั้งค่าไฟที่แพงขึ้นส่งผลให้คนหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ในขณะที่ธุรกิจโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายราย ได้เพิ่มโปรโมชั่นติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ที่นอกจากช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถขายคืนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินอีกด้วย ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรับซื้อคืนไฟฟ้า และมาตรการ Net Metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ ระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของเรากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้า ซึ่งหากทำได้เป็นรูปธรรมจะตอบโจทย์ไฟฟ้าภาคครัวเรือนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

.

จะเห็นได้ว่า แม้โอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ในไทย อาจจะเติบโตไม่ได้เทียบเท่ากับหลายประเทศที่ยกตัวอย่างมา แต่เมื่อเทรนด์ความยั่งยืนกำลังมาแรง อาจเป็นโอกาสสำคัญที่คนไทยจะให้การตื่นตัว ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทย ที่อาจใช้ต้นทุนลดลงและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

.

Sources : IEA, World Population Review, Fortune Business Insights, US Energy, PV Magazine, Power Technology, CNN Business, Japantimes, Renewable Energy Magazine, ISEAS, Thaibiz-Vietnam, Worlds Top Exports, ประชาชาติ, กรุงเทพธุรกิจ

Popular Topics