ทำไมผ้าอนามัยไม่ควรมีภาษี? แนวทางลดภาระผ้าอนามัยแต่ละที่

Highlight

ทำไมผ้าอนามัยไม่ควรมีภาษี?

การมีประจำเดือนนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั่วไปผู้หญิงมักมีประจำเดือนราว ๆ 5-7 วัน 

ผู้หญิงจึงต้องพึ่งพาผ้าอนามัยแบบแผ่น แบบสอด แบบซักได้ หรือถ้วยอนามัย 

– ถ้าใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น ราคาห่อละ 44-75 บาท ซึ่งมีราคาต่อชิ้นถูกที่สุดที่ 2-15 บาท และหาง่ายที่สุดในไทย ตามหลักสุขอนามัย จะต้องเปลี่ยนอย่างน้อย 3-5 ชิ้นต่อวัน ไม่นับที่ว่าจะต้องใช้ซื้อหลายแบบ เพื่อใช้สำหรับกลางวันและกลางคืน 

ปีหนึ่ง ๆ ผู้หญิงต้องเสียค่าผ้าอนามัยแบบแผ่นราว ๆ 1,400-1,800 บาท

– ราคาผ้าอนามัยแบบสอด แพคนึงราว ๆ 90 – 200 บาท ราคาต่อชิ้น 8-80 บาท ต้องเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 4-8 ชั่วโมง 

ค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยแบบสอดอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาทต่อปี

– ราคาผ้าอนามัยแบบซักได้ อยู่ที่ชิ้นละ 40-300 บาท อาจต้องมีไว้ 1-2 ชิ้นหรือมากกว่านั้น ถ้าต้องการใช้สลับกัน

– ราคาถ้วยอนามัย อยู่ที่ชิ้นละ 200 – 2,000 บาท รองรับได้ 6-12 ถ้าใช้สลับกัน อาจต้องมีไว้ 1-2 ชิ้น ถ้าต้องการใช้สลับกัน

จะเห็นได้ว่า ผ้าอนามัยที่เข้าถึงง่ายที่สุดอย่างแบบแผ่นมีราคาต่อห่อเท่าๆ หรือแพงกว่าอาหารหนึ่งจาน ส่วนผ้าอนามัยแบบอื่นก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสิ่งของที่จำเป็นอื่น ทำให้การเข้าถึงผ้าอนามัยกลายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่มีฐานะยากจน เพราะการต้นทุนค่าผ้าอนามัยในแต่ละเดือนสูงเกินกำลังของครอบครัว

หลายประเทศจึงรณรงค์ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย เพราะผู้หญิงวัยเด็กและวัยทำงานจำนวนหนึ่งต้องขาดเรียน-คิดตัดมดลูกทิ้ง เพราะจ่ายค่าผ้าอนามัยไม่ไหว

มาดูกันว่ามีประเทศไหนบ้าง ที่ปรับเปลี่ยนและออกนโยบายผ้าอนามัยให้ประชาชน

——-

นิวซีแลนด์:

ฟรีผ้าอนามัยทุกโรงเรียน หลังพบเด็กสาวต้องขาดเรียนทุกเดือนเพราะยากจน

หลังจากที่รัฐบาลค้นพบว่าเด็ก 1 คนในทุกๆ 12 คนจากทั่วประเทศต้องหยุดเรียนเพราะมีประจำเดือน และฐานะทางบ้านทำให้ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ไหว

รัฐจึงทำโครงการนำร่อง ทดลองแจกผ้าอนามัยฟรีใน 15 โรงเรียน และในที่สุดโครงการนี้ก็ผ่านฉลุย และปรับมาใช้เต็มตัว คือขยายเป็นแจกฟรีทุกโรงเรียนทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณ​ 540 ล้านบาท ใน 3 ปี

——-

สกอตแลนด์:

ประเทศแรกในโลกที่ผ่านกฎหมายให้แจกผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชน

ข้อมูลจากโซนยุโรปได้เปิดเผยว่า ผู้หญิง 25% ไม่สามารถไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้ เพราะขาดกำลังซื้อผ้าอนามัยเมื่อเป็นประจำเดือน 

สกอตแลนด์จึงถือได้ว่าเป็นประเทศแรกในโลก ที่ออกนโยบายผ้าอนามัยฟรี โดยประชาชนสามารถรับผ้าอนามัยฟรีได้ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน ฯลฯ

นโยบายนี้ใช้งบประมาณ​ราว ๆ 400 ล้านบาทต่อปี

——-

สหราชอาณาจักร:

เด็กหลายคนต้องขาดเรียนเพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ และมีเด็กกว่าที่ถูกล้อเลียนหากเอ่ยปากเรื่องนี้ หรือมีประจำเดือนเลอะ

ที่น่าเศร้าก็คือบางคนต้องใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าเช็ดหน้า หรือถุงเท้าเก่าแทนการใช้ผ้าอนามัย ซึ่งเสี่ยงเลอะเทอะและไม่ดีต่อสุขอนามัยเป็นอย่างมาก เด็ก ๆ จึงเลือกที่จะหยุดเรียนไปเลย

สหราชอาณาจักรจึงประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัย (จากเดิม 5%) ทั้งแบบแผ่น และแบบสอด เพื่อลดภาระค่าผ้าอนามัยลง

——-

อินเดีย:

ตัดมดลูก ลดภาระจากประจำเดือน

เด็กและผู้หญิงในอินเดียจำนวนมาก เข้าไม่ถึงสินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้หญิง โดยเฉพาะผ้าอนามัยที่ต้องใช้ทุก ๆ เดือน หลายพื้นที่ในชนบท ใช้ใบไม้ ขี้เถ้า หรือแม้แต่ขี้เลื่อยแทนผ้าอนามัย ทำให้เด็ก ๆ ไม่ไปเรียนเนื่องจากความไม่สะดวกจากการไม่มีผ้าอนามัยใช้

แต่หญิงสาววัยทำงานนั้นเจอสิ่งที่แย่ยิ่งกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดการศึกษา เพราะที่ผ่านมามีรายงานระบุว่าผู้หญิงอินเดียหลายพันคน เข้ารับการตัดมดลูกเพื่อให้ได้ทำงานเป็นคนตัดอ้อย

หญิงสาวเลือกตัดมดลูกทิ้ง เพราะนายจ้างไม่อยากจ้างผู้หญิงที่ต้องลางานเมื่อมีประจำเดือน ประกอบกับความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย ถ้าพวกเธอเจ็บป่วย หมอก็จะแนะนำให้ตัดมดลูกเพื่อลดภาระ แม้จะต้องเจอกับผลข้างเคียงที่ตามมาหลังตัดมดลูกก็ตาม

แม้จะมีรายงานว่าทัศนคติทางลบของสังคมอินเดียต่อประจำเดือนยังมีอยู่ แต่รัฐบาลก็ยินยอมประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัย (เดิม 12%) เพื่อให้คนจนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในปี 2018 ก็มีส.ส.หญิงเสนอร่างกฎหมาย “สวัสดิการผู้มีประจำเดือน” ในสภาด้วย แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล

——-

นอกจากประเทศเหล่านี้ก็มีสหรัฐ (บางรัฐ),​ ไอร์แลนด์, มาเลเซีย,​ เลบานอน, จาไมก้า, ไนคารากัว, ไนจีเรีย และแทนซาเนีย ที่ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว

ส่วนไต้หวัน ก็มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้นักเรียน

——-

ไทย:

เป็นสินค้าควบคุม แต่ยังเก็บภาษี

เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่กฎกระทรวงสาธารณสุข ได้นิยาม #ผ้าอนามัยชนิดสอด เป็นเครื่องสำอาง ตามพรบ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

จน #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ถูกยกขึ้นมาพูดถึงเป็นอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์

เพื่อรณรงค์ให้เลิกเก็บภาษีสินค้าจำเป็นอย่างผ้าอนามัย

ถึงแม้ว่าการจัดประเภทผ้าอนามัยแบบสอดในครั้งนี้ ทำเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้า

และผ้าอนามัยในไทย ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2551 และการจะขอเปลี่ยนแปลงราคาต้องขออนุญาต และชี้แจงต้นทุนกับภาครัฐก่อน

ราคาผ้าอนามัย/ค่าครองชีพของไทยยังสูงอยู่ ถ้าดูค่าผ้าอนามัยต่อ 1 ห่อเล็ก ราคาเท่า ๆ หรือแพงกว่าข้าว 1 จานโดยทั่วๆ ไป

ราคาผ้าอนามัยที่ค่อนข้างแพง ทำให้ปัญหาขาดแคลน/เข้าไม่ถึงในกลุ่มคนรายได้น้อย ลามไปถึงพื้นที่ในอย่างในเรือนจำ ที่เคยมีการรณรงค์ขอบริจาคผ้าอนามัยสำหรับผู้ต้องขังด้วย 

ล่าสุดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เมื่อมีการระบาดในคลัสเตอร์กลุ่มผู้ทำงานก่อสร้างจนต้องมีการกักตัว ผ้าอนามัยก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ขาดแคลนเช่นกัน

ที่มา: CNN, BBC, freeperiods.org, The Standard

#AGENDA #PeriodPoverty #FreePeriods #ภาษีผ้าอนามัย #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี

Popular Topics