เข้าใจพื้นฐานการทำธุรกิจ รู้จัก ‘กลยุทธ์น่านน้ำ’ ในแต่ละสี !

Highlight

จะสู้จนเลือดสาด หรือจะหาจุดสงบ ๆ ทำธุรกิจ?

จะหนทางไหนก็ไม่มีใครตอบได้ ว่าธุรกิจควรทำแบบไหนมากกว่ากัน มีแต่ต้องปรับและเลือกสิ่งที่เหมาะที่สุดกับตัวเองเท่านั้น

และในยุคนี้ก็ไม่ได้มีแค่น่านน้ำคาวเลือด กับน่านน้ำนิ่งสงบให้เลือก แต่มหาสมุทรนั้นกว้างขวาง และมีน่านน้ำให้เลือกมากกว่านั้น

กลยุทธ์การตลาดเป็นแนวคิดหลักที่ธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันการตลาด

และ ‘กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี Ocean Strategy’ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจมากเช่นกัน

วันนี้ #Agenda จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับกลยุทธ์น่านน้ำหลากสี ว่ามีสีอะไรบ้าง มีตัวอย่างธุรกิจไหนที่อยู่ในน่านน้ำสีไหนกันบ้าง

————-

กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง – Red Ocean

กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง สีของเลือด ที่มาจากการสู้รบอย่างดุเดือดจนทะเลกลายเป็นสีแดง มาจากการสู้รบผ่านสงคราม ‘ราคา’ ที่ไม่ได้แข่งกันที่ความแตกต่างเท่าไหร่นัก ใครทำแล้วดี ก็ทำตาม ดังนั้นการลดราคา จึงเป็นการจูงใจ ดึงดูดลูกค้าได้ดีที่สุด กลยุทธ์นี้เหมาะกับคนที่มีเงินทุนมากพอสมควร หรือได้เปรียบในเรื่องต้นทุนของธุรกิจและเป็นธุรกิจที่มีตลาดรองรับใหญ่พอสมควร ที่เห็นได้ชัด คือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพู, สบู่, ยาสีฟัน เป็นต้น

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : Shopee Lazada

ปัจจุบันคงหนีไม่พ้นที่จะยกตัวอย่างตลาด E-commerce ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งการตัดราคา และการทุ่มเงินกันอย่างมหาศาล เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มตัวเองให้ได้มากที่สุด

————-

กลยุทธ์น่านน้ำสีน้ำเงิน – Blue Ocean 

กลยุทธ์น่านน้ำสีน้ำเงิน สีของความสงบและน่าดึงดูด เสมือนน่านน้ำที่เต็มไปด้วยปลา ที่ยังไม่เคยมีใครมาหาปลาตรงจุดนี้ กลยุทธ์นี้นับเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือการสร้างจุดขายที่ ‘แตกต่าง’ และ ‘โดดเด่น’ จากธุรกิจที่มีอยู่เดิม ทำให้ลูกค้าเกิดความต้องการใหม่ หรือการหาความต้องการใหม่ๆที่ซ่อนอยู่ในตัวลูกค้า โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาสร้างคุณค่าใหม่ๆ

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : Apple

iPod เคยเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ Apple แตกต่าง แม้ในตอนนั้นจะมีเครื่องเล่น MP3 ก็ตาม แต่เพราะ iPod มอบการเข้าถึงเพลงเป็นพันๆเพลงให้กับเราได้อย่างง่ายดายด้วยแป้นวงกลม แถมยังมาพร้อมกับ iTune ที่ทำให้การนำเพลงเข้า-ออก เป็นไปได้อย่างง่ายดาย เป็นการใช้เทคโนโลยีไม่ใหม่ แต่แตกต่างที่การนำเสนอ ทำให้ยอดขาย iPod พุ่งทะลุหลายหมื่นล้าน

————-

กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว – Green Ocean

กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว สีของความยั่งยืนและรักโลก กลยุทธ์สีเขียวที่ถูกพัฒนาขึ้น จากความเสียหายของการใช้กลยุทธ์แบบ Red Ocean และBlue Ocean ที่กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคมากจนลืมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้ธุรกิจได้ใช้ตอบสนองผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจ เป็นการเน้นที่ ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘สังคม’ อย่างแท้จริง ตัวอย่างกลยุทธ์แบบง่ายๆ เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต, การบำบัดน้ำเสีย ,การใช้พลังงานสะอาด, การทำ CSR ในธุรกิจ เป็นต้น

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : Tesla

Tesla มุ่งที่จะปฏิวัติวงการรถยนต์ ที่ต้องอยู่กับการใช้น้ำมันมาหลายสิบปี โดยการสร้างรถไฟฟ้า ไม่พึ่งน้ำมัน เพื่อลดมลพิษ ด้วยราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยหันมาใช้ระบบพลังงานจากธรรมชาติ นั่นคือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมตั้งแต่กระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนถูกลง สมรรถนะและความปลอดภัยที่สูงขึ้น แถมมลพิษยังเป็น 0 ทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทรถยนต์ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก ณ ปัจจุบัน

————-

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว – White Ocean

กลยุทธ์น่านน้ำสีขาว สีขาวแห่งศีลธรรม จริยธรรม พูดง่ายๆคือสีแห่ง ‘ความดี’ กลยุทธ์นี้คือการทำธุรกิจที่ตอบแทนสังคมเป็นหลัก ‘ประโยชน์เพื่อสังคม’ ต้องมาเป็นอันดับแรก กำไรที่ได้ต้องอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมหรือการคืนกำไรให้สังคมนั่นเอง เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ในหลายๆธุรกิจนำกลยุทธ์นี้เข้าไปผสมผสานมากขึ้น

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : Artstory By AutisticThai

Art Story by AutisticThai โดยมูลนิธิออทิสติกไทย ถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มเด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกแห่งแรกในไทย ที่นำศิลปะจากจินตนาการของเด็กออทิสติก ทั้งลายเส้นและรูปวาดใส่ในรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ, เสื้อยืด, หมวก ผลงานทุกชิ้นเป็นแรงผลักดันและกำลังใจที่ดีของน้องๆออทิสติก ที่สำคัญคือการทำให้พวกเขามีรายได้ที่มั่นคง มีอาชีพที่ยั่งยืนได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กออทิสติกอย่างเท่าเทียมและยั่งยืนในสังคม

————-

กลยุทธ์น่านน้ำสีดำ – Black Ocean

กลยุทธ์น่านน้ำสีดำ เรียกได้ว่าตรงข้ามกับน่านน้ำสีขาวอย่างสิ้นเชิง เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แข่งขันกันที่ ‘เส้นสาย’ และบารมีของเจ้าของธุรกิจหรือหุ้นส่วน ช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งหรือลูกค้าก็ตาม

ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ : ธุรกิจสีเทา

ธุรกิจสีเทาต่างๆ เช่น บ่อน, หวยใต้ดิน, เงินกู้นอกระบบ, ธุรกิจอาบอบนวด เป็นต้น

————-

ที่มา : Smartsme, Brandbuddyth, Gotoknow, Bangkokinnovationhouse, Autisticthai, Storylog, TGoodTech

Popular Topics