หมอไทยแบกภาระในแต่ละจังหวัดมากแค่ไหน?

Highlight

แพทย์ในประเทศไทยไม่เพียงพอจริงหรือ?

เรากำลังเผชิญสภาวะขาดแคลนแพทย์หรือไม่?

วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูสัดส่วนจำนวนคุณหมอต่อประชากรในแต่ละจังหวัดกัน

.

สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยในปี 2564 นั้น อยู่ที่แพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 1,680 คน ในขณะที่ WHO หรือองค์การอนามัยโลกได้แนะนำสัดส่วนมาตรฐานเอาไว้ โดยกำหนดว่าสัดส่วนที่เหมาะสมคือ แพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน

.

ซึ่งแม้จำนวนแพทย์ในประเทศไทยจะมีจำนวนที่ไม่ห่างจากสัดส่วนมาตรฐานมากนัก

แต่สัดส่วนจำนวนแพทย์ในแต่ละจังหวัดกลับมีตัวเลขที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก

.

โดยจังหวัดที่แพทย์แบกรับภาระมากที่สุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่

1. จังหวัดบึงกาฬ มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 6,018 คน

2. จังหวัดหนองบัวลำภู มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 4,710 คน

3. จังหวัดกาฬสินธุ์ มีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากร 4,081 คน

.

สำหรับในจังหวัดที่แพทย์แบกรับภาระน้อยที่สุดนั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของเรานั่นเอง โดยมีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนประชากรเพียงแค่ 515 คนเท่านั้น

.

จากสัดส่วนข้างต้น ทำให้เห็นว่าปัญหาของจำนวนแพทย์ในประเทศไทยนั้น

ไม่ได้ไม่เพียงพอหรือขาดแคลน เพียงแต่ขาดการกระจายตัวของแพทย์เท่านั้น

.

โดยปริมาณแพทย์ส่วนใหญ่มักกระจุกกันอยู่ที่จังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ ซะส่วนใหญ่

อาจเพราะว่าจังหวัดเหล่านั้นเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยก็เป็นได้ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นต้องรับรักษาผู้ป่วยที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มด้วยเช่นกัน

.

ปัญหาในเรื่องการกระจายตัวของแพทย์ในประเทศไทยน้ัน ส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย

โดยกรรมการแพทยสภาได้ออกมาเผยปัญหาแพทย์ทั่วประเทศเอาไว้ โดยมีปัญหาดังต่อไปนี้

.

ปัญหาประการแรกคือ โรงพยาบาลขนาดเล็กมักขาดแคลนแพทย์ที่อยู่ประจำเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากระยะทางจากตัวจังหวัดหรือบ้านเกิดของตนเอง ทำให้แพทย์ที่ได้ไปประจำในต่างจังหวัดนั้นมักมาจากการจับสลากเพื่อชดใช้ทุน ดังนั้นเมื่อครบทุนแล้ว ส่วนใหญ่จึงมักขอย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาหรือสถานที่อื่นที่ตนเองต้องการไปประจำอยู่แทน 

.

จึงทำให้เหลือเฉพาะแพทย์ที่ทำงานบริหารซึ่งมักเป็นคนในพื้นที่หรือแพทย์ที่ตัดสินใจปักหลักแล้วเท่านั้น ที่ยังคงทำงานอยู่ในโรงพยาบาลนั้น ๆ 

.

ปัญหาต่อมาคือ ปริมาณผู้ป่วยต่อจำนวนแพทย์ไม่ได้สัดส่วนกัน โรงพยาบาลบางแห่งมีจำนวนแพทย์ประจำเพียงแค่ 2-3 ท่านเท่านั้น ซึ่งต้องทำทั้งงานบริหาร รวมทั้งผลัดกันออกตรวจทั้งผู้ป่วยภายนอกและผู้ป่วยใน การมีภาระงานที่หนักจนเกินไป บางครั้งทำให้แพทย์ที่ทำงานบริหารเองไม่มีเวลาคิดหรือเข้าร่วมการตัดสินใจต่าง ๆ ของทางราชการ อย่างเช่น เรื่องการของบประมาณที่จำเป็นต่อโรงพยาบาล จนส่งผลต่อความก้าวหน้าของโรงพยาบาลอีกด้วย

.

ปัญหาเรื่องเวลาการทำงานและการพักผ่อน ยังส่งผลให้แพทย์ที่เข้ามาใหม่หรือไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเล็ก ๆ  ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันเป็นอย่างมาก ถ้าหากไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้แพทย์เหล่านั้นตัดสินใจลาออกหรือย้ายงานเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

.

ผลสำรวจภาระงานของแพทย์ในปี 2562 ที่ให้แพทย์ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 1,105 คน ชี้ว่า แพทย์ 90% เคยทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง รวมทั้งแพทย์ที่ทำแบบสอบถามยังระบุว่าสถานการณ์ภาระงานที่หนักจนเกินไปนั้น ส่งผลให้เกิดการรักษาที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

.

ปัญหาสุดท้าย คือ ความไม่พอใจของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้น เมื่อภาระงานมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาเพื่อรักษา และผู้ป่วยจากจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ลดลงจนทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่พอใจ

.

อีกข้อกังวลที่สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าว คือความไม่พอใจของญาติหรือผู้ป่วย จากการที่รัฐไม่สามารถจัดหาสิ่งต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ในการรักษา ให้ได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม

.

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ แพทย์กับโรงพยาบาลต้องตกเป็นจำเลยแทน นำไปสู่ปัญหาการร้องเรียน ฟ้องร้อง ที่มากขึ้น รวมทั้งเมื่อมีความเข้าใจว่าการเรียกร้องแพทย์นั้นมักจบลงด้วยเงิน ทำให้ยิ่งเกิดแรงจูงใจในการร้องเรียนแพทย์มากขึ้นไปอีก

.

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นอีกประเด็นที่ควรเร่งแก้ไขโดยเร็ว

.

เพราะถ้าหากยังปล่อยให้ดำเนินต่อไป ภาระงานของแพทย์ก็จะยิ่งมากขึ้น จนสุดท้ายอาจทำให้จำนวนแพทย์ในประเทศไทยลดลงมากยิ่งขึ้นและทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำอาชีพหมออีกก็เป็นได้

.

Source: PubMed Central, MGR Online, Workpoint Today, BBC News, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Popular Topics