อลัน ทัวริง : อัจฉริยะ LGBTQIA+ ผู้ถอดรหัสลับศัตรู ช่วย 14 ล้านชีวิตให้รอดตายจากสงครามโลก #PrideMonth

Highlight

อลัน แมธิสัน ทัวริง (Alan Mathison Turing) เกิดในปี 1912 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบุคคลที่มีความสามารถมากหลากหลายด้าน เป็นนักคณิตศาสตร์ นักตรรกศาสตร์ นักรหัสวิทยา และถูกกล่าวขานเป็นที่ยอมรับว่าเป็น ‘บิดาของวิทยาการคอมพิวเตอร์’

.

หัวกะทิจากเคมบริดจ์ – ทัวริงเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต่อมาก็ได้เข้าเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกต่อที่ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และกลับมาเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 

.

โดยในระหว่างเรียน ทัวริงได้ประดิษฐ์เครื่องจักรทัวริง (Turing Matchine) ที่เป็นเสมือนต้นแบบแรกเริ่มของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน กลไกการทำงานเป็นเหมือนเครื่องอ่านค่าจากม้วนกระดาษยาวๆ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่กำลังอ่านค่าอยู่ในขณะนั้น และสามารถใส่คำสั่งที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทัวริงกล่าวว่าเครื่องจักรดังกล่าวสามารถจำลองระบบความคิดของมนุษย์ได้ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในปี 1939 

.

เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 – รัฐบาลอังกฤษ ได้รวบรวมนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิจากทั่วประเทศ มาเข้าร่วมในหน่วย GC&CS (Government Code and Cypher School) เพื่อมาถอดรหัสการสื่อสารของฝ่ายอักษะ ซึ่งทัวริงเองก็เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ที่ได้เข้าร่วมทีมด้วย 

.

โดยโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของทัวริงและทีม คือ การถอดรหัสเครื่องอินิกมา (Enigma) ซึ่งเป็นเครื่องมือการเข้ารหัสสื่อสารของฝ่ายอักษะ ที่ผู้ถอดรหัสต้องมีโค้ดสำหรับการเซ็ตรหัสที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการเซ็ตทั้งหมดมีมากถึง 159 ล้านล้านล้านรูปแบบ นั่นทำให้ฝั่งอักษะมั่นใจในความปลอดภัยของเครื่องอินิกมาอย่างมากว่า จะไม่มีวันถูกเจาะรหัสอย่างเด็ดขาด

.

แต่ในเดือนมีนาคม ปี 1940 ทัวริงก็สามารถถอดรหัสเครื่องอินิกมาได้ ด้วยการสร้างเครื่อง Bombe และกระบวนการ Banburismus ที่ถอดรหัสเครื่องอินิกมา และเข้าถึงข้อมูลปฏิบัติการของฝ่ายอักษะได้สำเร็จ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า การถอดรหัสเครื่องอินิกมาของทัวริง ช่วยย่นระยะเวลาสงครามในจบลงได้เร็วขึ้น 2-3 ปี ช่วยชีวิตผู้คนไปมากกว่า 14 – 21 ล้านคน

.

บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ – ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงหนึ่งปี ทัวริงได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตั้งโปรแกรมคำสั่งได้ และสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นเครื่องแรกของโลก ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ โดยมีต้นแบบจาก ‘Turing Machine’ ที่เขาเคยประดิษฐ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

.

รวมถึงเป็นผู้คิดค้นการทดสอบความฉลาดของคอมพิวเตอร์ ที่ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยชี้ว่าคอมพิวเตอร์สามารถคิดได้และมีปัญญาเป็นของตัวเอง และทำการทดสอบศักยภาพในการคิดของเครื่องจักร เรียกว่า ‘การทดสอบทัวริง’ (Turing test) ที่ภายหลังมีการประยุกต์ไปเป็นการแข่งขันที่จัดโดย Loebner และได้ผู้ชนะอย่าง ELIZA โปรแกรมที่ลอกเลียนแบบวิธีการพูดของนักจิตวิทยา 

.

ด้วยเหตุนี้ อลัน ทัวริง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ พร้อมได้รับเกียรติในการตั้งชื่อ รางวัลทัวริง (Turing Award) เป็นรางวัลที่สมาคมเครื่องจักรคำนวณหรือ Association for Computing Machinery (ACM) มอบให้บุคคลที่สร้างผลงานโดดเด่นและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการคอมพิวเตอร์ เทียบได้กับรางวัลโนเบลเลยทีเดียว

.

จากฮีโร่สู่อาชญากร – ขณะที่หน้าที่การงานของทัวริงกำลังไปได้สวย ด้วยบทบาทของนักคณิตศาสตร์หนุ่มอนาคตไกล และวีรบุรุษสงครามโลก แต่ในวันที่ 23 มกราคม ปี 1952 มีขโมยขึ้นบ้านของทัวริง เขาจึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจ แต่เมื่อตำรวจมาถึงกลับพบหลักฐานว่าทัวริงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายภายในบ้านพัก ซึ่งในทศวรรษที่ 1950 รสนิยมการรักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับ และผิดกฏหมายอาญาของอังกฤษอย่างร้ายแรง ทำให้ทัวริงและแฟนหนุ่มถูกจับกุมในที่สุด 

.

เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ชื่อเสียงของทัวริงก็ตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งยังถูกไล่ออกจากงานทั้งหมด ต่อมาศาลมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าทัวริงมีความผิดจริง และเสนอให้ทัวริงเลือกระหว่างถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี หรือเลือกการฉีดฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อลดความต้องการทางเพศเป็นเวลา 1 ปี ทัวริงรับเงื่อนไขอย่างหลัง ส่งผลให้สภาพร่างกายทัวริงมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น และยังหมดเรี่ยวแรงได้ง่ายอีกด้วย

.

จุดจบสุดโดดเดี่ยว – หลังจากพิจารณาคดีความของทัวริงสิ้นสุดลงไปได้ 2 ปี ในวันที่ 7 มิถุนายน ปี 1954 มีผู้พบทัวริงในวัย 41 ปี เสียชีวิตอยู่ในบ้านพัก พร้อมผลแอปเปิลที่ถูกกัดจนแหว่ง จากการชันสูตรศพพบว่า มีสารไซยาไนด์ในร่างกายเป็นจำนวนมาก สร้างความสงสัยในสาเหตุการตายที่แน่ชัดของทัวริง บ้างสันนิษฐานว่าทัวริงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะความอับอายจากคดีรักร่วมเพศ หรือถูกปิดปากเพราะล่วงรู้ความลับของรัฐบาลมากเกินไป

.

ชื่อเสียงที่ถูกกอบกู้ – ชื่อเสียงของทัวริงต้องแปดเปื้อนเพราะข้อหาที่ไม่เป็นธรรมยาวนานถึงครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งในปี 2009 เมื่อโลกตะวันตกไม่ได้มองความหลากหลายทางเพศเป็นความเลวร้ายอีกต่อไป จึงมีการณรงค์ให้รัฐบาลอังกฤษขอโทษที่ทำร้ายทัวริงด้วยข้อหาดังกล่าว 

.

กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นจึงมีแถลงการณ์ขอโทษและยอมรับว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติต่อทัวริงอย่างเลวร้าย จนในปี 2013 สมเด็จพระราชินีนาถอลิซเบธที่ 2 ทรงลงพระปรมาภิไธยให้อภัยโทษทัวริง และในปี 2014 ทรงประกาศพระราชทานอภัยโทษให้ทิวริงอย่างเป็นทางการ

.

ต่อมาในปี 2017 รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้กฏหมาย อลัน ทัวริง เพื่อยกเลิกความผิดฐานรักร่วมเพศ ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และลบชื่อผู้ต้องหากรณีนี้ในอดีตออกจากประวัติอาชญากรรมทุกคน จากนั้นเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ธนาคารแห่งชาติของอังกฤษประกาศว่า อลัน ทัวริง ได้รับการคัดเลือกให้ปรากฏอยู่บนธนบัตร 50 ปอนด์ฉบับใหม่ เพื่อเป็นเกียรติแก่ทัวริงที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติในฐานะวีรบุรุษสงคราม

.

นอกจากนี้ เรื่องของอลัน ทัวริง ได้ถูกนำไปเขียนเรื่องราว โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของผลงานนักคณิตศาสตร์ผู้ล่วงลับที่มีต่อวิทยาการคอมพิวเตอร์ คือหนังสือเรื่อง “Alan Turing: The Enigma” โดย แอนดรูว์ ฮอดจ์ส (Andrew Hodges) จนในเวลาต่อมาก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ชีวประวัติที่โด่งดังไปทั่วโลก ในชื่อ ‘The Imitation Game’ นั่นเอง

.

ตลอดช่วงชีวิตของ อลัน ทัวริง ที่ยุคหนึ่งเคยสร้างชื่อในฐานะวีรบุรุษ กลับต้องกลายเป็นอาชญากร เพียงเพราะรสนิยมทางเพศไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคม มาวันนี้ได้รับการล้างมลทินโดยคนยุคหลัง สะท้อนทัศนะของผู้คนในปัจจุบัน ที่ตระหนักว่าไม่ว่าใครจะมีความชอบหรือรสนิยมแบบใด ก็ไม่ควรถูกตัดสินให้มีความผิด และไม่ควรนำเรื่องนี้มาตัดสินตัวตนของใครทั้งสิ้น และควรอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายและเคารพในสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกันนั่นเอง

Sources: Slipa-Mag, ลงทุนแมน, Posttoday, Britannica, The Guardian, Plus.

Popular Topics