ไล่เรียงเหตุการณ์สำคัญ กว่าจะมาเป็น 14 ตุลา 16

Highlight

14 ตุลาคม 2516 เป็นการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและประชาชนต่ออำนาจเผด็จการที่สืบทอดยาวนานมากว่า 15 ปี 

ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาจนถึงจอมพลถนอม กิตติขจรในช่วงปี พ.ศ.2501-2516 

1.  15 ปีในปกครองเผด็จการทหาร │พ.ศ. 2501-2516

– เมื่อปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีแทน 

– หลังจากนั้นมีการจัดการเลือกตั้ง พล.ท.ถนอม กิตติขจรเป็นนายกฯ คนต่อมา แต่ไม่สามารถจัดการอำนาจบริหารได้อย่างมีเสถียรภาพ จอมพลสฤษดิ์ จึงทำรัฐประหารอีกครั้งวันที่ 20 ต.ค. 2501 โดยอ้างว่ามีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมือง บังคับใช้กฎหมายปกครองตามประกาศคณะปฏิวัติ

– บ้านเมืองในช่วงนั้นยังคงบรรยากาศการปกครองเผด็จการทหาร มีการประกาศใช้ธรรมนูญปกครอง พ.ศ. 2502 และมีมาตรา 17 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จนายกฯ (คล้าย ม.44 สมัย คสช.)

– ปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกฯ ต่อไป 

– ปี 2511-2512 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมชนะ และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กระทั่งปี 2514 การเมืองวุ่นวาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างเรียกร้องผลประโยชน์ ทำให้ 17 พ.ย. 2514 จอมพลถนอม ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของตัวเอง กลับสู่อำนาจเบ็ดเสร็จแบบเผด็จการอีกครั้ง

2. ทุ่งใหญ่นเรศวร │29 เม.ย. 2516

– เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกที่ จ.นครปฐม พบซากสัตว์ป่าสงวนจำนวนมาก หนึ่งในคณะผู้เดินทาง คือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายของจอมพลถนอม (นายกฯ ขณะนั้น) และลูกเขยของจอมพลประภาส (รมว.มหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ) และคนใกล้ชิดรัฐบาลอีกจำนวนมาก จึงเกิดกระแสข่าวเรื่องการใช้อำนาจของชนชั้นนำ ข้าราชการในทางมิชอบแพร่ออกไป สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนและกลุ่มนักศึกษา

3. การเรียกร้องของขบวนการนักศึกษา  │5 ต.ค. 2516

– กรณีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรกลายเป็นข่าวใหญ่ และนำไปสู่การออกมาเปิดโปงข้อเท็จจริง นำโดยขบวนการนักศึกษา ได้แก่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและประเทศไทย (ศนท.) และชมรมอนุรักษ์ของนักศึกษา โดยการตีพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่”

– การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเริ่มขยับเพดานข้อเรียกร้องมากขึ้น ไปสู่ความต้องการให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 6 เดือน มีการแจกใบปลิว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหา ‘มั่วชุมชักชวนให้ชุมนุมทางการเมือง’ โดยไม่อนุญาตประกันตัว

– ศนท. เจรจาให้ปล่อยตัวกลุ่มนักศึกษา 13 กบฎ แต่รัฐบาลปฏิเสธ

4. สถานการณ์ชุมนุมตึงเครียด  │ 8-12 ต.ค. 2516

– ข้อเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ทั้งมีกรณีที่นักศึกษาถูกจับ ความต้องการรัฐธรรมนูญ คำตอบเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร ส่งผลให้สถานการณ์ระหว่างผู้ชุมนุมและรัฐบาลตึงเครียดมากขึ้น 

– นักศึกษาตัดสินใจงดสอบ มีการชักธงดำครึ่งเสาที่ดึกโดมธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมกรณีออกมารณรงค์ทางการเมือง กดดันการทำงานของรัฐบาล และประกาศคำขาดว่าหากไม่มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจะยกระดับการชุมนุม

– จอมพลประภาส จารุเสถียร อ้างว่า การเรียกร้องของนักศึกษามีลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง กองทัพเริ่มรวบรวมกองกำลังเตรียมรับมือสถานการณ์

5. ชุมนุมใหญ่ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย │ 13 ต.ค. 2516

– ศนท.ไม่ได้รับคำตอบ กลุ่มนักศึกษาไม่ถูกปล่อยตัว จึงเกิดการรวมตัวชุมนุมใหญ่ คาดว่ามีเข้าร่วมประมาณ 200,000 คน เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้า และวางแผนจะปักหลักค้างคืนที่บริเวณสวนจิตรลดา 

– ช่วงเวลาเดียวกับตัวแทน ศนท. เข้าไปเจรจาเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องหาและข้อเรียกร้องต่อฝ่ายรัฐบาล แต่ยังติดต่อประสานงานกันไม่สำเร็จเพราะปัญหาการสื่อสารสมัยนั้นไม่ดีเท่าที่ควร 

— 

6. เสียงระเบิด เหตุปะทะ และชัยชนะประชาธิปไตย │ 14 ต.ค. 2516

– เช้ามืดวันที่ 14 ขบวนผู้ชุมนุมปักหลักที่บริเวณสวนจิตรลดา แกนนำวางแผนว่าจะไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อหวัง “เอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง” เป็นคนกลางในการเจรจากับทุกฝ่าย ทว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่สกัดกั้นไว้

– กระทั่ง ศนท. ประสานงานกับตัวแทนเจรจาได้ จึงตั้งใจจะยุติการชุมนุม แต่เกิดเหตุระเบิดขึ้น (ไม่ทราบว่ามาฝ่ายใด) กลายเป็นชนวนให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่เริ่มปะทะกับผู้ชุมนุม ทั้งบริเวณสวนจิตรลา เกิดเป็นภาพกลุ่มนักศึกษาหนีกระสุนเข้าไปในวัง 

– บริเวณกลางเมืองที่ผู้ชุมนุมปักหลักฟังข่าวก็เกิดเหตุความรุนแรงตามมา ทั้งถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงคราม แก๊สน้ำตา ประหัดประหารผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

— 

7. นายกพระราชทาน │ 14 ต.ค. 2516

– ร.9 ได้ทรงประกาศแถลงการณ์ให้ทุกฝ่ายยุติการปะทะและความรุนแรง และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ความรุนแรงยังไม่คลี่คลาย 

— 

8. ชัยชนะประชาธิปไตย 15 ต.ค. 2516

– จอมพลถนอมยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำชับให้ทหารยังคงทำหน้าที่ต่ออย่างสุดความสามารถต่อไป 

– ความขัดแย้งของผู้มีอำนาจในรัฐบาลและกองทัพ (พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก ถอนตัวไม่สนับสนุนรัฐบาล) กดดันจนจอมพลถนอมยอมลาออกจากทุกตำแหน่ง 

– มีการประกาศทางวิทยุจากรัฐบาลชุดใหม่ ยืนยันว่าจอมพลถนอมและคนใกล้ชิดเดินทางออกนอกประเทศ และสัญญาว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหญ่ภายใน 6 เดือน สถานการณ์ทุกอย่างจึงคลี่คลายในที่สุดในช่วงเย็นของวันที่ 15 ต.ค. 2516 ด้วยชัยชนะของประชาธิปไตย


เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถูกจดจำในหลายบริบท “ชัยชนะของประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย” ต่อต้านเผด็จการจนสำเร็จ แต่ก็ต้องสูญเสียแนวร่วมไปไม่น้อย ในมิติหนึ่งจึงถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค”
.
บ้างก็ว่าเป็น “ปัญหาที่แก้ไม่เสร็จ” จึงเป็นสาเหตุที่นำมาสู่ 6 ตุลา 2519 ที่เลวร้ายกว่าเดิม แต่ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สอนให้พลเมืองตระหนักในสิทธิ เสรีภาพ ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังหวงแหนและรักความเป็นประชาธิปไตยต่อไปได้อย่างดี

ที่มา: WorkPointToday, The Standrad, WAYmagazine, Silpa-mag

Popular Topics