Rice Economy : แต่ละชาติส่งออกข้าวมากแค่ไหน? เมื่อข้าวไทยไม่ใช่ NO.1 อีกต่อไป

Highlight

สถานการณ์การส่งออกข้าวทั่วโลกในปี 2021 มีมูลค่ารวมสูงถึง 9 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 5.5% สำหรับประเทศผู้ส่งออกทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2020 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ผู้คนต้องการบริโภคข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ก็มีการแข่งขันเพื่อขยายตลาดส่งออกข้าวให้ครอบคลุมทั่วโลก

.

ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยถูกหลายชาติแซงหน้าด้วยกำลังการผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งปัญหาของการส่งออกข้าวไทย สาเหตุสำคัญคือ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ค่าเงินบาทแข็ง พันธุ์ข้าวไทยไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สร้างผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมูลค่านับหมื่นล้านบาท

.

อีกทั้งการส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน กลายเป็นนโยบายหลักที่แต่ละชาติให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของข้าวให้เป็นที่นิยมและครองส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุดแล้ว ยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ที่จะลดการสร้างมลภาวะจากเกษตรกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

.

#Agenda ชวนสำรวจปริมาณการส่งออกข้าวของแต่ละชาติ พร้อมวิเคราะห์นโยบายที่สร้างความยั่งยืนไปติดตามได้พร้อมกัน

.

อินเดีย 🇮🇳

อินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ด้วยปริมาณการส่งออกสูงถึง 19.6 ล้านตัน ในปี 2021 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และครองส่วนแบ่งการส่งออกข้าวทั่วโลกที่ 37.5% ปัจจัยสำคัยคือภาวะราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมาทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากผู้ซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้นพราะผู้ซื้อบางส่วนหันมาซื้อข้าวจากอินเดีย ที่ยังคงมีราคาถูกกว่าข้าวไทยและเวียดนาม ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดมีเพิ่มขึ้นจากการที่มีผลผลิตฤดูใหม่ออกสู่ตลาด

.

ซึ่งอินเดียกำลังเร่งพัฒนานโยบายการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาข้าวสายพันธุ์เมล็ดตรง (Direct Seeded Rice : DSR) ที่เป็นวิธีการปลูกข้าวทางเลือกแทนการดำนาแบบดั้งเดิม กับเทคนิคการปลูกข้าวแบบผสมผสาน ช่วยให้สามารถปลูกข้าวได้เร็วขึ้น ลดการใช้แรงงานและเวลาให้น้อยลง ลดการสร้างคาร์บอน ช่วยเพิ่มรายได้และช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้เร็วขึ้น โดยจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่า 5 หมื่นรายให้เปลี่ยนมาเพาะปลูกข้าวเมล็ดตรงต่อไป

.

เวียดนาม 🇻🇳

หนึ่งในคู่แข่งที่แซงหน้าข้าวไทยไปแบบฉิวเฉียด ด้วยปริมาณการส่งออกที่ 6.2 ล้านตัน ในปี 2021 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท และครองส่วนแบ่งการส่งออกข้าวทั่วโลกที่ 14 % ซึ่งตลาดข้าวเวียดนามได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ค้าข้าวต่างเร่งหาซื้อข้าวเพื่อเตรียมไว้ส่งมอบตลาดนําเข้าเดิม ทั้งจีน และฟิลิปปินส์รวมทั้งตลาดใหม่ด้วย ประกอบกับจีนได้ผ่อนคลายมาตรการจํากัดการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม

.

อีกทั้งเวียดนามเข้มงวดกับการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยได้ริเริ่มการนำมาตรฐานความยั่งยืนจาก Sustainable Rice Platform (SRP) มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ เช่น Loc Troi Group (LTG) ธุรกิจการเกษตรรายสำคัญของเวียดนาม ได้นำมาตรฐานความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวแบบครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยได้ส่งออกข้าวที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวไปแล้ว 5,000 ตันภายในปี 2021 ที่ผ่านมา

.

ไทย 🇹🇭

ประเทศไทยรั้งอันดับ 3 ของโลก โดยในปี 2021 มีปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ 6.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท และครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% ซึ่งทิศทางของการส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่าจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ผลผลิต ค่าเงินบาท และความต้องการซื้อข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยประเมินว่าจะส่งออกข้าวได้สูงถึง 8 ล้านตันในปีนี้

.

นอกจากนี้ โครงการ“ข้าวรักษ์โลก” โดยกรมการข้าวจับมือกับภาคเอกชน ที่ประยุกต์หลักการ BCG Model ในยุทธ์ศาสตร์ “3 น” คือ “นา-น้ำ-นวัตกรรม” ได้แก่ การจัดโซนนิ่งเพาะปลูกข้าว การบริหารจัดการน้ำหมุนเวียน และการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับไปสู่การเป็น ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ซึ่งผลการดำเนินโครงการในระยะแรก สามารถเพิ่มผลผลิตโดยเฉลี่ย 27.07% และลดต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย 38.20% ซึ่งจะเริ่มโครงการในระยะที่สองในอีก 10 จังหวัด รวมกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ

.

ปากีสถาน 🇵🇰

ปากีสถานมีปริมาณการส่งออกข้าวในปี 2021 อยู่ที่ 3.93 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งปากีสถาน ระบุว่า การส่งออกข้าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาอุทกภัย ทําให้มีปริมาณลดลงถึง 40% อีกทั้งผลผลิตบางส่วนถูกกักตุนไว้เพื่อกดดันราคาให้พุ่งสูงขึ้นจนกระทบต่อการส่งออกของประเทศ

.

ซึ่งปากีสถานจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาการส่งออกข้าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งควบคู่ไปกับการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดย Axfoundation ได้ฝึกอบรมเกษตรกรมากกว่า 2,500 คน ตามโครงการ Sustainable Rice Platform เพื่อเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตไปยังบริษัทส่งออกได้โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งสามารถเพาะปลูกผลผลิตได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

.

สหรัฐอเมริกา 🇺🇸

ประเทศที่ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกในปี 2021 อยู่ที่ 2.85 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในสหรัฐฯ มีการปลูกข้าวไว้บริโภคเองในหลายพื้นที่ อาทิ รัฐอาคันซอร์ แคลิฟอร์เนีย หลุยเซียนา มิสซูรี เท็กซัส และรัฐมิสซิสซิปปี้ ซึ่งรวมพื้นที่ปลูกข้าวคาดว่าจะมีทั้งหมด 3 ล้านเอเคอร์ สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี  

.

ในขณะที่สหรัฐฯ มีการควบคุมคุณภาพของข้าวทั้งการนำเข้าและส่งออกอย่างเข้มงวด โดยต้องผ่านข้อกำหนดด้านใบรับรองสุขอนามัยของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดเพื่อป้องกันการระบาดของโรคแมลง หรือการปนเปื้อนต่างๆ จึงมีการแสวงหาแนวทางสร้างความยั่งยืนในการผลิตข้าวในสหรัฐ ผ่านการลงทุนในโครงการด้านความยั่งยืนโดยใช้งบมากกว่า 80 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรในฟาร์ม สร้างผลกำไรให้แก่ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

.

จะเห็นได้ว่า โอกาสของไทยในการพัฒนาการส่งออกข้าวในปีนี้ ยังมีหลายประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งคุณภาพข้าว ความผันผวนของค่าเงิน การแสวงหาตลาดส่งออกข้าวในประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ที่สำคัญต้องพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้สามารถครอบครองตลาดส่งออกข้าวของโลกได้ในระยะยาว โดยที่ไม่สร้างผลกระทบหรือมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นต้นแบบของการทำเกษตรได้อย่างยั่งยืน

.

Sources : World’s Top Exports, Statista, Indian Express, International Finance Corporation, Axfoundation, USA Rice, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ธนาคารกรุงเทพ

Popular Topics