6 ตุลา 2519 : ศึกษา 8 เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การสังหารหมู่ธรรมศาสตร์

Highlight

1. จากชัยชนะ 14 ตุลา

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนและนักศึกษา นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชน นักศึกษา กล้าที่จะดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ยังเป็นจุดจบของระบอบเผด็จการที่สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 16 ปีอีกด้วย
.
เหตุการณ์เริ่มจากการที่ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ได้กระทำการรัฐประหารตนเองเพื่อทำให้ประเทศกลับเข้าไปสู่วังวนของระบอบเผด็จการอีกครั้ง และได้ทำการจับกลุ่มคนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไปดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม
.
ประชาชนซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ออกมาเดินขบวนเพื่อขับไล่จอมพลถนอมและเรียกร้องให้ปลดปล่อยกลุ่มคนดังกล่าว จึงนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกในที่สุด
.
แม้จอมพลถนอมจะประกาศลาออก แต่กลุ่มนักศึกษาก็ยังไม่ทำการสลายตัวในทันที เนื่องจากต้องการทำให้แน่ใจว่า จอมพลถนอมและจอมพลประภาส (รองนายกรัฐมนตรี) จะพ้นจากอำนาจจริง ๆ จนกระทั่งได้มีประกาศว่าจอมพลทั้ง 2 คน รวมทั้ง ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม หรือ “3 ทรราช” ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงสงบลง


ประเทศไทยจึงกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง แม้ว่ารัฐบาลหลังจากนั้นจะยังไม่มีเสถียรภาพ เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การแตกแยกของนักการเมือง แต่การปกครองยังคงอยู่ในกรอบวิถีประชาธิปไตย
.
📍 ปี 2519
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) มีขบวนการนักศึกษาที่เติบใหญ่มากยิ่งขึ้น แต่กลับกันก็เริ่มมีกลุ่มต่อต้านนักศึกษามากขึ้นเช่นเดียวกัน 

2. จอมพลประภาสกลับเข้าไทย

จอมพลประภาส จารุเสถียร หนี่งใน “สามทรราช” ที่ถูกขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับเข้าประเทศไทย ทำให้เกิดการชุมนุมและขับไล่ของกลุ่มนักศึกษา ท้ายที่สุดจอมพลประภาสต้องเดินทางออกจากประเทศอีกครั้งหนึ่ง

📍 16 สิงหาคม 2519
จอมพลประภาสเดินทางกลับเข้าประเทศไทยอีกครั้ง โดยอ้างว่ามารักษาดวงตา
.
📍 19 สิงหาคม 2519
ขบวนการนักศึกษารวมตัวออกมาชุมนุม โดยจัดขบวนแห่รูปวีรชน 14 ตุลาคม ไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งข้อหาให้ดำเนินคดีกับจอมพลประภาส
.
📍 22 สิงหาคม 2519
จอมพลประภาสหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง ทำให้กลุ่มนักศึกษายอมสลายการชุมนุม
.
มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกลับมาของจอมพลประภาสเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร เชื่อว่า ณ เวลานั้น ชนชั้นนำยังไม่มีความพร้อม จึงได้ผลักดันให้จอมพลประภาสหนีออกนอกประเทศ

3. การกลับมาของพระถนอม

ช่วงเดือนสิงหาคม 2519 มีข่าวความพยายามกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้านเพราะเกรงว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบ ในขณะที่ ศนท. ประกาศว่าจะต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอมจนถึงที่สุด

📍 31 สิงหาคม 2519
คณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเกี่ยวกับการเตรียมเดินทางมาของจอมพลถนอม และได้ข้อสรุปว่าไม่สมควรอนุมัติให้จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้ามา โดยให้สถานทูตไทยในสิงคโปร์แจ้งผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีให้จอมพลถนอมทราบ

📍 19 กันยายน 2519
มีข่าวยืนยันว่าจอมพลถนอมได้บวชเณร กลับเข้าไทย และบวชเป็นพระที่วัดบวรนิเวศฯ สถานีวิทยุยานเกราะได้เผยแพร่คำประกาศว่าการกลับมาของพระถนอม ไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง และขอให้ขบวนการนักศึกษาหยุดต่อต้านเพราะจะกระเทือนต่อพระพุทธศาสนา 

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่า ที่ประชุมของกลุ่มพลัง 165 กลุ่ม คัดค้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม และส่งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเสนอให้จอมพลถนอมออกจากประเทศ


ข้อสังเกตเรื่องการรัฐประหารจึงกลับมาในวงสนทนาของประชาชนอีกครั้ง ในขณะที่นักศึกษายังคงออกมาต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

4. สื่อฝ่ายขวาโจมตีนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เมื่อกระแสต่อต้านพระถนอมรุนแรงมากขึ้น สื่อฝ่ายขวาจึงโต้กลับการต่อต้านของนักศึกษากล่าวอ้างว่านักศึกษามีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องการขับไล่พระสงฆ์ ในขณะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเสียงแตกว่าจะจัดการอย่างไรกับพระถนอม ความไม่ชัดเจนจึงทำให้นักศึกษายิ่งไม่พอใจ และยังคงดำเนินการต่อต้านต่อไป
.
📍 20 กันยายน 2519
มีการพูดโจมตีนักศึกษาที่ออกมาทำการชุมนุมจากหลายฝ่าย เช่น ตัวแทนรัฐบาลที่มองว่านักศึกษาเรียกร้องเกินควร ในขณะที่พระถนอมเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย


พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่า “นักศึกษาต้องการขับไล่พระ มีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ” เป็นจุดเริ่มต้นของวาทกรรม ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ ปลุกกระแสความเกลียดชังจากฝ่ายขวาสู่ฝ่ายซ้าย สถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยามออกข่าวโจมตี ศนท. และไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม ศนท.จึงใช้วิธีเคาะประตูบ้านเพื่อสอบถามความเห็นกรณีพระถนอม ทำให้ประชาชนตื่นตัว

5. ฆาตกรรม 2 แนวร่วมต้านเผด็จการ

จากการที่รัฐบาลไม่สามารถบริหารงานได้อย่างราบรื่น เพราะกระแสการต่อต้านพระถนอมรุนแรงที่ก่อตัวมากยิ่งขึ้นในหมู่ประชาชน ทั้งภายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมีการติดโปสเตอร์ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประท้วง ซึ่งเหตุการณ์การประท้วงดังกล่าวจึงนำไปสู่การฆาตกรรมสมาชิก 2 แนวร่วมต้านเผด็จการโดยฝีมือตำรวจทั้ง 5 นาย ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่อง “ประตูแดง” นั่นเอง

📍 23 กันยายน 2519 

‘’ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช’’ นายกรัฐมนตรีที่รับตำแหน่งต่อจากนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ประกาศลาออกกลางสภาผู้แทนฯ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้เป็นปกติได้ อีกทั้งยังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนหนึ่งมาจากกรณีการเข้ามาของพระถนอม
.
📍 24 กันยายน 2519
พบศพ “วิชัย เกษศรีพงษา” และ “ชุมพร ทุมไมย” พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมจนตาย โดยศพถูกนำไปแขวนไว้ที่ประตูหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม
.
ศนท. ตั้งข้อสังเกตว่าการสืบสวนดคีฆาตกรรมของตำรวจไม่โปร่งใส และเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านนักศึกษา จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้
.
ท้ายที่สุดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกจับ 5 นายในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า แต่ท้ายที่สุดก็มีการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ ในภายหลัง 

6. หยุดสอบประท้วง การแสดงแขวนคอ

กระแสต่อต้านพระถนอมรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์ฆาตกรรมที่นครปฐม กลุ่มนักศึกษาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลรีบจัดการทุกอย่างให้กระจ่างโดยเร็ว เวลาที่ยืดเยื้อนำไปสู่การรวมตัวของนักศึกษาจากทั่วประเทศเพื่อเข้าร่วมชุมนุม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
.
📍 25 กันยายน 2519
นักศึกษาร่วมกันประท้วงโดยการไม่เข้าสอบ อดอาหารหน้าทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทนทวงถามความคืบหน้าคดีฆาตกรรมสองแนวร่วม แต่ไม่ได้รับคำตอบ ขณะเดียวกันกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายขวาที่ต่อต้านก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมองว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์
.
📍 4 ตุลาคม 2519
มีการรวมตัวกันที่สนามหลวง และลานโพธิ์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงหนึ่งมีการแสดงละครโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำลองเรื่องราวการฆาตกรรมแขวนคอ สองพนักงานไฟฟ้าที่นครปฐม เสียดสีการทำงานของรัฐบาล ตำรวจ และรำลึกถึงผู้เสียชีวิต

7. ข่าวการแสดงแขวนคอหมิ่นรัชทายาท ?

หลังการแสดงละครที่ธรรมศาสตร์จบลงเพียงวันเดียว สื่อในยุคนั้นต่างลงภาพข่าวไปทั่วประเทศ จนเกิดประเด็นที่เปรียบเหมือนราดน้ำมันลงในกองเพลิง ด้วยการประโคมข่าวว่าเป็นละครที่พาดพิงและมุ่งร้ายต่อองค์รัชทายาท และสถาบันฯ อย่างร้ายแรง จึงเกิดเป็นกระแสการต่อต้านจากฝ่ายขวาที่พร้อมจะจัดการกับนักศึกษาหัวก้าวหน้าเหล่านี้อย่างเด็ดขาด

📍 5 ตุลาคม 2519
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำเสนอข่าวภาพการแสดงแขวนคอที่ลานโพธิ์ ในขณะที่นักศึกษายังคงมาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากขึ้น
.
หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ประโคมข่าวปลุกระดมว่าการแสดงจัดขึ้นเพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขององค์รัชทายาท บางสำนักกล่าวหาว่านักศึกษาคือ “ผู้ก่อความไม่สงบ” โดยใช้การต่อต้านพระถนอมเป็นข้ออ้าง แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
.
ในขณะที่สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีออกอากาศตลอดทั้งคืน ให้ประชาชน และลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์รัชทายาทมาลงโทษ

8. 6 ตุลา สังหารหมู่ธรรมศาสตร์

ในที่สุด การนองเลือดเกิดขึ้นในเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลุ่มฝ่ายขวา เช่น ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ได้เดินทางมาปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดฉากโจมตี ระดมยิง เหล่านักศึกษาจึงพากันหนีตายไปคนทิศคนละทาง

📍 6 ตุลาคม 2519 

ระเบิด M79 ลูกหนึ่งถูกยิงมาจากฝ่ายตำรวจนอกมหาวิทยาลัย ตกลงกลางผู้ชุมนุมที่อยู่ในสนามฟุตบอล มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ฝูงชนนำรถบัสสองคนขับพุ่งชนประตูรั้วจากภายนอกและบุกเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจากเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยได้แล้ว เจ้าหน้าที่และฝ่ายขวาใช้อาวุธสงครามนานาชนิดเข้าทำร้ายนักศึกษา ปล้นทรัพย์ ข่มขืนกระทำชำเรานักศึกษาหญิง หรือแม้แต่นำศพของผู้เสียชีวิตมาเผา ลากไปกับพื้นที่สนามฟุตบอล และจับกุมนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณสนามฟุตบอล และภายในสนามหลวง

นับเป็นวันมหาวิปโยคที่รัฐและคนร่วมชาติใช้ความรุนแรงประหัตประหารผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม ไร้ความปราณี เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ไม่ต่างจากเหตุการณ์เมื่อครั้ง 14 ตุลา 

.

เย็นวันนั้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครอง โดยอ้างว่า นศ.ร่วมกับคอมมิวนิสต์เพื่อบ่อนทำลายประเทศ เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์จึงสิ้นสุดลง

.

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางการระบุว่ามี 41 ราย บาดเจ็บ 145 ราย และถูกจับกุมอีกกว่า 3,094 คน ในขณะที่รายงานจากมูลนิธิร่วมกตัญญูคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 530 ราย โดยผู้เสียชีวิตยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม ในขณะที่ผู้กระทำผิดยังคงไม่ถูกลงโทษมาจนถึงทุกวันนี้ คงไว้เป็นบทเรียนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ถึงการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ที่ต้องแลกด้วยชีวิตเเละจิตวิญญาณ 

.

ทางทีม The Agenda ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน
กับเหตุการณ์สังหารหมู่ กรณี #กราดยิงหนองบัวลำภู เมื่อเวลา 13.00 น. (6 ตุลาคม 2565) ที่ผ่านมา

ที่มา : เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา, BBC News ไทย, SILPA-mag, workpointTODAY

Popular Topics