โลกกำลังทิ้งไทย หรือไทยก้าวไม่ทันโลก? 5 ด้านเศรษฐกิจไทยที่น่าห่วง

Highlight

นักลงทุนหันหลังให้ ส่งออกแพ้คู่แข่ง นวัตกรรมย่ำอยู่กับที่ กำลังซื้อในประเทศลดลง ท่องเที่ยวไม่ฟื้น คือสถานการณ์ของประเทศไทย 

โลกกำลังทิ้งไทย หรือไทยก้าวไม่ทันโลก?

หลังภาครัฐล้มเหลวในการแก้สถานการณ์โควิด

ศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจหลายสำนักก็ประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยลง

ช่วงเดือนเมษายน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 1.8% ตอนนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ลงมาเหลือแค่ 1%

วิจัยกรุงศรีครั้งก่อนคาดการณ์การขยายตัวไว้ที่ 2.0% ก็ได้ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.8% เหลือเติบโตเพียง 1.2% 

📌 5 ด้านเศรษฐกิจไทยที่น่าห่วง

1 – นักลงทุนไหลออก

นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติหันทำกำไรนอกประเทศ

KKP Research ชี้ว่าสภาวะการลงทุนของไทยนั้นน่าเป็นห่วง ทั้งตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติเทขายต่อเนื่องทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น

ในขณะที่นักลงทุนไทยก็ไปหาแหล่งทำกำไรนอกประเทศ เพียงแค่ไตรมาสแรกของปี 2021 นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างชาติแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท 

2 – ส่งออกฟื้นช้า

เทคโนฯและเกษตรความสามารถในการแข่งขันลดลง

การส่งออกของไทยในปีนี้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในโลก

ส่วนแบ่งการตลาดสินค้าหลักคงที่ถึงขั้นลดลง โดยเฉพาะสองหมวดส่งออกที่เป็นจุดแข็งให้ไทยมานาน  ทั้งสินค้าเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ข้าว สินค้าเกษตรที่มีชื่อของไทย นอกจากในประเทศจะมีการบริโภคข้าวลดลงแล้ว การส่งออกข้าวก็กำลังอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างหนัก คู่แข่งอย่างเวียดนามกำลังได้ส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับ 1.48% ในปี 2018 ตีคู่มากับไทย ที่มีส่วนแบ่ง 1.99%

6 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณการส่งออกยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งออกได้เพียง 2.2 ล้านตัน ลดลง 21.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เรื่องนี้เป็นเพราะความสามารถในการแข่งขันในตลาดข้าวโลกของไทยนั้นลดลง 

– ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีเพียง 350 กิโลกรัม 

ในขณะที่เวียดนาม มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 700 กิโลกรัม 

ผลผลิตต่อไร่ยิ่งน้อย ยิ่งทำให้ต้นทุนเราสูงกว่าคู่แข่ง

– ยิ่งแข่งราคา ภาคการผลิตยิ่งอ่อนแอ

ข้าวจากเวียดนามนั้นถูกพัฒนาคุณภาพขึ้นมาก และผลิตภัณฑ์ข้าวก็มีความแตกต่างน้อย เมื่อเวียดนามขายได้ถูกกว่า ไทยก็ได้ส่วนแบ่งตลอดน้อยลง ไทยต้องยอมลดราคาเพื่อให้ขายได้ ก็เกิดการกดราคาต่อกันไปเป็นทอดๆ เกษตรกรก็ยิ่งลำบากหนัก

ส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไทย ก็เติบโตบนความเสี่ยง

สินค้าส่งออกเด่นของในกลุ่มนี้ ก็คือรถยนต์และ Hard Disk Drive

รถยนต์ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า 

Hard Disk Drive มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น Solid State Drive

ชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างหนักทั่วโลก เราก็ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

3 – นวัตกรรมฝุ่นเกาะ

ตั้งเป้าดันนวัตกรรม แต่ทำไม่ได้จริง

จากปัญหาเรื่องสินค้าเทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรใหม่ 

แม้จะมีการตั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ในแง่ปฏิบัติแล้วกลับไม่ได้มีการผลักดันส่งเสริมรอบด้าน ไม่ได้มมีการเร่งพัฒนาแรงงานมีฝีมือได้เพียงพอที่จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ได้

และเมื่อย้อนมาดูที่งบวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย 

เรามีการใช้งบลงทุนวิจัยเพียง 1% ของ GDP ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีจนขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำอย่างเกาหลีใต้ที่ใช้งบลงทุนและวิจัยถึง 4.6% ของ GDP

ในงบ 1% ของ GDP นั้น ยังมาจากภาครัฐเพียง 20% ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชน

4 – ยิ่งเหลื่อมล้ำ กำลังซื้อยิ่งลด 

ผูกขาดถูกกฎหมาย ปลาจิ๋ว-เล็กอยู่ยาก

กำลังซื้อภายในประเทศกำลังลดลง สาเหตุจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมสูงอายุ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งตอกย้ำทำให้กำลังซื้อลดลง

ประกอบกับธุรกิจรายย่อยที่ปกติควรได้รับการส่งเสริม เพื่อสร้างตำแหน่งงานและกระจายรายได้ แต่ภาครัฐเอง กลับไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ปล่อยธุรกิจใหญ่ครองตลาดทั้งแนวตั้ง แนวนอน ต้นน้ำ ยันปลายน้ำก็ยังเกิดขึ้นได้

เมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศโตน้อยและช้า ก็จะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน ส่วนธุรกิจไทยก็อยากไปเจาะตลาดต่างประเทศแทน

5 – ท่องเที่ยวกระทบหนัก

เคยเป็นจุดแข็ง ตอนนี้ยากจะฟื้นฟู

ปกติแล้ว รายได้ภาคการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญกับประเทศนั้น มาจากตลาดต่างประเทศราว 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด

เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด รายได้ภาคการท่องเที่ยวปี 2563 หดตัวลงไปกว่า 70-80% 

ล่าสุด เมื่อสถานการณ์โรคระบาดกลับมารุนแรง EU ก็ได้ถอดไทยจาก White List หรือประเทศปลอดภัยจากโควิด-19 ที่สามารถเดินทางเข้า EU ได้ จึงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

ส่วนโครงการ Sandbox ที่จังหวัดภูเก็ต ก็ตรวจพบผู้ติดเชื้อมากกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า  แม้จะเปิด Sandbox จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะมีเพียง 0.21 ล้านคน (เดิมคาด 0.33 ล้านคน) 

กว่าโรคระบาดจะหมดไป หรือต่อให้ไม่มีโรคระบาด

ดูๆ แล้วประเทศไทยก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจทำให้เราหยุดอยู่กับที่ จนกลายเป็นล้าหลัง

ที่มา:

วิจัยกรุงศรี, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย,​ KKP Research, Workpoint Today, BBC Thai, Brandinside asia

Popular Topics