“ในอนาคตว่ากันว่า สัตว์เลี้ยงจะกลายเป็นลูก แต่เด็กจะกลายเป็นของหายาก”
.
จากข้อมูลการสำรวจจำนวนประชากรเกิดใหม่ในปี 2566 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 517,934 คน ในขณะที่ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีจำนวนประชากรเกิดใหม่ในปี 2556 มากถึง 782,129 คนเลยทีเดียว
.
สวนทางกับข้อมูลอัตราการตายของประชากรไทยในปี 2566 ที่พบว่ามีจำนวนสูงถึง 565,992 คน ซึ่งทำให้อัตราการตายของคนไทยสูงกว่าอัตราการเกิดถึง 1.09%
.
หรือเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าในประชากร 1,000 คน จะมีประชากรที่เกิดใหม่เฉลี่ย 8 คน แต่จะมีประชากรที่เสียชีวิตเฉลี่ย 9 คน ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
.
โดยมีการคาดการณ์ว่า ถ้าจำนวนการเกิดยังลดลงสวนทางกับจำนวนการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแบบนี้ ในอีกประมาณ 60 ปีข้างหน้า หรือปี 2626 ประชากรไทยจะลดลงจากปัจจุบัน 66.5 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคนเท่านั้น
.
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนประชากรเกิดใหม่แยกเป็นรายจังหวัด ระหว่างปี 2556 และปี 2566 พบว่า จังหวัดที่มีอัตราการเกิดลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
.
– พังงา อัตราการเกิดลดลงถึง 56 % จาก 14 คน เหลือ 6 คน ต่อประชากร 1,000 คน
– สมุทรสาคร อัตราการเกิดลดลง 55 % จาก 27 คน เหลือ 12 คน ต่อประชากร 1,000 คน
– ภูเก็ต อัตราการเกิดลดลง 53 % จาก 25 คน เหลือ 12 คน ต่อประชากร 1,000 คน
.
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยมีจำนวนการเกิดของเด็กที่ลดลง แต่จังหวัดตากกลับเป็นจังหวัดเดียวที่มีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึง 24% จาก 17 คน เป็น 21 คน ต่อประชากร 1,000 คน
.
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร อัตราการเกิดลดลง 41% จาก 18 คน เหลือ 11 คน ต่อประชากร 1,000 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก
.
ถึงแม้ภาครัฐจะเร่งผลักดันปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีลูกมากขึ้นผ่านนโยบายต่างๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง มาจากมุมมองทัศนคติ เช่น นิยมอยู่คนเดียวมากขึ้น หรือเลือกเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนบุตร และเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
.
โดยมีการประมาณการค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหนึ่งคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี ว่าต้องใช้เงินสูงถึง 2 ล้านบาท อีกทั้งค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่เกิดความกังวลว่า หากมีลูกแล้ว จะสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพได้หรือไม่ และจะเติบโตขึ้นมาในสังคมแบบใดก็ส่งผลด้วยเช่นกัน
.
ปัญหาอัตราการเกิดของประชากรลดลง ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม เพราะอาจขาดแคลนกำลังแรงงาน หรือไม่สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ และอาจทำให้สูญเสียรายได้ในการพัฒนาประเทศไป ในขณะที่สังคมผู้สูงอายุเข้ามาแทนที่ และต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสวัสดิการของผู้สูงอายุมากขึ้น
.
โจทย์สำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงสภาพสังคมให้มีประสิทธิภาพ สร้างความไว้วางใจต่อผู้ที่อยากจะมีลูก ส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ครบในทุก ๆ ด้าน
.
เพราะคุณภาพชีวิตของประชากร ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องปากท้อง ของแพง ค่าแรงถูก แต่เป็นเรื่องที่ต้องมองไปยังระยะยาวอย่างรอบคอบ เพื่อให้ประชากรไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต
.
Sources : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ThaiPBS