5 เสือเศรษฐกิจเอเชีย ตอนนี้เป็นอย่างไร?

Highlight

ไทย คือประเทศที่ทุกคนคาดว่าจะเป็น ‘เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5’ แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ลูกเสือเศรษฐกิจ (Tiger Cub Economies)’ เกิดอะไรขึ้นกับเรา และอีก 4 เสือเศรษฐกิจเป็นอย่างไรกันบ้าง มาดูสรุปกับ #Agenda กัน

เมื่อ 50-60 ปีก่อน เอเชียกำลังฉายแววรุ่งเรือง นำโดยญี่ปุ่นที่เจริญก้าวหน้าอย่างมาก

ตามมาด้วยอีก 4 เสือเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ที่เติบโตเฉลี่ยเกินปีละ 7%

ส่วนไทย คือประเทศที่ทุกคนคาดว่าจะเป็น ‘เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5’

แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
เราก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ลูกเสือเศรษฐกิจ (Tiger Cub Economies)’ ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน คือ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เกิดอะไรขึ้นกับเรา และอีก 4 เสือเศรษฐกิจเป็นอย่างไรกันบ้าง
มาดูสรุปกับ #Agenda กัน

ไทย 

ในตอนนั้น ญี่ปุ่นกำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ให้อุตสาหกรรม
และไทยเองก็ตอบโจทย์ เพราะค่าแรงถูก ที่ตั้งพร้อม โครงสร้างพื้นฐานโอเค เหมาะเป็นฐานการผลิต ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว

ภาครัฐเองก็มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เช่น
– โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย
– โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
– โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร
– โครงการทางด่วนยกระดับ
และโครงการพัฒนาสนามบินในแต่ละภูมิภาค

มีการตั้งนโยบายเศรษฐกิจ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” พร้อมหมายมั่นปั้นมือเต็มที่ ว่าไทยนี่แหละ คือเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย

แต่แล้วก็เกิด ‘รัฐประหาร’ โดยคณะรสช. ตามมาในติดๆ ในอีกไม่กี่ปีด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง

ซ้ำร้ายในขณะที่เวลาผ่านมา
แรงงานไทยไม่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะมากพอ แต่อัตราเกิดมีน้อยลง ประกอบกับคนงานเดิมอายุมากขึ้น ค่าแรงก็แพงขึ้น ทำให้เราไม่ได้เป็นฐานการผลิตที่มีค่าแรงถูกอีกต่อไป

อีกจุดแตกต่างจากเสืออื่นๆ ก็คือ ในระหว่างที่เราตักตวงความรุ่งเรืองจากการเป็นฐานการผลิต การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา อันเป็นจุดแข็งในปัจจุบันของเสือตัวอื่นๆ กลับเกิดขึ้นน้อยมาก

แม้แต่ในปัจจุบัน อัตราการใช้จ่ายเพื่อวิจัยและพัฒนาของเราก็อยู่ที่ 0.5% ของ GDP เท่านั้น
แถมคนที่ออกเงินให้เยอะที่สุดก็คือภาคเอกชน 2,796 ล้านเหรียญ/ปี อันดับสองคือมหาวิทยาลัย 1,284 ล้านเหรียญ/ปี ส่วนภาครัฐลงทุน 1,053 ล้านเหรียญ/ปี

ธุรกิจที่ต้องการค่าแรงถูกก็ย้ายไปที่อื่น
ธุรกิจที่มองหาภาคบริการทักษะสูงเป็นหลัก ก็ไปลงตัวที่อื่น
ภาคการค้า ตอนนี้ก็เริ่มมีภัยคุกคามจากต่างประเทศ ที่เห็นภาพชัดที่สุดก็คือจีน ทั้งต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้เราเห็นสินค้าส่งจากต่างประเทศโดยตรงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า วิกฤติโควิด19 กระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหนักที่สุด
ธนาคารโลกคาดว่าไทยจะเศรษฐกิจติดลบที่สุดในอาเซียนในปีหน้า โดยอาจติดลบได้มากสุดที่ 5.2%

สถานะตอนนี้เรียกได้ว่า ไทยเป็นลูกเสือที่ต้องการการดูแลและฟื้นฟู ถึงจะเติบโตอย่างแข็งแรงสง่างามได้

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้เริ่มต้นด้วยการผลักดันให้ตัวเองเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นฐานการผลิต คล้ายกับไทย

แต่ในขณะเดียวกัน ก็เน้นการส่งเสริมการศึกษา เพื่อพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมการส่งออก และยังจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยี KIST

ปัจจุบัน เกาหลีใต้มี GDP โตขึ้นถึง 281 เท่า โตสูงที่สุดในบรรดา 4 เสือ มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 12 ของโลก เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลก และทุ่มเงินวิจัยต่อ GDP สูงที่สุดในโลก

ไต้หวัน

ก่อนทศวรรษ 1970 การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยกับไต้หวันอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ช่วงปี 1962 ถึงปี 1986 ไต้หวันเริ่มดําเนินมาตรการสงเสริม SME จนเป็นกำลังสำคัญในการส่งออก ต่อมาช่วงปี 1986 ถึง ปี2000 รัฐผลักดันการวิจัย จนสามารถคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตชิปของตัวเอง โดยจัดสรรงบประมาณปีละนับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาเทคโนโลยีและยกระดับอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ไต้หวันมีคุณภาพการศึกษาในระดับแนวหน้า เป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญของสมาร์ทโฟนที่เราใช้กัน และยังมีประสิทธิภาพในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมาก

มีขนาด GDP เกือบ 5% ของ GDP จีนทั้งประเทศ
และกำลังกลายเป็น Tech Hub ใหม่ของโลก

สิงคโปร์

หลังจากถูกแยกจากมาเลเซีย ผู้นำสิงคโปร์ก็รู้ตัวว่าตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะสิงคโปร์ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่เพาะปลูก และปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต คือ น้ำจืด

ทรัพยากรเดียวที่มีค่าที่สุดในเวลานั้นก็คือ ‘ประชาชน’

สิงคโปร์เริ่มกวดขันการศึกษา ควบคุมคุณภาพครู และตั้งเป้าว่า ทุกคนจะต้องพูดได้ 2 ภาษา คัดเด็กหัวกะทิไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

และดูเหมือนสิ่งที่ลงทุนไปจะผลิดอกออกผลอย่างดี เพราะในปัจจุบัน สิงคโปร์กลายเป็นผู้นำทางการเงินระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก

เทียบกันแล้ว เศรษฐกิจของสิงคโปร์เมื่อ 60 ปีก่อน เติบโตขึ้นถึง 202 เท่า นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน สนามบินอันดับ 1 ของโลก บ้านเมืองสะอาดและมีพื้นที่สีเขียวหนาแน่น ระบบราชการเอื้อต่อการเปิดธุรกิจ ทำให้สิงคโปร์ดึงดูดเหล่ามหาเศรษฐี นักธุรกิจ และสตาร์ทอัปหน้าใหม่

ฮ่องกง

หลังจากจีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ผู้คนอพยพจากจีนก็อพยพมาตั้งโรงงานและกิจการในฮ่องกง ทำให้ไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ ประกอบกับการเป็นเมืองท่าปลอดภาษี (Free Port) จนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียบพร้อม จนทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงในขณะนั้นเติบโตอย่างมาก

ต่อมา จีนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น
ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่า ฐานการผลิตก็เลยถูกย้ายไป
ฮ่องกงจึงรับมือด้วยการพัฒนาคนไปทางทักษะขั้นสูงแทน คือทักษะด้านการเงินการธนาคาร ธุรกิจและประกันภัย จนกลายเป็นผู้นำทางด้านศูนย์กลางการเงินระดับนานาชาติ

ในปี 2018 ฮ่องกงมีจำนวนมหาเศรษฐีเยอะเป็นอันดับ 2 ของโลก

อย่างไรก็ตาม อีกเพียง 27 ปี ฮ่องกงก็จะต้องส่งมอบอำนาจการปกครองให้กับจีน อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของฮ่องกงขณะนี้น่าเป็นห่วง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เพราะวันก่อน จีนเพิ่งปลดนักการเมืองฮ่องกง 4 ราย โดยการอ้างกฎหมายความมั่นคง และดำเนินคดีกับนักกิจกรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งอาจทำให้การประท้วงรุนแรงยิ่งขึ้น เศรษฐกิจฮ่องกงจึงอาจสั่นคลอนมากขึ้น ในขณะที่บรรดามหาเศรษฐีก็เริ่มย้ายถิ่นฐานมายังสิงคโปร์แทนแล้ว

แน่นอนว่าทุกๆ ประเทศมีการแข่งขันระหว่างกัน ทั้งการค้า อุตสาหกรรม ฯลฯ
แต่อย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเจริญ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่การแข่งขันกับคนอื่น
แต่คือ ‘การตั้งคำถาม’ กับตัวเองว่า ‘เราจะดีกว่าเดิมได้อย่างไร’
หากคิดว่า ‘ดูที่ที่แย่กว่าสิ จะได้เห็นว่าเราดีแล้ว’
วันหนึ่งเราอาจไม่มี ‘ที่ที่แย่กว่าเรา’ ให้มองเพื่อความสบายใจอีกต่อไปก็ได้

Popular Topics