หมอสงวน ผู้สร้าง ’30 บาทรักษาทุกโรค’ เพราะสุขภาพคือสวัสดิการ ไม่ใช่การสงเคราะห์

Highlight

สิทธิรักษา คือ สวัสดิการ ไม่ใช่ การสงเคราะห์

เมื่อโลกต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ในปี 2019 อย่าง “โควิด-19” ปลุกให้ทั้งโลกตื่นตัวเรื่องปัญหาสุขภาพของพลเมืองมากขึ้น แต่ละประเทศมีต้นทุนเรื่องระบบสุขภาพไม่เท่ากันนำไปสู่การบริหารจัดการสถานการณ์แตกต่างกัน ย้อนมองประเทศไทย ถือว่า ‘โชคดี’ ที่มีระบบสาธารณะสุขเข้มแข็งช่วยบรรเทาความรุนแรงของการระบาดได้พอสมควร เมื่อประชาชนเจ็บป่วย สามารถเข้าถึงการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง วิกฤติสุขภาพได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ของไทย

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง ไม่ว่าจะรู้จักในชื่อใดก็แล้วแต่ ต้องยอมรับว่านโยบายนี้เป็นนโยบายขึ้นหิ้งที่ประสบความสำเร็จนโยบายหนึ่งที่ไทยเคยมีมา นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าบุคคลสำคัญอีกหนึ่งที่ควรจะได้เครดิต คือ “นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์”

หมอสงวนเป็นนายแพทย์ที่ทำงานคลุกคลีกับผู้คนในชนบทมากก่อนจึงเข้าใจถึงปัญหาของการเข้าถึงการรักษาพยาบาล (ณ เวลานั้น) ว่าเป็นเรื่องใหญ่ บางคนอาจถึงขั้นล้มละลายทางการเงิน การผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเริ่มต้นพร้อมความเชื่อว่าการได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม คนป่วยต้องได้รับการดูแลจากรัฐในลักษณะ “สวัสดิการ” ไม่ใช่การ “สงเคราะห์” และจะเป็นความจริงได้ต้องมีการสร้างระบบที่มั่นคงและเป็นธรรม

หลังจากนั้น หมอสงวนได้เข้ามาเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณะสุขทำโครงการด้านสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะเพื่อยกระดับสิทธิการเข้ารักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม แบกความฝันการสร้างหลักประกันสุขภาพจนได้มีโอกาสนำเสนอให้กับนายทักษิณ ชินวัตร และหมอเลี๊ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำพรรคและรัฐบาลไทยรักไทย ทั้งสองคน “ซื้อแนวคิด” นั้น กำเนิดเป็น “30 รักษาทุกโรค”

ทำไมต้อง 30 บาท ? การสร้างระบบประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี ขณะนั้นหลายประเทศได้เริ่มไปก่อนแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รูปแบบต่างกันไป ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ระยะแรกจึงยังคงเรียกเก็บ 30 บาทให้คนจนยังพอจ่ายไหว คนมีก็จ่ายเท่ากัน ต้องการให้คนเห็นความคุ้มค่าของการรักษาพยาบาล คนจนคนมีมาตรฐานเดียวกัน นโยบายพัฒนาไปสู่ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อมาเรื่อย ๆ กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มอบให้กับคนไทย “ทุกคน”

นั่นทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนเป็นนโยบายพื้นฐาน แม้จะเปลี่ยนไปอีกกี่รัฐบาล ก็ไม่ใครกล้าทิ้งการยกเลิก ปรับลดงบประมาณ ตัดทอนสิทธิการรักษา มักถูกตั้งคำถามจากประชาชนเสมอ แสดงให้เห็นว่านโยบายนี้เป็นคุณต่อประชาชนอย่างแท้จริง เหตุผลที่นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากปณิธานของหมดสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นหนึ่งนโยบายที่ดีที่สุดนโยบายหนึ่งที่ประเทศไทยเคยมี ด้วย 3 เหตุผล

1.เป็นสวัสดิการแห่งรัฐ – หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็น Case Study ของการสร้างสวัสดิการที่เข้มแข็งภายใต้การปกครองระบบประชาธิปไตย มีลักษณะ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ในสังคม คนมีมากช่วยคนมีน้อย คนสบายดีช่วยคนเจ็บป่วย จากภาษีที่ทุกคนจ่ายไป จัดสรรไปเป็นบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นรูปแบบของประเทศที่เจริญแล้วที่ภาษีถูกใช้เพื่อประชาชน แก้ปัญหาตรงจุด ทำให้เราแทบไม่เห็นภาพของ ‘ผู้ป่วยอนาถา’ อีกเลย ไม่ว่ายากดีมีจน หากเป็นคุณป่วย คุณรักษาฟรี

2. พิสูจน์ว่า moral hazard ไม่จริง – ช่วงเริ่มต้น มีความกังวลว่า ‘การรักษาฟรี’ จะทำให้คนละเลยการดูแลสุขภาพ คนจะกินเหล้า เมายา ไม่ออกกำลังกายจนป่วยเป็นโรคมากขึ้นเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาอีกแล้ว ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า moral hazard การศึกษาของ NIH พบว่าผลลัพธ์ตรงกันข้ามหลักประกันสุขภาพทำให้คนทั่วไปมีโอกาสพบหมอมากขึ้น เรียนรู้การดูแลสุขภาพดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นความท้าทายที่วงการแพทย์จะเอาชนะมายาคติของ moral hazard เอาจริง ๆ ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ เสียเวลา เสี่ยงโรคอีกด้วย นี่คงอาจยังเป็นข้อเสียที่ระบบจัดการและศักยภาพอาจไม่เพียงพอ

3. เสริมสร้างสุขภาพดีแก่ประชาชน – แน่นอนว่าเมื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังเดินหน้าต่อไป แต่ละปีจะมีการเพิ่มสิทธิการรักษาอื่น ๆ มากขึ้น ช่วยดูแลชีวิตและสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและความเสี่ยงทางการเงินที่เป็นผลจากการเจ็บป่วย ในขณะเดียวกันความหนาแน่นและการกระจายตัวบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญ คือ ประชาชนมีเกราะกำบังทางสุขภาพ เมื่อเกิดโรคระบาดหรือเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM2.5 ในปัจจุบัน สาธารณสุขก็มีการประสานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้มีคลินิกพิเศษเพื่อดูแลประชาชนขั้นต้น


อย่างไรก็ดี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในทุกวันไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่จัดอยู่ในระดับมั่นคงและกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระบบขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนที่ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน ประชาชน ภาครัฐ สถาบันทางการแพทย์ งบประมาณ และอื่น ๆ อีกมากมาย

อ้างอิงจาก CEOWORLD Health Care Index 2021 พบว่าไทยติดอันดับ 13 จาก 89 ของประเทศที่มีระบบการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด และยังเคยเป็นแกนนำลงนาม “ปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสหประชาชาติ” เมื่อปี 2019 ของสหประชาชาติ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่ก่อร่างสร้างฐานมานานกว่า 20 ปี จนได้รับการยอมรับยกย่องในระดับสากลและทำให้ไทยเข้าใกล้ความสำเร็จอของเป้าหมายหลักประกันสุขภาพทั่วโลก ปี 2030 ของ UHC2030

เซอร์ไพรส์ว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นหนึ่งเส้นทางสู่ความยั่งยืนของชีวิตมนุษย์ที่บรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 3 การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล เห็นว่าการสร้างระบบประกันสุขภาพจะกลไกสู่การมีสุขภาพดีของประชาชนอย่างยั่งยืน และทำให้ดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพประชาชนดีขึ้นต่อเนื่อง

หากว่าเจ็บป่วย ทุกคนคงเบาใจไปได้เปราะหนึ่ง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องค่าใช้จ่าย ยกระดับให้คนมีและคนจนมีโอกาสรับการรักษาอย่างเท่าเทียม ทั้งหมด คือ ผลพวงของการสานต่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยตลอด 20 ปี ทั้งนี้ การมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การดูแลตัวเองให้ดีทั้งสุขกายและสุขภาพใจ ไม่ว่าหลักประกันทางสุขภาพจะดีเลิศเลอสักแค่ไหน แต่สัจธรรมที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ก็ยังคงเป็นจริงเสมอ ว่าไหม ?

อ้างอิง

สปสช (https://bit.ly/3JztG4t) (https://bit.ly/3Hx0HLT

The momentum (https://bit.ly/3DAcFTR

the101.world (https://bit.ly/3YiI31i)

Sarakadee.com (https://bit.ly/3HNG0Ng

thecoverage (https://bit.ly/40nL1Dj

World Health Organization (https://bit.ly/3XUHI4Y

ceoworld.biz (https://bit.ly/3HsnubZ

Fraser Institute (https://bit.ly/3XX6d1z

World Economic Forum (https://bit.ly/3jr97N0

NIH (https://bit.ly/3HtmcNL

Popular Topics