Stagflation เมื่อเงินเฟ้อแต่เศรษฐกิจดิ่งเหว รัฐบาลเตรียมแผนรับมืออย่างไร?

Highlight

เงินเดือนเท่าเดิม สะเทือนรายจ่ายแบบตั้งตัวไม่ทัน 

ชนชั้นกลางถูกผลักตก คนรากหญ้าล้มลงไปตาม ๆ กัน

ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกชะลอตัว เงินเฟ้อทะยานสูง หรือเรียกได้ว่าเป็นภาวะ Stagflation   ฝันร้ายของคนทั่วโลกในวินาทีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำที่จะต้องเผชิญเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 และสะเทือนมาถึงฝั่งเอเชียในปี 1997 ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

ตัดภาพมายังประเทศไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงไปถึง 7.1% แล้ว ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 13 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ #แพงทั้งแผ่นดิน ในช่วงที่ผ่านมาก็พอจะทำให้เราเห็นแนวโน้มว่า Stagflation มีโอกาสเกิดขึ้น พร้อมกับเสียงของผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่ออกมาประเมินไปในทิศทางเดียวกัน

#AGENDA สรุปและชวนวิเคราะห์ภาวะ Stagflation ส่งผลและกระทบต่อเราในด้านใด และภาครัฐเตรียมพร้อมกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง

🥩 สินค้าอุปโภคบริโภคแห่ขึ้นราคา

สินค้าหลายชนิดพากันขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดอย่าง เนื้อสัตว์ ข้าว ไข่ไก่ ผักสด และล่าสุดถึงคราวของนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และผงซักฟอกเตรียมขึ้นราคา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตทางปศุสัตว์สูงขึ้น ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากน้ำมันแพง ผนวกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดันราคาปุ๋ยสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 100-200% จึงเกิดการกักตุนและขาดตลาดในท้ายที่สุด

ดังนั้นไม่ใช่แค่ค่าอาหารกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของคนรายได้น้อย แต่ยังเป็นความยากลำบากของเกษตรกรที่ไม่มีกำลังซื้อมาพอที่จะสู้กับราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบัน

ในส่วนของภาครัฐได้อัดฉีดงบ 574 ล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาหมูแพงไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และแก้ปัญหาปุ๋ยแพง โดยเดินหน้าพัฒนาโครงการปุ๋ยสั่งตัด ได้รับปุ๋ยที่เหมาะกับดินและลดต้นทุนไปได้มากกว่า 20%

⚡️ พลังงานราคาพุ่ง

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเช่นเดิม จากสหภาพยุโรปได้คว่ำบาตรการนำส่งพลังงานจากรัสเซีย ส่งผลให้ ‘ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน’ เพิ่มขึ้น 37.24% น้ำมันดีเซลขยายเพดานการตรีงราคา ก๊าซหุงต้ม LPG ปรับราคาขึ้นแบบขั้นบันได รวมถึงค่าไฟขึ้นราคาด้วยเช่นกัน ผลกระทบต่อเนื่องถัดมาก็คือราคาสินค้าอื่นทยอยปรับตัวขึ้นไปตาม ๆ กัน กลายเป็น ‘ปัญหาคอขวด’ ในการผลิต หรือ Supply Bottlenecks กล่าวคืออุปสงค์ส่วนเกิน ทำให้คนต้องยอมจ่ายให้กับราคาแพงอย่างจำนน

และตอนนี้ได้มีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทจนถึง 20 กรกฎาคม รวมไปถึงปรับส่วนผสมของไบโอดีเซล จาก B7 (ผสมอยู่ที่ 7%) เป็น B5 (ผสมอยู่ที่ 5%) แทนเพื่อชะลอราคาปลีกของน้ำมันดีเซล

🏢 ฟองสบู่อสังหา

กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาต้องเผชิญกับสถานการณ์ ‘เหล็กขาดตลาด’ พากันให้ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งสูง เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่เหล็กอันดับต้น ๆ ของโลก ราคาของสิ่งปลูกสร้างเฟ้อขึ้นจากเดิมถึง 6% ส่งผลโดยตรงมาที่ผู้ซื้อ ทำให้การถือครองอสังหาสำหรับชนชั้นกลางและคนรายได้น้อยเป็นเรื่องยากขึ้นกว่าเดิม

แต่ใครที่ไม่มีเงินดาวน์แต่ต้องการซื้อบ้านในยุคนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีทางออกให้ด้วยโครงการ LTV (Loan To Value) มาตรการปล่อยกู้ให้เต็ม 100% รวมถึงเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง 0.01% อีกด้วย

💸 อัตราการว่างงานสูง GDP หด

คนทำงานเกาะเก้าอี้แน่น เด็กจบใหม่และคนตกงานรู้สึกเคว้ง เห็นได้จากอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 2.25% ด้วยภาวะที่เศรษฐกิจดิ่งลงเหว ไม่เพียงเท่านั้น จากเดิมได้ตั้งเป้า GDP ไว้ที่ 3% แต่มีแนวโน้มเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้การผลิตและการบริโภคพากันหดตัวลง ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบน้อยลงตาม เพราะคนจำเป็นต้องประหยัดจนแทบไม่จับจ่าย 

หนี้สาธารณะเพื่อกอบกู้ประเทศจากการระบาดโควิด 19 เมื่อเผชิญกับสภาวะ Stagflation จะยิ่งซ้ำให้หนี้ของประเทศปานกลาง/ยากจน รวมถึงไทยที่มีทั้งหมด 9.83 ล้านล้านบาท (ถือเป็น 60% ของ GDP ประเทศ) แย่ลงไปอีก

ด้านของรัฐบาลได้ให้จ่ายเงินเยียวยาสำหรับผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 รวมถึงผู้ประกอบการหรือนายจ้าง อีกทั้งยังยกเลิกระบบ Test & go ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ลดความยุ่งยาก หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ Stagflation ไม่ได้จำกัดอยู่ในมิติด้านเศรษฐกิจ แต่ส่งผลไปในวงกว้างถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนในระยะยาว 

หากสถานการณ์นี้ลากยาวไปนานหลายปี หลายคนไม่เพียงแต่จะต้องรัดเข็มขัด แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตอาหาร พัฒนาไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ ภูมิคุ้มกันตกต่ำ และล้มตายจากโรคระบาดทั้งเก่าและใหม่

Popular Topics