มะเร็งปอดในแต่ละจังหวัด มากแค่ไหน?

Highlight

‘มะเร็งปอด’ อีกหนึ่งภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากมาย

แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย!

แต่จะมีความรุนแรงมากแค่ไหน และจะร้ายแรงเพียงใด

วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูสัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งปอดต่อจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดกัน

.

โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ 

– จังหวัดลำปางที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 45 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

– จังหวัดเชียงใหม่ที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 41 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

– จังหวัดน่านที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 38 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

.

จังหวัดที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอดน้อยที่สุดได้แก่ จังหวัดปัตตานี ที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 6 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน โดยที่กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด 24 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

.

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยองค์การอนามัยโลกพบว่าในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จํานวน 18.1 ล้านคน โรคมะเร็งที่พบมากใน 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่  มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 9.6 ล้านคนอีกด้วย

.

ในบรรดาผู้ป่วยใหม่จํานวน 18.1 ล้านรายนั้น พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดมากถึง 2.1 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดจำนวน 1.8 ล้านคน 

.

สำหรับประเทศไทยนอกจากมะเร็งปอด จะเป็น 1 ในมะเร็ง 5 อันดับแรกที่พบบ่อยในผู้ป่วยใหม่แล้ว ยังเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

.

โดยมะเร็งปอดนั้นสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยแบ่งได้เป็น 3 หัวข้อหลักดังนี้

.

– สาเหตุแรกคือ การสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้ โดยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดมากถึง 10 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับควันจากการสูบบุหรี่ จากการสูดดมเข้าไปโดยที่ตนเองไม่ได้สูบนั้นก็อาจจะทำให้มีสารพิษตกค้างและก่อให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน

.

– สาเหตุต่อมาคือ การได้รับหรือสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น ไอควันของสารโลหะหนัก โครเมียม หรือ เรดอน เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เรดอนนั้นมักพบได้มากในภาคเหนือของประเทศไทย

.

โดย เรดอน เป็นก๊าซกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของเรเดียม ซึ่งเป็นผลผลิตจากการสลายตัวของยูเรเนียม พบได้ตามธรรมชาติบนเปลือกโลก ก๊าซเรดอนเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส มองไม่เห็น และสามารถเล็ดลอดออกมาได้ง่ายและกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ปิดที่ถูกกักไว้ ซึ่งหากได้รับเข้าไปในระยะยาวอาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ DNA จนกลายเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งปอดได้

.

– สาเหตุสุดท้ายคือ การอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ โดยจากการศึกษาพบว่าฝุ่น PM 2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า ถือว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งหากร่างกายได้รับสาร PM 2.5 ในปริมาณมากและยาวนานเกินไป อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของ DNA จนกลายเป็นมะเร็งปอดได้ด้วยเช่นกัน

.

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งปอดนั้นไม่ได้จำกัดอยู่สำหรับคนที่สูบบุหรี่อย่างเดียวเท่านั้น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง หรือ ก๊าซอันตรายต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน

.

ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นอาจถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ แต่การรณรงค์หรือการเข้ามาช่วยเหลือจากภาครัฐนั้นก็ยังคงไม่มากเท่าที่ควร ทั้งในแง่ของ นโยบายหรือกฎหมายในการควบคุมระดับมลพิษเช่น กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ที่ยังคงไม่ได้รับการสนใจมากเท่าที่ควร การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ไปจนถึงการเข้าถึงการรักษา ก็ยังคงไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสมเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับระดับปัญหามะเร็งปอดในปัจจุบัน

.    

* ข้อมูลในภาพเป็นข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้สิทธิระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (UC) และเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหลักเป็นมะเร็งปอดเท่านั้น

.

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, Nature Portfolio, โรงพยาบาลศิครินทร์, แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565)

Popular Topics