11 แนวคิดพลิกชีวิตนักศึกษา HIPs : High Impact Educational Practices โดย รศ.ดร.พิภพ อุดร

Highlight

เมื่อการเรียนในมหาวิทยาลัยแบบเดิม

สร้าง ‘First Jobber’ ได้ไม่เพียงพอ 😰

.

ตัวเลขคนจบใหม่ที่ ‘ว่างงาน’ ของไทยกว่า 2.35 แสนคน

และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ส่งสัญญาณอันตรายให้กับภาคแรงงานไทย

.

แล้วผู้เรียนต้องปรับ ‘Mindset’ หรือ ‘แนวคิด’ อย่างไร

ถึงจะช่วยฟื้นวิกฤต พลิกชีวิตให้มีโอกาสได้งานทำ 💼

.

#Agenda ถอดบทวิเคราะห์ของ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟ้าใส by ศิริวรรณ’ ผ่านการนำเสนอ 11 แนวคิด HIPs : High Impact Educational Practices จากสมาคมวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Association of Colleges and Universities : AAC&U)

.

ใครที่อยากพลิกชีวิตห้ามพลาด! 

.

1.เก็บพอร์ตออนไลน์ ใช้ได้ตลอดชีวิต : ePortfolios 📓

เก็บ ePortfolios เติบโตได้ตลอดชีวิต : ePortfolios 📓เป็นการสร้างแฟ้มเก็บสะสมผลงานส่วนตัวในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้เรียนทุกคน ทุกสาขาอาชีพ โดยจุดเด่นของ ePortfolios คือสามารถออกแบบและใส่ข้อมูลได้ไม่จำกัด และแสดงผลงานในรูปแบบ Multimedia เช่น รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอต่างๆ ได้ ซึ่งแก้ไขหรือปรับปรุงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถรับชมได้ตลอดเวลา ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสามารถเก็บเป็นแฟ้มสะสมผลงานที่สะท้อนการพัฒนาตัวบุคคลทางความคิดและทักษะความสามารถได้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต

.

2.มีศูนย์กลางแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ : Learning Communities 🏢

คือการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ในทุกสถานที่หรือทุกโอกาสที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเชิงวิชาการ สันทนาการ กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวนอกจากจะทำให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการคิดและพัฒนาการเรียนรู้แล้ว ยังนับเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดแหล่งการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่จะรวบรวมเอาผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างเต็มที่และเปิดกว้างสำหรับทุกคน

.

3.สัมมนาตั้งแต่ชั้นปี 1 : First-Year Seminars and Experiences 🗣️

เป็นการจัดสัมมนาระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในชั้นปีแรก ซึ่งมีความแตกต่างไปจากหลักสูตรเดิมที่มักจะจัดกิจกรรมสัมมนาในช่วงปีสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา โดยการจัดกิจกรรมสัมมนาในช่วงปีแรก จะช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงการเรียนในตำรา แต่สามารถหยิบยกเอาข้อมูลที่น่าสนใจมาอภิปรายหรือโต้แย้ง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองและผู้อื่นได้ อีกทั้งช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

.

4.เรียนรู้อยู่กับความหลากหลาย : Diversity / Global Learning 🤝

ผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความหลากหลายในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายในแง่มุมต่างๆ ทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ และองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งเมื่อได้มาอยู่ร่วมกันแล้ว ผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ต่อการเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังควรแสวงหาโอกาสเรียนรู้ในขอบเขตที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ จากหลากหลายมุมมอง

.

5.ลงมือแก้ปัญหาให้สังคมและชุมชนได้ : Service Learning, Community-Based Learning 🏠

เป็นวิธีที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์นอกห้องเรียน ผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ เริ่มจากสำรวจปัญหาจากชุมชนหรือสังคม แล้วแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้สอน ผู้เรียน และชุมชน เพื่อสร้างการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกัน และเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดจิตสำนึกที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ด้วยการแก้ไขปัญหาให้ชุมชน

.

6.สร้างประสบการณ์ทางความคิดร่วมกัน : Common Intellectual Experiences 🧠

เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ทางปัญญาร่วมกัน ผ่านการลงพื้นที่ในชุมชนหรือเป็นพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าไปสัมผัสกับวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการซึมซับทางวัฒนธรรมและสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ผู้เรียนเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาขึ้น ก่อให้เกิดเป็นชุดความคิดที่มีระบบและเป็นรูปธรรมชัดเจน

.

7.ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ : Collaborative Assignments and Projects 🤝

เป็นการฝึกฝนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันผ่านการทำโครงการ งานวิจัย หรืองานกลุ่ม โดยได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสวงหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน ตลอดจนรับฟังและเรียนรู้ต่อความคิดเห็นที่แตกต่างเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ที่สำคัญคือการสร้างความสามัคคีและได้เรียนรู้บทบาทของภาวะผู้นำและผู้ตามที่ดี

.

8.สร้างโปรเจคจบให้ Impact สังคม : Capstone Courses and Projects 📖

คือการเน้นให้ผู้เรียนในชั้นปีสุดท้ายได้ลงมือปฏิบัติและสร้างชิ้นงานหรือโปรเจคตลอดช่วงเวลาที่ได้ศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัย โดยอาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้จริง สามารถนำผลงานมาจัดแสดงเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้อื่นที่สนใจ ซึ่งนอกจากจะฝึกให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เข้าใจลึกซึ้ง มีการประเมินคุณภาพของผลงานแล้ว ยังสามารถเก็บสะสมเป็น Portfolio ได้อีกด้วย

.

9.เน้นงานวิจัยในหลักสูตรป.ตรี : Undergraduate Research 👨‍🎓

เป็นการมุ่งเน้นการทำวิจัยในระดับปริญญาตรี เพื่อฝึกผู้เรียนให้สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลและเลือกใช้องค์ความรู้โดยยึดหลักเหตุและผล กำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เรียนรู้วิธีแยกแยะและวิเคราะห์ข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จออกจากกันพร้อมทั้งหาที่มาของแหล่งข้อมูลได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนในชีวิตจริง เช่น การวิเคราะห์และแยกแยะ Fake News จากแหล่งข้อมูลที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

.

10.เขียนเป็น มีจุดเด่น เน้นเข้าใจ : Writing-Intensive Courses 📝

การพัฒนาและฝึกทักษะการเขียนแบบเร่งรัด ซึ่งจำเป็นต้องฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะการเขียนในหลากหลายรูปแบบทั้งในมหาวิทยาลัยและการทำงานในชีวิตจริง เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีอาจทำให้ผู้เรียนมองข้ามความสำคัญของการสื่อสารด้วยการเขียน จีงจำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนาทักษะการเขียนแบบเร่งรัดให้กับผู้เรียน เช่น การเขียนรายงาน การเขียนบทความวิชาการ บทความวิจัย การเขียนอีเมลเพื่อติดต่อธุรกิจ เป็นต้น

.

11.เตรียมพร้อมสู่การฝึกงาน : Internships 👔

เป็นการฝึกงานในสถานประกอบการก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งทุกหลักสูตรควรผลักดันให้มีการฝึกงาน โดยอาจพิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงการฝึกงาน โดยในสถานศึกษาบางแห่งอาจมีนโยบายให้ผู้เรียนออกไปฝึกงานเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาศึกษาต่อจนจบหลักสูตร เพราะจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โลกการทำงานในชีวิตจริงและนำประสบการณ์กลับมาใช้ในการเรียนอย่างลึกซึ้งขึ้นโดยอัตโนมัติ และสามารถส่งต่อไปยังชีวิตการทำงานที่ต้องใช้ทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพของตนต่อไป

Popular Topics