คนไทยเหลือเก็บมากแค่ไหนในแต่ละจังหวัด?

Highlight

เงินเดือนออกแล้วเฮฮา ระวังน้ำตามาไม่รู้ตัว !

.

ทุกคนสงสัยกันไหมว่า รายได้คนไทยทุกวันนี้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือป่าว? 

แล้วเมื่อหักลบกันแล้ว คนไทยมีเงินเหลือเก็บเท่าไหร่? 

.

โดยจากข้อมูลปี 64 รายได้ของคนไทยในระดับประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 27,352 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,616 บาท เท่ากับว่าคนไทยเฉลี่ยแล้วมีเงินเหลือเก็บ 5,736 บาท

.

แต่ในระดับจังหวัดตัวเลขจะเป็นอย่างไรกันบ้าง จะมากหรือน้อยอย่างไร?

วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูกันว่า แต่ละจังหวัดมีเงินเหลือเก็บมากน้อยแค่ไหน 

.

โดยจังหวัดที่ครัวเรือนมีเงินเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

– จังหวัดนครปฐม มีเงินเหลือเก็บ 14,785 บาท ต่อเดือน

– จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเงินเหลือเก็บ 11,478 บาท ต่อเดือน

– จังหวัดตราด มีเงินเหลือเก็บ 10,121 บาท ต่อเดือน

.

สำหรับจังหวัดที่มีเงินเหลือน้อยที่สุดนั้นได้แก่จังหวัดภูเก็ตโดยมีเงินเหลือเก็บเพียง 384 บาท ต่อเดือนส่วนกรุงเทพฯ นั้นครัวเรือนมีเงินเหลือเก็บเป็นจำนวน 8,334 บาท ต่อเดือน

.

โดยผลจากการสำรวจพบว่า คนไทยใช้เงินไปกับการบริโภคอุปโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 18,802 บาท  ซึ่งใช้ไปกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ มากเป็นอันดับแรก และใช้เงินกับเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค อย่างเช่น ภาษี เฉลี่ยเป็นจำนวน 2,814 บาท

.

ถึงแม้ตัวเลขภาพรวมในระดับประเทศนั้น สัดส่วนรายได้จะดูเหมือนเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดนั้นพบว่า ครัวเรือนเกือบ 1 ใน 3 ของทั่วประเทศนั้นมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

.

นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อย (มีรายได้น้อยกว่า 7,700 บาท ต่อเดือน) ขาดความสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายเป็นอย่างมาก โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายมากกว่าถึง 2.5 เท่า รวมทั้งยังมีหนี้สิน 1.2 แสนบาทต่อครัวเรือน ซึ่งกว่า 1 ใน 3 เป็นการกู้มาเพื่อบริโภค อีกด้วย

.

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายนั้นเกิดจากหลากหลายปัจจัย ดังนี้

.

– คนไทยเน้นบริโภคมากกว่าเน้นออม มีการใช้จ่ายไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นเยอะ

สังคมไทยถูกมองว่าเป็นสังคมบริโภคมากกว่าสังคมการออม โดยสังคมเรามีการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงฐานกำลังในการซื้อของตนเองและมักหาข้ออ้างให้ตัวเองในการใช้จ่ายเงินอยู่เสมอ อย่างเช่น การให้รางวัลตนเอง เป็นต้น

.

– รายได้ไม่มั่นคง และอัตราการออมลดลง

ปัญหารายได้ไม่มั่นคงเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ มากมาย อย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำเพราะผลจากสงครามของประเทศมหาอำนาจ หรือภาวะที่มีโรคระบาดอย่าง Covid-19 ที่ทำให้รายได้ของประชาชน เช่น กลุ่มเกษตรกร ไม่มั่นคง รวมทั้งยังเป็นต้นเหตุให้ผู้คนต้องนำเงินเก็บส่วนหนึ่งออกมาใช้หรือกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้จ่ายอีกด้วย

.

– สังคมรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีทำให้คนเริ่มใช้จ่ายโดยไม่ระมัดระวังมากขึ้น

การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าเดิม ทำให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อสินค้าหรือบริการที่มากขึ้น รวมทั้งยังมาพร้อมค่าใช้จ่ายในเรื่องของอุปกรณ์ไอทีและอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

.

– คนไทยพยายามหาเงินมากขึ้นเพื่อมาใช้จ่าย แทนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง

คนส่วนมากที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนั้นเลือกที่จะทำงานให้มากขึ้น หรือหารายได้เสริมต่าง ๆ เพื่อเอามาใช้จ่ายให้เพียงพอ แทนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นต้นเหตุของปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

.

– อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

การเกิดวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้ระดับราคาสินค้าในประเทศไทยปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของราคาอาหารและราคาเชื้อเพลิง ทั้งในส่วนที่ใช้ภายในบ้านและในส่วนสำหรับการเดินทาง ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของคนไทยพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

.

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายเอาไว้ 3 ข้อ ดังนี้

.

– ปรับปรุงแนวทางการสร้างความมั่นคงให้รายได้ ผ่านการสร้างรายได้เสริมและพัฒนาทักษะของประชาชนให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานภายใต้บริบทเศรษฐกิจใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อปรับสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย

.

– ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีวินัยและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเรื่องเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

– ปรับโครงสร้างจากทางรัฐและสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือเรื่องรายได้และฐานะทางการเงินอย่างยั่งยืน เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเหมาะสม สินเชื่อที่เป็นธรรม มาตรการในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมไปถึงออกนโยบายที่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินอีกด้วย

.

ซึ่งจากวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหารายได้ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายนั้น ไม่ใช่ปัญหาที่สามารถจะแก้ไขได้เพียงกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข เพราะถ้าทุกคนอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ และอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้ให้หมดไปนั่นเอง

.

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, Money Duck, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ไทยรัฐ ออนไลน์

Popular Topics