Home Social หน้าตา ‘ความยากจน 8 แบบ’ ในประเทศไทย

หน้าตา ‘ความยากจน 8 แบบ’ ในประเทศไทย

0

จากที่ #AGENDA เคยนำเสนอ หน้าตา ‘ความยากจน’ ของแต่ละประเทศทั่วโลก ไปแล้ว

เรื่องหนึ่งที่เราสังเกตได้ก็คือ ความยากจนในรูปแบบที่คนส่วนใหญ่รู้จัก จะมีภาพคล้ายๆ กัน คือ คนที่ไม่สามารถซื้อหาปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้เพียงพอ คนไร้บ้าน 

แต่คนเหล่านี้ ก็ถือเป็นคนจนประเภทหนึ่งเช่นกัน

ไม่มีเงินเดินทางไปหาหมอเพื่อรักษาอาการป่วย

เงินเดือน 30,000 หักค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ต้องเลี้ยงครอบครัวแล้วแทบไม่พอใช้

เจ้าของกิจการหลายสิบล้านพบวิกฤตเศรษฐกิจจนล้มละลาย

ดังนั้นมิติปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตเพียงอย่างเดียว จึงไม่ครอบคลุมความยากจนในรูปแบบอื่น ๆ

แล้ว ‘ความจน’ ควรวัดจากอะไรบ้าง? แล้วตัวเราเป็นคนจนแบบไหนอยู่หรือเปล่า? #AGENDA สรุปมาให้แล้ว

1. ความยากจนสัมบูรณ์ (Absolute Poverty)

คนเหล่านี้เป็นความยากจนที่คนส่วนใหญ่นึกภาพถึง คือขาดปัจจัยพื้ฐานในการดำรงชีวิตต่าง ๆ ตั้งแต่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยที่ดี โดยสามารถวัดได้จากการกำหนดระดับรายได้ เช่น ธนาคารโลกกำหนดเส้นความยากจนไว้ที่ คนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าวันละ 1.9 เหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 60 บาทต่อวัน

2. ความยากจนสัมพัทธ์ (Relative Poverty)

ความยากจนสัมพัทธ์​ คือการวัดความยากจนที่อ้างอิงจากมาตรฐานคุณภาพชีวิตของสังคมนั้นๆ เช่น สาธารณูปโภคต่างๆ การมีน้ำ การมีไฟฟ้าใช้ ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ และคนที่เข้าไม่ถึงและไม่สามารถจ่ายเพื่อมีได้ ก็จะตกอยู่ใน Relative Poverty นี้ด้วย 

แต่ในประเทศอื่น การเข้าถึงสาธารณูปโภคอาจทำได้ 100% ทำให้ไม่สามารถความความยากจนจากการเข้าถึงสาธารณูปโภคได้ แต่ต้องมองคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ประกอบนั่นเอง

ในหัวข้อ หน้าตา ‘ความยากจน’ ของแต่ละประเทศทั่วโลก AGENDA ก็ได้นำเสนอความแตกต่างของการเป็นคนจนในแต่ละประเทศเอาไว้แล้วเช่นกัน

3. ความยากจนแบบเป็นวงจร (Cyclical Poverty)

ความยากจนที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภัยพิบัติต่างๆ ภาวะขาดแคลนอาหารระดับประเทศ ที่ทำให้คนที่ปกติมีกินมีใช้ ต้องประสบกับความสูญเสีย จนกลายเป็นความยากจนในทันที 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ เพราะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินไม่ไหว แต่ถ้าหากรัฐฯ จัดนโยบายรับรองและช่วยเหลือได้ทันท่วงที กลุ่มคนเหล่านี้ก็อาจหลุดพ้นความยากจนได้ แต่ถ้าหากไม่มีการช่วยเหลือดูแลที่ดี ก็อาจกลายเป็นคนยากจนถาวรไปเลย

4. ความยากจนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ (Income Poverty)

เป็นการวัดความยากจนจากการวัดได้จากรายได้ของแต่ละครัวเรือน เทียบเคียงกับค่าครองชีพของสังคมนั้น ๆ ว่ารายได้รวมของครัวเรือน สามารถครอบคลุมค่าครองชีพสำหรับสมาชิกทุกคนในครัวเรือนได้หรือไม่ เช่น ครอบครัวป้อม มี 5 คน ป้อมมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท ซึ่งถือว่าพอไปได้สำหรับ 1 คน แต่ป้อมต้องเลี้ยงดูค่าใช้จ่ายให้แก่คนในบ้านอีก 4 คน ซึ่งไม่เพียงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ เป็นต้น

5. ความยากจนร่วม (Collective Poverty)

ความยากจนที่มีร่วมกันในกลุ่มๆ หนึ่ง เพราะขาดการเข้าถึงทรัพยากร หรือสิทธิ์ทางกฎหมายอื่นๆ เช่น ชนกลุ่มน้อย ชาวต่างด้าว ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาชีพ การศึกษา หรือไม่ได้แม้แต่สัญชาติ ซึ่งส่งผลต่อโอกาสในการมีการศึกษาที่ดี การประกอบอาชีพที่ดี การเข้าถึงประกันสุขภาพหรือสวัสดิการอื่น ๆ ตามไปด้วยนั่นเอง 

หากเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น คนไร้บ้าน, แรงงานต่างด้าวในเมืองใหญ่ ก็มีโอกาสอย่างมากที่คนกลุ่มนี้จะยิ่งถูกมองข้าม ขาดการช่วยเหลือ ดูแล หรือมีนโยบายมารองรับ

6. ความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น (Generational Poverty)

ความยากจนที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนเดิมต่อเนื่องอย่างน้อย 2 รุ่น โดยอาจจะเกิดจากการขาดการเข้าถึงการศึกษาต่อเนื่อง จึงเลี้ยงชีพได้จากงานระดับต้น งานใช้แรงงานเท่านั้น เมื่อรุ่นถัดไปเกิด ก็จะเกิดมาในความยากจน ขาดโอกาสต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ความเท่าเทียมทางการศึกษา จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างโอกาสหลุดพ้นความจนให้คนเหล่านี้

7. ความยากจนสินทรัพย์ (Asset Poverty)

โดยปกติแล้ว เราควรจะมีสินทรัพย์เพียงพอในการรองรับกรณีฉุกเฉิน เช่น ถ้าเกิดป่วย ทำงานไม่ได้ ก็ควรมีสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปได้อย่างน้อย 3 เดือน

แต่ความยากจนที่ทับซ้อน ทำให้คนจำนวนมากไม่มีสินทรัพย์เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน หรือแม้แต่ไม่มีสินทรัพย์เลย ถึงแม้จะมีรายได้ ด้วยค่าครองชีพที่สูง และสินทรัพย์ที่แต่ก่อนคนนิยมซื้อเก็บก็ราคาขึ้นอย่างหนัก เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น

ความยากจนสินทรัพย์จะทำให้คนกลุ่มนี้เป็นคนยากจนรายกรณีได้ทันที หากถูกไล่ออกจากงาน หรือไม่มีรายได้

8. ความยากจนรายกรณี (Case Poverty)

เกิดขึ้นกับรายบุคคล ที่อาจเกิดเรื่องฉุกเฉิน เช่น ถูกให้ออกจากงาน หรือขาดรายได้ 

ความจนในรูปแบบนี้สามารถป้องกันได้ด้วยนโยบายรองรับจากรัฐบาล เช่น นโยบายจ่ายเงินชดเชยสำหรับผู้ตกงาน บริการจัดหางานใหม่ เป็นต้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้กลับมาเลี้ยงชีพได้ และไม่กลายเป็นคนจนถาวร

————-

ความยากจนเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและซ้อนทับมากที่สุดปัญหาหนึ่งทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจความยากจนได้ในทุกมิติ ก็จะทำให้เข้าใจปัญหาความยากจนมากขึ้น เข้าใจนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลมากขึ้นว่าสมเหตุสมผล หรือไม่สมเหตุสมผลอย่างไร

สามารถอ่านเรื่อง หน้าตา ‘ความยากจน’ ของแต่ละประเทศทั่วโลก ได้ที่  https://www.agenda.co.th/featured/what-poverty-look-like-in-these-countries/

ที่มา:

http://rs.mfu.ac.th/obels/?p=1425

https://www.nstda.or.th/nac/2018/images/12_BigData_Wanchat.pdf

https://www.thoughtco.com/poverty-3026458

– TKW EP9 ความจน 8 แบบ ประเทศไทยมีครบ ‘Poverty’,https://www.youtube.com/watch?v=sPp3-TkuxfU

– การพัฒนาระหว่างประเทศในมุมมองสาขาวิชา IR, อ.ดร.เบญจมาศ นิลสุวรรณ- https://www.continued.com/early-childhood-education/ask-the-experts/what-different-types-poverty-23759

Exit mobile version