Home Social สรุปหน้าตาความยากจน ของแต่ละประเทศทั่วโลก

สรุปหน้าตาความยากจน ของแต่ละประเทศทั่วโลก

แง่มุมของการเป็น ‘คนจน’ ในแต่ละประเทศ ทั้งในประเทศที่จนที่สุด จนมากขนาดไหน ในประเทศไทย พื้นที่ไหนยากจนที่สุด ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง มีคนจนรึเปล่า แล้วคนจนของเกาหลีใต้แบบในภาพยนตร์ Parasite มีอยู่จริงไหม?

0

ความยากจนสำหรับคุณหมายถึงอะไร?

ธนาคารโลก ได้กำหนดเส้นความยากจนของเอาไว้ว่า หมายถึงคนที่มีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 1.9 เหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 60 บาทต่อวัน

ลองนึกดูว่า ถ้าต้องใช้ชีวิตด้วยเงินไม่ถึงวันละ 60 บาท สภาพชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร?
แต่ความยากจนระดับนี้ เราจะนึกถึงแต่ประเทศที่ดูแร้นแค้นเท่านั้น และรู้สึกว่ามันอาจไม่ไกลตัว

AGENDA เลยอยากรวบรวมแง่มุมของการเป็น ‘คนจน’ ในแต่ละประเทศ ทั้งในประเทศที่จนที่สุด จนมากขนาดไหน ในประเทศไทย พื้นที่ไหนยากจนที่สุด ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง มีคนจนรึเปล่า แล้วคนจนของเกาหลีใต้แบบในภาพยนตร์ Parasite มีอยู่จริงไหม?

มาลองจินตนาการกันดูว่า ชีวิตจะเป็นยังไง
หากต้องเป็นคนจนในประเทศเหล่านี้?

ไทย – รวยกระจุก จนกระจาย

ในปี 2558- 2561 อัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8
จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คนเป็นมากกว่า 6,700,000 คน
อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560

ทำไมคนไทยจนมากขึ้น?

ปัญหาหลัก มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเพียง 2.7% (ไตรมาส 4 ปี 2562)
ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสียอีก
ประกอบกับอาชีพเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้คนจนที่สุดของประเทศเกือบครึ่ง มีรายได้ลดลง ในขณะที่ภาวะความรุนแรงในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลต่อความยากจนของผู้คนในแถบนั้นอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นต้นตอปัญหาที่ชัดเจนที่สุดก็คือความเหลื่อมล้ำ ในปี 2018 ไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก
สิ่งที่ชัดที่สุดคือการเข้าถึงโอกาสของเยาวชนแต่ละภูมิภาค เทียบกับเมืองหลวง

เด็กในกรุงเทพฯ ที่มีอายุระหว่าง 6 – 14 ปีมากกว่าครึ่ง
สามารถเข้าถึงโอกาสครบได้ทุกด้าน (อาทิ การศึกษา สินทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน)
แต่เมื่อเทียบกับเด็กในภาคอีสาน ที่มีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะได้รับโอกาสเดียวกันนี้

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของไทย
เพราะถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต แต่ไม่ได้แปลว่าความรวยนั้นจะไหลรินลงมายังผู้คนที่ไร้โอกาสมากพอที่จะลืมตาอ้าปากได้

เซาท์ซูดาน – ประเทศที่จนที่สุดในโลก

ในปี 2019 เซาท์ซูดานมีคนจนกว่า 9 ล้านคน จากประชากร 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 82% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้เซาท์ซูดานเป็นประเทศที่จนที่สุดในโลก

หากบอกแค่ว่าจนที่สุด อาจไม่เห็นภาพชัด แต่ถ้าบอกว่าประชากรของเซาท์ซูดาน 44% ขาดแคลนอาหาร ประชาชนกว่า 4 ล้านคน หรือ 33% ต้องเดินด้วยเท้ากว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อไปหาแหล่งน้ำดื่ม เด็กๆ 17% ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ประชากร 67% อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และอีกกว่า 80% ไม่มีแม้แต่ห้องน้ำใช้

โดยต้นตอปัญหาความยากจนนี้ มาจากความขัดแย้งเรื่องน้ำมันระหว่างประเทศเซาท์ซูดานกับประเทศซูดาน ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน สถานการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนอาจไม่มีวันดีขึ้นเลย

เกาหลีใต้ – ที่พักคับแคบ คนชราไม่เคยได้หยุดพัก

แม้เกาหลีใต้จะถูกพูดถึงในแง่มุมความบันเทิงและเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่
แต่เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกตีแผ่ออกมาในภาพยนตร์ Parasite
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและคนจนในเกาหลีใต้ก็เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง

แม้เกาหลีใต้จะเจริญมาก แต่ความเจริญนั้นก็กระจุกอยู่แต่ในพื้นที่เศรษฐกิจเท่านั้น
หนุ่มสาวจำนวนมาก ต้องอพยพเข้ามาแสวงหางานและรายได้ในเมืองหลวง
แต่ไม่สามารถหาที่พักอาศัยดีๆ ได้ เพราะค่าที่อยู่อาศัยนั้นแพงมาก การจะเช่าอพาร์ทเมนต์หรือคอนโดดีๆ ต้องอาศัยเงินวางมัดจำก้อนใหญ่ ที่พักกึ่งใต้ดิน (พันจีฮา) แบบใน Parasite จึงเป็นทางเลือกแม้จะแทบไม่มีแสงส่องถึง หรือหาที่พัก ‘ซุกหัวนอน’ แบบโกชีวอนที่ไม่มีห้องน้ำในตัว มีเพียงเตียงและที่ข้างเตียง

เกาหลีใต้ก็ไม่เหมาะกับคนสูงวัยเช่นกัน นโยบายดูแลคนแก่ของเกาหลีใต้นั้นไม่จริงจังมากพอ ทำให้ผู้สูงวัยจำนวนมากกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ ต้องยังชีพด้วยการเก็บขยะ หรือแม้แต่ขายบริการทางเพศตามสวนสาธารณะ

ฮ่องกง – ลึก ๆ คือสังคมที่ไม่เท่าเทียม

ปัญหาหลักของฮ่องกงสำหรับคนรายได้น้อย ก็คือ ‘ที่อยู่อาศัย’ เช่นกัน
ถ้าโกชีวอนของเกาหลีใต้แทบจะไม่มีที่วางของ ที่อยู่อาศัยของฮ่องกงที่คนรายได้น้อยพอจะหาได้ ก็คือ ห้องแบบ ‘โลงศพ’ ขนาดเพียง 5 ตารางเมตร ซึ่งถูกตัดแบ่งจากห้องปกติ

หากอยากอยู่อาศัยแบบพอมีที่ขยับตัว ค่าเช่าคอนโดมีเนียมก็อยู่ที่ราวๆ เดือนละหนึ่งแสนบาท

ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ราคาสูงเสียดฟ้านี้ มาจากการที่ประชากรฮ่องกง 7.5 ล้านคน ต้องอยู่ในพื้นที่เมือง 285 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 26 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น และประชากรที่ยากจนของฮ่องกง ก็มีสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด

จากปัญหาที่ดูทับถมนี้ รัฐบาลฮ่องกงกลับขยับเส้นแบ่งความยากจนขึ้น ทำให้คนจนดูน้อยกว่าความเป็นจริง และชี้ว่าปัญหาความยากจนของประเทศ เป็นเพราะสังคมสูงวัยเพียงอย่างเดียว

เม็กซิโก – กับวิกฤตที่อยู่อาศัยที่มีมาอย่างยาวนาน

บ้านกระดาษอาจดูน่าสนุกสำหรับเราในวัยเด็ก

แต่ในเม็กซิโกประชากร 34 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตและอาศัยอยู่ใน ‘ห้องกระดาษ’ หรือห้องที่สร้างจากกระดาษแข็งและพืชจำพวกกก แม้การมีที่อยู่อาศัยที่ดีจะเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกบรรจุลงในรัฐธรรมนูญของเม็กซิโก แต่การเข้าถึงสินทรัพย์เหล่านั้นกลับยังเป็นเรื่องยาก

จริงๆ แล้ว GDP ของเม็กซิโกโตเป็นอันดับ 15 ของโลก แต่ประชาชนมากกว่าครี่งหนึ่งของประเทศกลับยังยากจน เพราะปัญหารวยกระจุก

ขนาดที่ว่า มูลค่าของทรัพย์สินของคนที่รวยที่สุดในเม็กซิโก – คุณ Carlos Slim คิดเป็น 5% ของ GDP ในปี 2014 เพราะธุรกิจของ Calos กวาดส่วนแบ่งตลาดออนไลน์ของประเทศไปถึง 70%

ที่มา: World Bank, Washington Post, BBC, The Guardian, The Momentum, Posttoday, Workpointtoday, Business Insider, Aljazeera, South China Morning Post

Exit mobile version