Home Social เหลื่อมล้ำไม่มีวันเลิกรา! ถ้ารัฐฯ ไม่แก้ให้ตรงจุด ส่องนโยบายแต่ละประเทศ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ กันอย่างไร?

เหลื่อมล้ำไม่มีวันเลิกรา! ถ้ารัฐฯ ไม่แก้ให้ตรงจุด ส่องนโยบายแต่ละประเทศ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ กันอย่างไร?

0

เหลื่อมล้ำไม่มีวันเลิกรา! ถ้ารัฐฯ ไม่แก้ให้ตรงจุดส่องนโยบายแต่ละประเทศ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ กันอย่างไร?
.
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เป็นหนึ่งปัญหาที่เพิ่มความไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่คนรวย รวยเอา รวยเอา แบบฉุดไม่อยู่ คนจนก็จนลง จนลง แบบขุดไม่ขึ้น จึงเป็นปัญหาที่แก้ไม่หมดสักที
.
ทุกประเทศก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะลดภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ด้วยโครงการหรือนโยบายที่ต่างกันไป
.
#Agenda พาส่องโครงการหรือนโยบายแบบอินเตอร์ ที่รัฐจัดขึ้นมาเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ เผื่อว่าวันข้างหน้าเมืองไทยจะเอามาใช้ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เข้าใกล้ความจริงสักที

“อยู่เมืองใหญ่ ก็ช่วยพัฒนาเมืองไกลได้” – ญี่ปุ่น 🇯🇵

แม้ว่าญี่ปุ่น จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง ซึ่งสาเหตุเกิดจากการพัฒนาที่เข้าสู่ศูนย์กลางมากกว่ากระจายไปสู่ภูมิภาค แรงงานรุ่นใหม่เลือกที่จะทิ้งบ้านเกิดในต่างจังหวัด เข้าไปหางานที่ดีทำในเมืองกรุงและหัวเมืองเศรษฐกิจ ท้องถิ่นจึงถูกลดบทบาทความสำคัญลง
.
วิธีการสไตล์นิปปอน จึงเกิดโครงการ HomeTown Tax หรือ “ภาษีรักบ้านเกิด” ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่า “แม้ตัวเราจะอยู่ไกลจากชนบท ก็สามารถสนับสนุนการพัฒนาส่วนท้องถิ่นได้” หากประสบความสำเร็จ ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล ก็จะเติบโต เกิดการกระจายรายได้ ความเจริญ และดึงคงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนได้
.
โครงการ HomeTown Tax โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่ได้รับความนิยม กระทั่งปี 2557 มีการปรับกลไลการทำงาน ให้สะดวก ง่าย และใช้ได้จริง โดยทำทุกอย่างแบบ One-Stop Service ไม่ต้องเดินเรื่องทำเอกสารให้วุ่นวาย และผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถลดหย่อนภาษีได้มากกว่าเกณฑ์ทั่วไป 2 เท่า
.
นอกจากนี้ ผู้ที่ส่งเงินภาษีไปพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆ จะได้รับของสมนาคุณประจำแต่ละพื้นที่ให้เป็นการตอบแทน ซึ่งของเหล่านี้ก็จะเป็นของดีประจำที่นั้น ๆ หลายคนอยากที่จะสะสม ก็ยิ่งทำให้มีแรงจูงใจบริจาคมากขึ้น
.
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ เกิดการกระจายความเจริญไปยังหัวเมือง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง ได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้น สำหรับการลงทุนพัฒนาเมือง นำไปสู่การจ้างงานมากขึ้น สนับสนุนเกษตรกร สร้างสวัดิการผู้สูงอายุและเด็ก หรือเงินเก็บสำรองกรณีเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เพิ่มรายได้ให้แก่คนในต่างจังหวัดให้ลืมตาอ้าปากได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาต่อสู้กับค่าครองชีพสูงในเมืองใหญ่
.
ปัจจุบัน โครงการ HomeTown Tax ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมาทดลองทำในประเทศตนเอง

“SME & Startups สร้างธุรกิจใหม่ ไฟว้กลุ่มทุน” – เกาหลีใต้ 🇰🇷

เกาหลีใต้ เป็นอีกประเทศพัฒนาแล้วที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง โดยเฉพาะในเมืองหลวง ที่คนจนก็จนมาก ต้องต่อสู้กับค่าครองชีพแพงหูฉี่ ทั้งนี้เพราะโครงสร้างทางสังคมถูกผูกขาดจากกลุ่มทุนใหญ่ (แชบอล) มานานหลายศตวรรษ
.
วัยหนุ่มสาวจบใหม่ขนานนามเมืองใหญ่ว่า “นรกโซช็อน” เพราะมีอัตราการแข่งขันสูงทั้งการทำงานและการเรียน (เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการแข่งขันทางการศึกษาสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก) เมื่อต่างคน ต่างแก่งแย่งแข่งขัน บนพื้นที่งานอันจำกัด ทำให้บางคนล้มแหลว ตกงาน ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ขาดรายได้
.
เพราะตำแหน่งส่วนใหญ่ผูกขาดอยู่กับธุรกิจคนรวยหรือกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งต้องการคนที่ดีที่สุด เข้าไปทำงาน ในขณะที่ค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าที่พัก เช่น กรุงโซล ราคาแพง ชนชั้นกลางสู้ไม่ไหว เพราะงานก็หายาก และรายได้ก็ไม่เพียงพอ
.
แนวทางสู้ความเหลื่อมล้ำรายได้ของเกาหลีใต้ จึงล้อไปกับนโยบายที่ต้องการผลักดันประเทศเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีการจัดตั้งกระทรวง SME & Startups ขึ้นมา และให้งบประมาณภาษีมหาศาลเพื่อสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้มีจำนวนมากขึ้น เติบโตพอที่จะสู้กับทุนใหญ่ผูกขาด
.
เพราะเมื่อธุรกิจมากขึ้น เท่ากับความต้องการจ้างแรงงานก็จะมีมากขึ้น และทำให้เกิดการกระจายรายได้ตามมา ในขณะที่รัฐก็วางตัวเป็นผู้ผลักดัน จัดสวัสดิการพื้นฐาน ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ให้เอื้อต่อการเติบโตของ SME & Startups
.
เรียกว่า “ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง” เพราะนอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้แล้ว ประเทศก็จะได้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของต่อไป แม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้ก็สามารถผลิตยูนิคอร์นได้ถึง 12 ตัว และกำลังผลักดันไปสู่ 20 ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะทำให้คนมีงานทำอีกหลายพันตำแหน่ง

“จะรวยหรือจน ใช้สวัสดิการมาตรฐานเดียวกัน” – สวีเดน 🇸🇪

สวีเดน เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่มีระบบการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าและสูงขึ้นประมาณ 60-70 % ของรายได้ อย่างไรก็ดีภาษีที่แพง ก็แลกมาด้วยสวัสดิการที่ดีอย่างเท่าเทียม หรือกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “สวีเดนทำคนรายได้เท่ากันไม่ได้ แต่ทำให้คนเท่าเทียมกันได้ โดยสวัสดิการมาตรฐานเดียวกัน”
.
รัฐสวัสดิการ เข้ามาเป็นตัวแปรในการแก้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนในประเทศ ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของรัฐสวัสดิการ คือ การสร้างความเชื่อมั่นว่าภาษีทุกบาททุกสตางค์จะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม
.
นอกจากนี้ รัฐปลูกฝังค่านิยมว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ หนึ่งในนั้นก็คือการหารายได้เพื่อส่งเข้าระบบภาษี เมื่อรัฐไว้ใจประชาชน และประชาชนเชื่อใจรัฐ จึงกลายเป็นความเข้มแข็งของสวัสดิการสังคม ความเหลื่อมล้ำในเชิงความเป็นอยู่จึงดีขึ้น
.
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ในระดับดีมาก มีระบบดูแลสุขภาพ การศึกษา บำนาญ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือเด็ก ฯลฯ และส่งผลทางอ้อมให้การพัฒนาประเทศดีขึ้น เพราะเมื่อผู้คนไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงในชีวิต ป่วยจะมีเงินรักษาไหม? แก่ตัวไปจะมีคนดูแลหรือเปล่า? คนจึงมีเวลาใช้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาตนเองมากขึ้น

เมืองผู้ดี เก็บภาษีคนรวย ช่วยอุดหนุนคนจน – อังกฤษ 🇬🇧

นอกจาก “อังกฤษ” จะมีภาพของเมืองที่สวยงามแล้ว ยังแฝงความเหลื่อมล้ำรายได้ในระดับ Top ของยุโรป เนื่องจากค่าครองชีพสูง มีปัญหาคนไร้ที่อยู่อาศัย คนตกงาน โดยเฉพาะพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ เช่น ลอนดอน รัฐบาลจึงมีแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยการปรับปรุงระบบภาษีใหม่
.
ภาษีแนวนอนและแนวตั้ง คือ แนวทางการคำนวณการจัดเก็บภาษีโดยวัดจากรายได้ของแต่ละคน
– หลักการภาษีแนวนอน คือ คนที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน อยู่ในระดับเดียวกับต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากัน และมากกว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า โดยจัดเก็บอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
– หลักการภาษีแนวตั้ง คือ คนที่มีรายได้น้อยกว่า จะถูกจัดเก็บภาษีต่ำกว่าคนที่รายได้สูง เพื่อลดผลกระทบทางการเงิน และมีระบบจัดเก็บเงินออมสำรองไว้ยามเกษียณ
.
หลักจากการจัดเก็บภาษีแนวนอน X แนวตั้ง จะถูกบริหารจัดการเพื่อนำงบประมาณมาอุดหนุนและช่วยเหลือชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นหลัก ตัวอย่างของภาษีคนรวยที่สูงขึ้น เช่น คนรวยที่มีทรัพย์สินและรายได้สูง จำเป็นต้องเสียภาษีสูง โดยเฉพาะภาษีมรดก ซึ่งสูงกว่า 40 % เพื่อไปดูแลคนมีรายได้น้อย.
รัฐสร้างระบบสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนการศึกษา การอุดหนุนจับจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค การประกันสุขภาพ ส่วนลดค่าที่อยู่อาศัย และมีการนำเงินภาษีเข้ากองทุนออมทรัพย์สำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นระบบบำนาญอัตโนมัติ ออมเงินเพื่อเกษียณ

“เพิ่มอำนาจแรงงาน คานอำนาจนายจ้าง” – แคนาดา 🇨🇦

แคนาดาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชาติพันธ์ุ แต่ความหลากหลายนี้มีผลกระทบต่อรายได้ เนื่องจากยังมีการกีดกันและเหยียดเชื้อชาติ ทำให้แรงงานไม่ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม
.
แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานผิดกฎหมายยอมถูกกดค่าจ้างเพื่อให้มีรายได้ เมื่อผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น แต่แรงงานกลับไม่ได้รับการขึ้นค่าแรง จนมีปัญหาค้างคาเรื่องความเหลื่อมล้ำรายได้
.
รัฐบาลแก้ไขความเหลื่อมล้ำผ่านการเสริมความแข็งแรงของแรงงาน ตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับนายทุน และปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง ปราบปรามการเหยียดเชื้อชาติ และการจ้างแรงงานผิดกฎหมายแบบกดขี่
.
นอกจากนี้ รัฐยังพยายามผลักดันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยวิเคราะห์เทียบกับอัตราเงินเฟ้อในแต่ปี เพื่อให้ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างอาชีพและอบรมแรงงานชาติพันธ์ุ ผู้อพยพ ให้มีทักษะสูงขึ้นเพื่อเข้าถึงโอกาสการทำงาน
.
ปรับปรุงประกันสังคมให้ทันสมัย โดยยกระดับให้แรงงานทุกกลุ่มทุกระดับสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน มีรายได้มากหรือน้อย รวมทั้งเข้ามาแทรกแซงตลาดแรงงาน ให้นายจ้างปันกำไรจากผลประกอบการมาเป็นค่าแรงให้แก่แรงงานมากขึ้นอีกด้วย

ที่มา : TNN Online, WorkPointToday, The101.world, Economicsonline, Monitormag.ca, Socialeurope.eu, Newstatesman

Exit mobile version