Home Lifestyle Fun Gen Y Why always me? : 8 ปัญหาที่ Gen Y ต้องเผชิญในยุคนี้

Gen Y Why always me? : 8 ปัญหาที่ Gen Y ต้องเผชิญในยุคนี้

0

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิเคราะห์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า กลุ่มคน Gen Y จะกลายเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนไปจากอดีต เนื่องจากได้รับการศึกษาสูงขึ้นมากกว่าคน Gen อื่นๆ มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี มีทักษะสูง เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีพฤติกรรมการทำงานที่เน้นความเป็นอิสระ 

.

นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขาดการตระหนักในเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคต มีแนวโน้มในการแต่งงานช้าและให้ความสำคัญกับการมีบุตรน้อยลง และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพน้อยลง เนื่องจากการทำงานหนักและยากต่อการสร้าง Work-Life Balance ให้เป็นไปอย่างราบรื่น

.

อีกทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบัน ส่งผลให้คน Gen Y ต้องแบกรับภาระและความกดดันต่างๆ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน เกิดเป็นปมปัญหาที่คอยหน่วงและฉุดรั้งประสิทธิภาพและการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ของคน Gen Y

.

#Agenda ชวนวิเคราะห์ 8 ปัญหาที่น่าปวดหัวของคน Gen Y จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามได้พร้อมกัน

.

จากเด็กยุคเปลี่ยนผ่าน สู่วัยทำงานที่ต้องปรับตัว

Gen Y คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1981-1996 ซึ่งปัจจุบันจะมีอายุระหว่าง 26-41 ปี ซึ่งเติบโตมากับการใช้เทคโนโลยีเป็นกลุ่มแรกๆ (Digital Native) ทำให้คุ้นเคยและเข้าใจเทคโนโลยีจากยุคแอนะล็อกสู่ดิจิตอลอย่างเต็มตัว จำเป็นต้องมีการปรับตัว Upskill & Reskill อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ถูกแทนที่ด้วยคน Gen Z ที่พร้อมเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร

.

รับคำสั่ง Gen X และ Boomer เพื่อ manager เด็กดื้อ Gen Z 

ด้วยภาระงานของคน Gen Y ที่ส่วนใหญ่มีนายจ้างหรือหัวหน้าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วง Baby Boomer และ Gen X ทำให้ถูกปฏิบัติในลักษณะของการสั่งงานแบบ Top-down ที่เน้นออกคำสั่ง แต่ไม่เน้นช่วยเหลือ ในขณะที่เมื่อต้องทำงานหรือเป็นหัวหน้างานของพนักงาน Gen Z ก็จะต้องพบเจอกับการทำงานแบบรักความเป็นอิสระ ไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอนในการทำงาน และพร้อมโต้เถียงเมื่อไม่เห็นด้วยตลอดเวลา

.

Work Life ไม่เคย Balance 

แม้จะเป็นเทรนด์ที่คนวัยทำงานให้ความสำคัญ แต่สำหรับคน Gen Y การทำงานแบบ Work-Life Balance นั้นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะด้วยภาระรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องทำงานหนักและมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยสูงถึง 48 ชม.ต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังต้องทำงานนอกเวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จึงทำให้โอกาสที่จะหาเวลาพักผ่อนหรือไปท่องเที่ยวของคน Gen Y มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น หรืออาจเป็นช่วงเทศกาลที่มีคนท่องเที่ยวมาก แต่เป็นการเที่ยวที่ไม่ได้รู้สึกพักผ่อนเท่าที่ควร

.

หลายโรครุมเร้า เศร้าทั้งใจ เศร้าทั้งกาย

ด้วยการทำงานที่หนักและเต็มไปด้วยความคาดหวังสูง คน Gen Y จึงอาจเกิดปัญหาสุขภาพจากการทำงานได้ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า อัตราการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าของคน Gen Y มีมากถึง 19% และการสูญเสียการได้ยินจากการใช้อุปกรณ์ เช่น หูฟัง หรือเปิดลำโพงเสียงดัง รวมไปถึงโรคอ้วน ที่พบว่าคนที่เกิดยุคมิลเลนเนียมมากกว่า 70% มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ซึ่งเมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่ของตัวเอง รวมไปถึงโรคออฟฟิศซินโดรมที่เกิดขึ้นจากการนั่งทำงานอีกด้วย

.

ภาระผูกพัน มีความฝันแต่ไปไม่ถึง

ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคน Gen Y จำนวน 500 คน พบว่า 84% มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อขยายครอบครัวและหาที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน และต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ด้วยเหตุผลจากครอบครัว ที่คาดหวังการดูแลเมื่อเข้าสู่วัยชรา ซึ่งต้องเตรียมค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายารักษาโรค ทำให้เป้าหมายของการเก็บเงินของคน Gen Y มีครอบครัวเข้ามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

มีลูกแล้วเลี้ยงได้ไม่ดี ขอไม่มีดีกว่า

ด้วยอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลง 7.28% จากปี 2020 อีกทั้งค่านิยมการมีลูกที่คน Gen Y มองว่าการมีลูกจะสร้างค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยที่ 33,000 บาท/คน และทำให้สูญเสียอิสระการใช้ชีวิต คน Gen Y จึงมีความคิดที่จะชะลอการมีลูกออกไปจนกว่าชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวจะลงตัวมากกว่านี้

.

ขยันสร้างหนี้ แต่ก็อยากมีบำนาญชีวิต

ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้สะสมและหนี้เสียสูงที่สุด โดยมียอดหนี้รวมทั้งประเทศจากกลุ่มนี้ถึง 4.5 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเป็นหนี้เสียสะสม 3 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีกำลังซื้อสูง แต่ภาระหนี้สินก็สูงตามไปด้วย เพราะคน Gen Y ค่อนข้างมีความรู้ทางการเงิน จึงไม่มีความกลัวที่จะก่อหนี้ ซึ่งสวนทางกับแนวคิดที่ต้องการความมั่งคั่งและการมีอิสรภาพทางการเงิน อีกทั้งยังมีพฤติกรรมชอบซื้อของฟุ่มเฟือย หรือความเชื่อที่ว่า ‘ของมันต้องมี’ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของคน Gen Y ตามมา

.

อนาคตแรงงานหลัก แต่ภาครัฐยังดูแลไม่ดีพอ

แม้จะเป็นแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุดของประเทศในอนาคต แต่กลับมีมุมมองต่อนโยบายรัฐในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ ข้อมูลจาก TDRI ระบุว่า คนรุ่น Gen Y ไม่ค่อยไว้วางใจรัฐในการดำเนินนโยบายสาธารณะ โดยมองว่ารัฐยังขาดการสนับสนุนโครงการพื้นฐานในการพัฒนาแรงงาน เช่น การสร้างและจัดบริการห้องสมุดที่มีคุณภาพให้เด็ก รวมถึง 34% มองว่าคน Gen Y ขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรี เป็นต้น

.

กล่าวได้ว่า แม้กลุ่มคน Gen Y จะมีความสำคัญในตลาดแรงงานของประเทศในอนาคต ด้วยลักษณะนิสัยที่เป็นกลุ่มคนยุคเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกสู่ยุคดิจิตอล เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมปรับตัวตลอดเวลา แต่ก็ยังต้องพบเจอความกดดันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังขาดการสนับสนุนคน Gen Y จากภาครัฐ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การที่คนทุก Generation ให้ความสำคัญและเคารพต่อทัศนคติของคน Gen Y พร้อมสนับสนุนและแนะนำสิ่งที่ถูกต้องโดยปราศจากอคติ จึงจะช่วยให้คน Gen Y รู้สึกว่าตนเองสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้ตามที่คาดหวัง ในขณะที่คนรอบข้างเข้าใจและพร้อมสนับสนุนได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

.

Sources : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, SCB, TDRI, กรุงเทพธุรกิจ, Brandthink, Forbes, Palagrit, PPTV, Teamstage, Livecareer, The Growth Master

Exit mobile version