Home Social 7 เมืองเศรษฐกิจต้องสาป ! แห่งเอเชียเสี่ยงจมบาดาลปี 73 กรุงเทพฯ ยืนหนึ่งกระทบหนักสุด

7 เมืองเศรษฐกิจต้องสาป ! แห่งเอเชียเสี่ยงจมบาดาลปี 73 กรุงเทพฯ ยืนหนึ่งกระทบหนักสุด

0

บ้านฉันจะจมน้ำไหม ? 7 เมืองเศรษฐกิจต้องสาป ! แห่งเอเชีย

เสี่ยงจมบาดาลปี 73 กรุงเทพฯ ยืนหนึ่งกระทบหนักสุด 🌊

‘เมืองกำลังจม’ ประโยคคำเตือนถึงเมืองชายฝั่งทั่วโลกที่หลายคนคงไม่เชื่อว่า ‘จะเกิดขึ้นจริง’ เพราะปัจจุบัน ทุกอย่างยังแลดูปกติ แม้จะมีน้ำท่วมจากมรสุมฝนตกหนักอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็แห้งไปอยู่ดี

การศึกษาจากหลายองค์กรชี้ไปทางเดียวกันว่าเมืองชายฝั่งทั่วโลกกำลังค่อย ๆ จมลงอย่างช้า ๆ จนไม่ทันสังเกตความผิดปกติ รู้ตัวอีกทีเมืองก็อาจจะจมทะเลโดยไม่รู้ตัว เบื้องต้น คือ ปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573 ที่จะเห็นผลกระทบชัดเจน โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจสำคัญ ๆ มูลค่าความเสียหายมหาศาล

สาเหตุของการจมน้ำ 3 สาเหตุ คือ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อนาคตมรสุมพายุฝนจะหนักและนานยิ่งขึ้น แต่ปริมาณน้ำจะไม่สามารถระบายลงทะเลได้เร็วเหมือนเดิม 2) การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกทำให้น้ำทะเลเริ่มกินพื้นที่มาสู่บนบกมากขึ้น และ 3) แผ่นดินเมืองทรุด หลายเมืองไม่คิดมาก่อนว่าเสี่ยงจมทะเล การขยายเมืองสร้างอาคารและการสูบน้ำบาดาลส่งผลพื้นดินทรุดตัวต่ำลงเฉลี่ย 1-15 เซนติเมตร/ ปี

สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ น้ำฝนจากฟ้าจะตกลงมากขึ้นและไหลมาสู่ที่ต่ำเพื่อออกทะเลที่พื้นที่เมืองชายฝั่ง แต่น้ำทะเลเพิ่มปริมาณจนกินพื้นที่ขึ้นมาบนพื้นดิน ประกอบกับเมืองชายฝั่งที่ทรุดต่ำลง บรรดาเมืองเหล่านั่นจึงจะเป็นแอ่งชั้นดีที่จะรับน้ำจากทั้งทะเลและบนบก จนกลายเป็น ‘เมืองจมน้ำ’ ในที่สุด 💦


ข้อมูลที่ตีพิมพ์ใน Nature คาดการณ์ว่าจะมีประชากรได้รับผลกระทบกว่า 1.8 พันล้านคน ส่วนงานวิจัยจากวารสาร Geophysical Research Letters กล่าวว่าพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ โซนเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม รวมถึงไทย หลายประเทศเริ่มวางแผนเพื่อให้รอดพ้นภัยพิบัตินี้ ถึงขั้นที่อินโดนีเซียประกาศย้ายเมืองหลวงจาก ‘จาร์กาต้า’ ไป ‘นูซันตารา’ แล้ว

การศึกษาของ Greenpeace เมื่อปี 2021 ได้เผยถึง 7 เมืองในเอเชียที่จะกระทบหนักและก่อนใคร ล้วนแต่เป็นเมืองสำคัญ มีประชากรหนาแน่น และเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่ง #Agenda จะพาไปสำรวจกันว่ามีที่ไหนบ้าง สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร และแผนรับมือมีอะไรบ้าง ไปติดตามกัน 🏢


กรุงเทพมหานคร 🇹🇭 

เมืองหลวงของไทยกำลังรั้งอันดับ 1 เมืองเสี่ยงจมน้ำและกระทบหนักที่สุดในเอเชีย แม้จะมีคำเตือนออกมาอยู่เนือง ๆ แต่ดูเหมือนจะยังไม่เห็นนโยบายเป็นรูปธรรมที่จะป้องกันการจมอย่างยั่งยืน คนยังติดภาพน้ำท่วมจากฝนตกหนักจนมองข้ามการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ในระยะยาวอาจร้ายแรงเกิดจินตนาการ

พื้นดินของ กทม. เป็นที่ดินอ่อนและ  96% เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หลายสิบปีที่การขยายเมืองเกิดเป็นตึกสูงและการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ยิ่งทำให้พื้นดินทรุดตัวลง ในอนาคตเราอาจจะเห็นภาพน้ำจากฝั่งทะเลท่วมเข้ามาในเมือง ไม่ใช่เพียงน้ำท่วมจากน้ำฝนหรือน้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา

Greenpeace วิเคราะห์ว่า ปี 2573 มีแนวโน้ม ‘สัปปายะสภาสถาน’ รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อาจมีคนเดือนร้อนถึง 10.45 ล้านคน อาจคิดป็นมูลค่าเสียหายสูงถึง 19 ล้านล้านบาท ขณะที่ The New York Times เคยรายงานผลวิจัยจาก Climate Central ว่ามีความเป็นไปได้ว่าอนาคตกรุงเทพมหานครทั้งหมดจะจมอยู่ใต้ทะเล ถ้ายังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง

แนวทางการรับมือ นอกจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝนและน้ำเหนือ กทม. จะเร่งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น สร้าง Risk Map ใช้ร่วมกันเพื่อการบริหารจัดการน้ำท่วม ป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งด้วยเขื่อนกั้นน้ำสูง 3 เมตร และออกกฎหมายเข้มงวดห้ามการสูบน้ำบาดาล สิ่งสำคัญ คือ การกระจายความเจริญไปสู่ภายนอกมากขึ้นเพื่อลดความหนาแน่นของประชากรและการสร้างอาคาร


กรุงจาการ์ตา 🇮🇩 

แต่ละปีจาการ์ตาเผชิญอุทกภัยหลังฝนตกหนักไม่แพ้กรุงเทพฯ และยังมีอาณาเขตไม่ไกลจากทะเล จึงมีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาน้ำทะเลทั่วเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะมีการระบายน้ำใต้ดินมากจนเกินไป แต่ละปีพื้นดินของเมืองทรุดลงเฉลี่ย 1 – 15 เซนติเมตร/ปี ส่วนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอาจจมไปถึง 4 เซนติเมตร


พื้นที่เสี่ยงที่สุดของเมือง คือ ทางเหนือ ในอนาคตปี 2573 หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั่วโลกละลาย น้ำทะเลท่วมพื้นที่บนบก อาจทำให้ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงถึงบริเวณอนุสาวรีย์แห่งชาติ และศาลาว่าการกรุงจาการ์ตา และห้างสรรพสินค้าตามแนวชายฝั่ง เกิดเป็นความเสียหายประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท เมืองจาร์การตามีประชาชนหนาแน่นมาก คาดว่าจะมีผู้คนเดือดร้อนกว่า 1.8 ล้านคน

น้ำท่วมเมือง พื้นดินทรุด และการขยายตัวของเมืองที่เกินรับไหว อินโดนีเซียตัดสินใจโยกย้ายเมืองหลวงของจาก ‘จาการ์ตา’ ไปยัง ‘นูซันตารา’ แต่ปัญหาความยากจนและความผูกพันทำให้ผู้คนไม่พร้อม รัฐบาลมีการสร้างแฟลตเพื่อส่งเสริมการย้ายถิ่นฐาน และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องน้ำทะเลท่วมด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง และออกกฎหมายควบคุมการใช้ทรัพยากรใต้ดินบรรเทาสาเหตุการทรุดตัว


กรุงโตเกียว 🇯🇵

โอกาสของโตเกียวที่จะจมน้ำเกิดจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนปิดกั้นการไหลของแม่น้ำทำให้เอ่อล้นท่วมพื้นที่เขตเมือง จากการศึกษาพบว่ามีกว่า 13% ของพื้นที่เสี่ยงจมน้ำในปี 73 ประกอบกับที่ตั้งของเมืองมีโอกาสเผชิญพายุมรสมมากขึ้น น้ำฝนที่เกินควบคุมจะยิ่งทำให้โตเกียวต้องแช่น้ำนานกว่าที่เคยเป็น

หากปี พ.ศ.2573 น้ำทะเลสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ พื้นที่ทางตะวันออกระหว่างแม่น้ำอาราคาวะและแม่น้ำเอโดงาวะ จะได้รับผลกระทบหนัก หากเลวร้ายมากขึ้นน้ำอาจท่วมกินพื้นที่เมืองไปได้ถึงบริเวณ Tokyo Tower สวนสาธารณะ Kasai Rinkai หรือ Tokyo Sea Life Park คาดการณ์ความเสียหายราว 2.6 ล้านล้านบาทและมากถึง 0.83 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี กรุงโตเกียวเกิดน้ำท่วมไม่บ่อย แต่เกิดแต่ละครั้งจะค่อนข้างหนัก รัฐบาลจึงมีการวางแผนไว้ค่อนข้างดีในการหาพื้นที่รับน้ำ หนึ่งในนั้นคือ ‘อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ’ ที่ใช้ไซโลขนาดใหญ่กักเก็บน้ำไว้ใต้ดินรอการระบายเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ เริ่มมีการกั้นพนังรอบบริเวณริมแม่น้ำที่น้ำเสี่ยงทะลักล้นท่วม และเสริมบล็อคคอนกรีตเพื่อความคงทนในระยะยาว


กรุงไทเป 🇹🇼

อ้างอิงจากการวิเคราะห์ของ Greenpeace ไต้หวันมีแนวโน้มเจอกับพายุไต้ฝุ่นที่มีอัตราความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และมักก่อให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงตามพื้นที่ชายฝั่งของกรุงไทเป พื้นที่เสี่ยงจมในปี 2573 ได้แก่ บริเวณริมแม่น้ำตั้นสุ่ย และจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น หากจังหวะตรงกันกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

น้ำที่เอ่อท่วมเมืองจะสร้างความเสียหายแก่สถานีกลางไทเป ทำลายระบบการคมนาคมของเมือง รวมถึงเขตประวัติศาสตร์ต้าถง ประเมินว่าประชาชนกว่า 5 แสนคนจะได้รับความเดือนร้อน ในฐานะเมืองเศรษฐกิจชั้นนำอาจมีความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ราว ๆ 109.38 ตร.กม.

ที่ผ่านมา กรุงเทไปเน้นการบริหารจัดการพื้นที่บนบกด้วย 2 หลักการ คือ 1) การสะสม หมายถึง การสร้างพื้นที่เพื่อใช้รองรับน้ำไว้ก่อน (Floodways) เช่น สวนสาธารณะ จัตุรัส เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเมือง และอาจต่อยอดรีไซเคิลน้ำที่ท่วมเพื่อกิจการอื่น ๆ และ 2) การซึมผ่าน หมายถึง การให้น้ำไหลในแนวตั้งแทนที่จะเป็นแนวนอน และปล่อยให้น้ำบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการซึมผ่าน ขณะเดียวกันก็เติมน้ำบาดาลด้วย ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำสะสมอย่างรวดเร็วในที่แห่งเดียว ก่อนจะมีการเร่งระบายน้ำลงทะเลต่อไป 


กรุงมะนิลา 🇵🇭

การเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศให้ระดับน้ำทะเลในอ่าวมะนิลาสูงขึ้นเฉลี่ย 13.24 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งเริ่มกินพื้นที่มาบนบกมากขึ้น ประกอบกับแผ่นดินของกรุงมะนิลาก็กำลังทรุดตัวลงเฉลี่ย 10 ซม./ปี อันเนื่องมาจากการสูบน้ำบาดาล เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ถือเป็นอีกแห่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปัญหาเมืองจมทะเล

การศึกษาพบว่าชายฝั่งทะเลของกรุงมะนิลาเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความสูงน้อยกว่า 2-3 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่เกือบ 87% จึงจัดเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น โดยเมือง Malabon, Bulacan, Valenzuela และ Pasay City จะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายในอีก 30 ปีข้างหน้า ในอนาคตชายฝั่งเดิมอาจจมลงไปและเกิดชายฝั่งใหม่บริเวณใกล้กับเขตมากาติ 

น้ำท่วมใหญ่อาจมีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนได้รับผลกระทบ เสียหายราว 1.4 ล้านล้านบาท สำนักข่าว The Straits Times กล่าวว่าฟิลิปปินส์กำลังเดินบนเส้นทางสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีการลงทุนในการศึกษาวิจัยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มมีการผลักดันการขยายเมืองไปสู่ชานเมืองมากขึ้น โดยจะมีการวางแผนสร้างสถานีระบายน้ำเพื่อความยั่งยืนต่อไป


ฮ่องกง 🇭🇰

โดยปกติฮ่องกงจะเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อนราว 5-7 ลูกต่อปี ซึ่งส่งผลให้เกิดคลื่นสูงซัดเข้าสู่ชายฝั่งหากในอนาคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้น้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงซ้ำรอยเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่า 3 เมตร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง


สถานที่สำคัญที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Mai Po กว่าครึ่งเป็นป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ฮ่องกงล้อมรอบด้วยภูเขา หากมีปริมาณน้ำเหนือ / น้ำฝน มาพร้อมช่วงน้ำทะเลหนุน จะทำให้น้ำท่วมขังและยากต่อการระบายมากที่เคยเผชิญในอดีต ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาทและผู้คนได้รับผลกระทบถึงมากถึง 90,000 คน

ฮ่องกงจัดแผนการป้องกันน้ำท่วมเป็น 3 แนวทาง คือ 1) ต้นน้ำ – การสร้างอุโมงค์สกัดกั้นสตอร์มวอเตอร์เป็นถังเก็บน้ำใต้ดิน 2) กลางน้ำ – จัดหาถังเก็บน้ำฝนกลางน้ำ และ 3) ปลายน้ำ – ปรับปรุงระบบระบายน้ำ เน้นการใช้ธรรมชาติป้องกันธรรมชาติ โดยพื้นที่ที่สีเขียวขนาดใหญ่ให้มีพื้นที่ซึมซับน้ำลงสู่ใต้ดินและพักน้ำชั่วคราว เน้นการไหลของน้ำตามธรรมชาติและจัดการขยะที่ทับทบจนขวางทางน้ำไหล


กรุงโซล 🇰🇷

การศึกษาเชิงพื้นที่พบว่า 3% ของกรุงโซลเป็นพื้นที่ต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น โดยจะยิ่งเห็นผลกระทบจากการที่น้ำทะเลสูงขึ้นชัดเจนในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะการไหลเอ่อท่วมจากแม่น้ำสายสำคัญ เช่น เขต Gangseo-gu บนฝั่งทางใต้ของแม่น้ำ Han และสองฝั่งแม่น้ำ Anyangcheon ขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

สถานที่ที่จะได้รับผลกระทบ เช่น สนามบินนานาชาติกิมโป อุทยานนิเวศวิทยาพื้นที่ชุ่มน้ำคังซอ อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งนอกจากจะกระทบชีวิตผู้คนแล้ว ยังอาจทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติสำคัญของเกาหลีอีกด้วย ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาทและประชากร 0.13 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ. 2573

หากจำกันได้ เดือน ส.ค. 2565 เกาหลีเพิ่งประสบน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 80 ปี โดยเฉพาะเขตกังนัมซึ่งทำให้มีการรื้อแผนการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนกลับมาอีกครั้ง เช่น การลงทุนสร้างสร้างอุโมงค์ใต้ดิน 1.5 ล้านล้านวอนเสร็จใน 10 ปี การสั่งห้ามสร้างที่พักใต้ดินเพราะทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงท่อระบายน้ำอย่างที่ควรจะเป็น การรื้อผังเมืองอีกครั้งเพื่อเพิ่มพื้นดินสำหรับซับน้ำมากขึ้นและควบคุมการสร้างอาคารโดยคำนึงถึงภัยพิบัติจากน้ำ

ที่มา : Greenpeace, The Standard, The Matter, PPTV Online, Urbancreature, C40Cities, Chinawaterrisk, The Straits Times, TNN thailand, TaipeiTimes, NYTimes, TheBangkokinsight, Geophysical Research Letters, Visualcapitalist, Picturing.Climatecentral

Exit mobile version