Home ECONOVERSE 6 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์จากท้องทะเลไทย ด้วยฝีมือมนุษย์

6 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์จากท้องทะเลไทย ด้วยฝีมือมนุษย์

0

ท้องทะเลเคยเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดูจะไร้ขีดจำกัดสำหรับมนุษย์ แต่เมื่อประชากรมนุษย์มากขึ้น การประมงพัฒนาขึ้นแต่ไม่ยั่งยืน ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น กลับกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ให้เร็วกว่าที่ควรจะเป็นถึง 114 เท่า

มีสัตว์กำลังสูญพันธุ์มากแค่ไหน?

โลกได้สูญเสียประชากรของสัตว์มีกระดูกสันหลังไปแล้วกว่า 60% นับจากปี ค.ศ.1970 ส่วนสิ่งมีชีวิตในทะเล ก็มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง 60% โดยเฉพาะสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ เช่น วาฬ ที่มีประชากรลดลง 90% 

ปริมาณการบริโภคปลาทะเลของมนุษย์เรา อยู่ที่แค่ 3% ต่อปีจากอาหารทั้งหมดที่กิน แต่สัตว์ทะเลกลับถูกคุกคามอย่างหนัก เพราะการทำประมงที่มากเกินไปอย่างไม่ยั่งยืน และสัตว์ทะเลบางชนิดยังถูกล่าตามความเชื่อดั้งเดิม ในการมาใช้เป็นยา เครื่องราง เครื่องประดับด้วย

สัตว์ที่พบได้ในท้องทะเลไทยมีความน่าเป็นห่วงหลายสายพันธุ์ วันนี้ #AGENDA ยกตัวอย่างสัตว์ทะเล 6 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์จากฝีมือมนุษย์มาให้ดูกัน

1. พะยูน

แต่ก่อนพะยูนพบได้มากในท้องทะเล น่านน้ำเขตอบอุ่นของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และมีการล่าพะยูนมาเป็นอาหาร นำหนังและส่วนอื่นๆ มาใช้งาน พร้อมทั้งยังมีความเชื่อว่าน้ำตาพะยูนทำให้โชคดี และเขี้ยวเป็นเครื่องรางนำโชค ปัดเป่าภัยต่าง ๆ ได้

เมื่อประชากรมากขึ้น มีการล่ามากขึ้น พะยูนก็เริ่มถูกล่าจนมีจำนวนลดลงอย่างมาก เพราะพะยูนเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาตั้งครรภ์นานนับปี แต่กลับถูกล่ามากเกินไปจนในตอนนี้ IUCN จัดให้พะยูนอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่วนในจีนพะยูนสูญพันธุ์ไปโดยปริยายแล้วจากการโดนล่า

นอกจากถูกล่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พะยูนใกล้สูญพันธุ์ ก็คือ หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทำให้พื้นที่หญ้าทะเลทั่วโลกลดลง 7% ทุกปี

การพบพะยูนติดเครื่องมือประมง หรือกินขยะพลาสติกจนเสียชีวิต ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนพะยูนลดลงด้วย

2. ปลาโรนิน

ปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ ถูกจัดให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งตามเกณฑ์ของ IUCN โดยไม่ได้ถูกล่าเพื่อกินประทังชีวิต แต่ถูกล่าเพื่อขายทำเป็นเครื่องประดับ เช่น หัวแหวน หรือตรงหนาม ถูกเอามาทำเครื่องรางนำโชค ป้องกันภัยต่างๆ ในราคาชิ้นละต่ำกว่าพันบาทหรือมากกว่า

นอกจากนี้ ปลาโรนินยังถูกจับเป็นพ่อแม่พันธุ์ในการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามอีกด้วย

3. ปลาฉลามเสือดาว

ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการพบปลาฉลามเสือดาว แต่ในตอนนี้ก็มีการพบเห็นลดลงอย่างมาก เนื่องจากถูกล่ามาใช้ในกีฬาตกปลา หูฉลามเกรดต่ำ สกัดวิตามินจากตับ หรือแม้แต่ถูกจับไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ และกระชังปลาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

การลดลงของปลาฉลามเสือดาว ทำให้ IUCN จัดให้ปลาฉลามเสือดาวอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

4. ปลากระเบนราหูยักษ์

ปลากระเบนราหูยักษ์เป็นปลากระเบนน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัว ด้วยรูปลักษณ์ที่ใหญ่และสวยงาม ทำให้มักถูกจับเพื่อไปแสดงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ นอกจากนั้นยังมีพบว่า ปลากระเบนราหูยักษ์ถูกล่าเพื่อขายในภัตตาคารอย่างผิดกฎหมาย และยังถูกล่าเอาเหงือกเพื่อใช้ทำยาจีนด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ปลากระเบนราหูยังถูกพบว่าได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมง หรือการท่องเที่ยวแบบไร้ความรับผิดชอบบ่อยๆ เช่นเดียวกับปลาฉลามวาฬ เนื่องจากมีขนาดตัวที่ใหญ่และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ปลากระเบนราหูมีจำนวนลดลงอย่างมาก และ IUCN จัดให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์

5. ปลากระเบนปีศาจ

ปลากระเบนปีศาจ พบได้ในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง มักถูกล่าเอาซี่เหงือกไปบดทำยาจีน โดยมีความเชื่อว่าช่วยรักษาระบบทางเดินหายใจได้ 

ปลากระเบนเหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการสูงในเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน รวมถึงกลุ่มชาวประมงในอินโดนีเซีย ศรีลังกา และเปรู โดยมีราคาเหงือกอยู่ที่ 4,600 – 8,700 บาทต่อกิโลกรัม แล้วแต่ขนาดของเหงือก

ในปี 2000 มีการซื้อขายเหงือกปลากระเบนถึง 900 ตัน และเพิ่มขึ้นถึง 3,300 ตันในปี 2007 และเหงือก 15 กิโลกรัม ใช้ปลากระเบนอย่างน้อย ๆ 25 ตัว

ปลากระเบนปีศาจถูกล่าจน IUCN จัดให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกันกับชะตากรรมของปลากระเบนราหูหรือปลากระเบนแมนตา

6. ปลาฉลามวาฬ

ปลาฉลามวาฬเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ได้รับผลกระทบจากฝีมือมนุษย์เช่นกัน โดยปกติ ฉลากวาฬจะพบได้ในทะเลเขตร้อนทั่วโลก ท้องทะเลภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประมาณร้อยละ 75 อีกร้อยละ 25 พบในมหาสมุทรแอตแลนติก การประเมินข้อมูลในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา ฉลามวาฬที่พบในเขตเอเชีย-แปซิฟิก ลดลงถึงร้อยละ 63 และถูกจัดให้อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ ตามเกณฑ์ของ IUCN

การที่ฉลามวาฬมีจำนวนลดลงส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทั้งถูกล่าเป็นอาหารอย่างเมนูหูฉลาม ที่เคยถูกพบว่าวางโชว์ในร้านอาหารกลางกรุงเทพอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งๆที่ฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวนตามกฎหมายไทย นอกจากนี้ ส่วนเนื้อกับน้ำมันของฉลามวาฬก็มีการซื้อขายในตลาดมืดเช่นกัน

นอกจากนี้ อันตรายของฉลามวาฬที่พบบ่อยๆ ก็คือติดเครื่องมือประมงจนบาดเจ็บ บอกช้ไและเสียชีวิต รวมถึงการท่องเที่ยวแบบไร้ความรับผิดชอบ เช่น การว่ายน้ำตัดหน้า ว่ายต้อน ให้อาหารหรือจับตัวปลา ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฉลามวาฬลดจำนวนลงเช่นกัน เพราะอาจะทำให้ปลาโดนอุบัติเหตุเรือชน เข้าใกล้เรือจนโดนใบพัด จนบาดเจ็บและบอบช้ำ จนเสียชีวิต หรือมีบาดแผลจากการถูกสัมผัสจนติดเชื้อได้

ที่มา: 

รายงานสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ กลุ่มปลากระดูกอ่อนบางชนิดทีได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองในรอบ 6 ปี พ.ศ. 2559-2564

Exit mobile version