Home Upskill เปย์เก่ง เร่งก่อหนี้ หนีงานประจำ 5 ต้นตอปัญหาการเงิน ‘คนรุ่นใหม่’

เปย์เก่ง เร่งก่อหนี้ หนีงานประจำ 5 ต้นตอปัญหาการเงิน ‘คนรุ่นใหม่’

0

เป๋าตังค์มันลั่น, หมุนเงินไม่ทัน, ผ่อนบัตรไม่ไหว, เก็บเงินไม่อยู่

เชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาการเงินเหล่านี้

พบได้มากที่สุดในกลุ่มคนรุ่นใหม่*

ที่มีพฤติกรรมทางการเงินแบบ ‘เปย์เก่ง เร่งก่อหนี้ หนีงานประจำ’

และ ‘ขาดความรู้ทางการเงิน’

ซีรีย์ ‘คนรุ่นใหม่มั่งคั่งได้ ถ้าเข้าใจการเงิน’ 

โดย #TU #BBL X #AGENDA จะมีทั้งหมด 6 EP. 

ที่จะชวนคนรุ่นใหม่มาพูดคุยถึงปัญหาการเงิน

และค่อย ๆ สร้างความรู้ทางการเงินไปด้วยกัน

เริ่มที่ตอนแรก EP.1 : 5 ต้นตอปัญหาการเงิน ‘คนรุ่นใหม่’

จะมีอะไรบ้าง มาดูกันครับ

1. หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี”

โดยเฉลี่ยแล้วคนรุ่นใหม่ใช้จ่ายเงิน 3 ใน 4 ของรายได้ (1)

หลัก ๆ คือ ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ค่าเรียน (1,8)

คนรุ่นใหม่ยังมีพฤติกรรมการเลือกซื้อที่แตกต่างจากคนวัยอื่น คือ

64% ให้ความสำคัญกับสินค้าดีไซน์เนอร์ 

83% มองหาสินค้าพรีเมียมในราคาถูกที่สุด (2)

พฤติกรรมการใช้จ่ายเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ใช้จ่ายกับของไม่จำเป็น ปีละกว่า 1 แสนบาท หรือราว 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี (3)

จริง ๆ จะซื้ออะไรก็ไม่ได้ผิด

ถ้าเราไม่มีปัญหาในการบริหารจัดการเงิน

รู้ว่าซื้ออะไรได้แค่ไหน ก็จะไม่ใช้จ่ายเกินตัว

จนนำไปสู่ปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย
ที่พบมากในคนรุ่นใหม่ (3)


2. เงินไม่พอ ก็หากู้ได้

ข้อมูลจาก “เครดิตบูโร” ในไตรมาสแรกของปี 2563 (1)
เกี่ยวกับสถิติหนี้ของคนไทยแบ่งตามเจเนอเรชันพบว่า

2 GEN ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ GEN Y และ GEN Z

กำลังมีประเด็นปัญหาการเงินอย่างชัดเจนมากที่สุด

อย่างแรกเลยก็คือ

คน GEN Y ครอง “แชมป์ก่อหนี้”

โดยมีสถิติก่อหนี้รวมถึง 4 ล้านล้านบาท

หรือคิดเป็น 45% เมื่อเทียบกับ Gen อื่นๆ
และมีปัญหาชำระหนี้มากที่สุดด้วย

เพราะจากจำนวนหนี้ทั้งหมดของ GEN Y

เป็นหนี้เสีย หรือ NPL คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท

ส่วนคน GEN Z ถูกเรียกว่าเป็น “ผู้กู้หน้าใหม่” 

แม้ว่าคน GEN นี้จะยังมีสัดส่วนการก่อหนี้ไม่มาก

แต่เมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า GEN Z ก่อหนี้เยอะขึ้น 200%

สถิติการก่อหนี้อันน่าตกใจของคนรุ่นใหม่ นอกจากจะมาจากบัตรเครดิต และสินเชื่อประเภทต่าง ๆ แล้ว

ยังมีอีกปัจจัยหนุนคือ “เงินกู้แบบดิจิทัล (Digital lending)”

เนื่องจากคนรุ่นใหม่คุ้นเคยและเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของเงินกู้ชนิดนี้

————-

3. ไม่สนใจงานประจำ

การหารายได้ที่นิยมกันตอนนี้นั้นแตกต่างไปจากยุคเดิมที่เน้นทำงานประจำเพื่อ ‘ความมั่นคง’

คือคนรุ่นใหม่สนใจอาชีพอิสระมากขึ้น (5)

ถึงแม้จะมีข้อเสียที่รายได้ไม่แน่นอน

ทำให้ต้องหารายได้เสริมหลายช่องทาง

โดยงานที่ได้รับความนิยมหรือสนใจสูงสุด

กว่า 50.4% คือการขายของออนไลน์

รองลงมาคือลงทุนเล่นหุ้น 34.3%

และ รับงานนอกบริษัท 24.1%

นอกจากนี้ 32% ยังมีแนวโน้มเปลี่ยนงานบ่อย

เพื่อรายได้ที่สูงขึ้น มองหาความก้าวหน้า และได้งานตรงทักษะ-ความสนใจ

————-

4. ไม่วางแผนเผื่ออนาคต

คนจำนวนมาก ยังขาดแบบแผนและวินัยการออมเงินอย่างเป็นระบบ 

คนไทยกว่า 1 ใน 3 ยังมีจำนวนเงินออมเผื่อฉุกเฉินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (6)

แสดงให้เห็นว่า ไม่มีเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว 

และขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี 

ไม่เห็นความสำคัญของการออม และไม่ได้ออมในวิธีที่เหมาะสม

37% ของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้กำหนดสัดส่วนเงินออมที่แน่นอน 

และคิดว่าจะออมเงินเฉพาะเมื่อเหลือจากการใช้จ่ายเท่านั้น

ซึ่งขัดกับหลักการออมที่ดี (7)

————-

5. มีความรู้ทางการเงินไม่มากพอ

ข้อมูลการสำรวจทักษะทางการเงินในปี 2559 จากธนาคารแห่งประเทศไทย 

พบว่า คนรุ่นใหม่ มี “ความรู้ทางการเงิน” ที่ต่ำ 

โดนเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ ที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุด

เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD (6)

ผลสำรวจยังพบอีกว่า

ส่วนใหญ่ไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมในการศึกษาเรื่องการเงิน

ขาดทักษะการเปรียบเทียบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนซื้อสินค้า/บริการ (1)

ยิ่งถ้าต้นทุนซับซ้อน ยิ่งคำนวณไม่ถูก

เช่น การเปรียบเทียบความคุ้มค่าราคาแพกเกจค่าบริการโทรศัพท์


คนรุ่นใหม่ยังมีศักยภาพและแรงในการเรียนรู้อีกมาก

ดังนั้น การทำความรู้จักและเข้าใจทักษะการเงิน

เป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่ได้สอนในโรงเรียน

จะช่วยให้บริหารจัดการเงินได้เป็น

ลดปัญหาก่อหนี้/ใช้จ่ายเกินตัว

และยังมีเงินออมสำหรับตอนเกษียณอีกด้วย

ยังไม่สายไปที่จะเริ่มใหม่!
ความรู้การเงินเป็นหนึ่งใน “ของมันต้องมี”

ติดตามซีรีย์ ‘คนรุ่นใหม่มั่งคั่งได้ ถ้าเข้าใจการเงิน’ กับ #TU #BBL X #AGENDA กันต่อได้ที่ช่องทางต่าง ๆ ของ Agenda 

*หมายเหตุ : ‘คนรุ่นใหม่’ ในงานวิจัยนี้หมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี


ที่มา:

(1) การศึกษาทัศนคติ ความรู้ และพฤติกรรมทางการเงินของนักศึกษาเพศชาย ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2562) โดย ภูรินทร์ จุนประทีปทอง และคณะ
และการศึกษาระดับความรู้และพฤติกรรมทางการเงินของนักศึกษาหญิง ชั้นปีที่ 4 5 และ 6 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  (2562) โดย พุฑิตา เครื่องถมยา และคณะ

(2) Watee. (2020, March 13). 7 ทัศนคติ Gen Z ประเทศไทย ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ มีพลังเปลี่ยนโลกการตลาด – แบรนด์จะชนะใจอย่างไร. Marketing Oops! https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/7-attitudes-and-behaviour-gen-z-thailand/

(3) NALISA (2019, December 8). พฤติกรรม Gen Y วิเคราะห์อินไซด์ จริงหรือที่กลุ่มนี้ อยากมี อยากได้ แต่เงินในกระเป๋าไม่ค่อยจะมี. Marketeer Online. https://marketeeronline.co/archives/132740

(4) The Pennsylvania State University. (2021). MoneyCounts: A Penn State Financial Literacy Series. Https://Psu.Instructure.Com/Courses/1806581. https://psu.instructure.com/courses/1806581

(5) admink. (2020, September 30). เผย Insight “พฤติกรรมคนไทย” 4 เจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนไปจากโควิด-19 ที่แบรนด์ต้องรู้เพื่อปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตรูปแบบใหม่. Brand Buffet. https://www.brandbuffet.in.th/2020/09/far-east-fame-line-ddb-the-wall-v2020-insight-four-generation-during-pandemic/

(6) ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2016). สรุปผลการสำรวจทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ปี 2559 และแนวทางการดำเนินการของ ธปท. https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Documents/Article_23Aug2018_1.pdf

(7) อนาคตส่อลำบาก! ผลวิจัยชี้ “คนรุ่นใหม่” ขาดแผนออมเงิน-ลงทุน. (2019). Posttoday. https://www.posttoday.com/finance-stock/money/584871

(8) ผู้จัดการออนไลน์. (2020, June 20). GEN Y GEN Z แชมป์ก่อหนี้ “คนรุ่นใหม่” กู้ทะลุแสนล้าน. ผู้จัดการสุดสัปดาห์. https://mgronline.com/daily/detail/9630000063445

Exit mobile version