กว่าจะเป็น ‘รังสิมันต์ โรม’ กับการเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

Highlight

ป่ารอยต่อ – ตั๋วช้าง – ค้ามนุษย์ กว่าจะเป็น ‘รังสิมันต์ โรม’
จากนักเคลื่อนไหวสู่ สส. กับเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ชื่อของ ‘รังสิมันต์ โรม’ เริ่มกลายเป็นที่รู้จักของคนในสังคม ตั้งแต่ปี 2557 เมื่อเกิดรัฐประหารยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับบทบาทของ ‘นักเคลื่อนไหว’ ที่มีบุคลิกเข้มแข็ง กล้าท้าชนกับความอยุติธรรม และมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่บนหลักการประชาธิปไตย

‘โรม’ ถือเป็นหนึ่งคู่ขัดแย้งคนสำคัญของ คสช. เพราะหลังจากที่เขาเริ่มออกมาเรียกร้อง ก็มีอันต้องถูกดำเนินคดีรวม ๆ แล้วกว่า 9 คดี ซึ่งเคยมีประสบการณ์เดินเข้าเรือนจำมาแล้ว

เวลาที่เปลี่ยนไปทำให้บทบาท ‘แอ็กทิวิสต์’ ของโรมไปหันเหไปสู่การเป็น ‘นักการเมือง’ เต็มตัว เปิดประตูบนการต่อสู้ที่แตกต่างจากในอดีต แม้ถูกมองว่ายัง ‘อ่อนประสบการณ์’ แต่การทำงานสส. ตั้งแต่สมัยสังกัดอดีตพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกล ก็พิสูจน์ว่าเขาคนนี้ ไม่ใช่คนที่ผู้มีอำนาจจะมองข้ามไปได้ง่าย ๆ และการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลก็ทำได้อย่างเข้มข้น

#Agenda พาทุกคนย้อนดูเส้นทางชีวิตของ ‘รังสิมันต์ โรม’ จากนักเคลื่อนไหวสู่ผู้แทนราษฎร กับผลงานอภิปรายในสภาที่สั่นขาเก้าอี้ผู้มีอำนาจ และเซ็ตมาตรฐานใหม่ให้การเมืองไทย

1) คลุกคลีการเมืองตั้งแต่เด็ก – พ.ศ. 2535

รังสิมันต์ โรม เกิดวันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่จังหวัดภูเก็ต​ ทว่าไปเติบโตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช​ ด้วยความที่เกิดภาคใต้ทำให้เขาสัมผัสบรรกาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองอยู่เป็นปกติ

เขามักได้ยินได้ฟังการสนทนาเรื่องการเมืองในวงน้ำชาของผู้ใหญ่ การอ่านหนังสือพิมพ์ หรือพบเจอวัฒนธรรมภาคใต้ที่สอดแทรกเรื่องการเมืองเสมอ ๆ ทุกอย่างฟูมฟักให้เขาเป็นคน ‘อินการเมือง’ มาตั้งแต่เด็ก และมีแรงบันดาลใจอยากเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะอยากเรียนรู้เรื่องการเมืองมากขึ้น

2) เข้าสู่รั้วธรรมศาสตร์ – พ.ศ. 2553

เมื่อสอบติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาจึงนำพาตัวเองไปอยู่ร่วมกับคนที่สนใจการเมืองเหมือน ๆ กัน เนื่องจากเขาเป็นคนชอบพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ถึงขั้นเคยได้เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันโต้วาที (ได้ลำดับที่ 3) อีกด้วย

เหตุการณ์แรกที่โรมได้สัมผัสประสบการณ์การเรียกร้องเคลื่อนไหว คือ การเข้าร่วมเดินขบวนกิจกรรมแต่งชุดดำวางพวงหรีดหน้าอนุสาวรีย์อาจารย์ป๋วย เพื่อคัดค้านการห้ามจัดงานเกี่ยวกับการรณรงค์ ม.112 ของคณะนิติราษฎร์จากคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นก็เดินบนเส้นทางของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

3) นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย – พ.ศ. 2558

เหตุการณ์รัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โรมเริ่มเห็นความอยุติธรรมหลายด้านที่เกิดขึ้นและขัดกับความเป็นประชาธิปไตย 

ในวันสอบวันสุดท้ายวิชากฎหมายก่อนเรียนจบ 25 มิ.ย. 2558 เขาตั้งใจจะวางมือการเป็นนักเคลื่อนไหว โดยการไปรวมตัวหน้าหอศิลป์กับกลุ่มดาวดิน ตะโกนเรียกร้อง แต่เกิดเหตุชุลมุน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่บุกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม

โรมและเพื่อนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในการชุมนุมกิจกรรม 1 ปีรัฐประหาร ถูกศาลทหารสั่งขัง 2 ครั้งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อเกิดปณิธานแน่วแน่ว่าจะเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศต่อไป 

4) เข้าร่วมพรรคอนาคตใหม่ – พ.ศ. 2561

โรมยังดำเนินบทบาทแอ็กทิวิสต์มาต่อเนื่อง ถูกดำเนินคดีในกลุ่ม ‘กิจกรรมต่อต้าน คสช.’ รวมกว่า 9 คดี จนช่วงปี 2561 ได้รับจากชักชวนจากอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ให้มาทำงานในฐานะนักการเมือง

ช่วงเวลานั้นเริ่มมีสัญญาการเลือกตั้ง เขาจึงมองว่าบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร น่าจะเป็นเส้นทางใหม่ที่เขาจะต่อสู้เพื่ออุมการณ์ประชาธิปไตยได้มากขึ้น จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่

5) ก้าวเข้าสู่สภา – พ.ศ. 2562

รังสิมันต์ โรม เข้าสู่การทำงานในสภาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 16 พรรคอนาคตใหม่ เปิดประเดิมผลงานแรกด้วยการอภิปรายรายงานผลการดำเนินชำแหละแผนปฏิรูปที่กฏหมายส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือของ คสช.

สาระสำคัญ คือ แผนปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการปราบปรามการทุจริต ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของสังคมในช่วง 5 ปีที่ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. กฎหมายสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้แสดงออกทางการเมือง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เกิดความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้ และการดำเนินการที่ส่อทุจริตโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ คสช. ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ล่าช้า คลุมเครือ เช่น เรื่องอุทยานราชภักดิ์ เหมืองทองอัครา เป็นต้น

6) แฉ “ป่ารอยต่อ” กัดกินประเทศไทย – พ.ศ. 2563

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น จึงเกิด ‘การอภิปรายนอกสภา’ โรมได้อภิปรายถึงเรื่อง ‘มูลนิธิป่ารอยต่อ’ เครือข่ายผลประโยชน์ที่เชื่อมระหว่างกองทัพกับกลุ่มทุนใหญ่ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

สาระสำคัญ คือ มีการเปิดเผยว่ามูลนิธิป่ารอยต่อกลายเป็นแหล่งซ่อมสุมการเอื้อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ นักการเมือง และกลุ่มทุนใหญ่ มูลค่ามหาศาล โดยไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งที่ต้องการสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยกรรมการมูลนิธิส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร

หลังจากมูลนิธิป่ารอยต่อฟ้องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา สส. รังสิมันต์ โรม ปมอภิปรายนอกสภา ถึงอย่างนั้น โรมไม่ได้มีท่าทีหวั่นไหว เพราะเชื่อมั่นในข้อมูลหลักฐาน และกล่าวว่าสิ่งที่ทำคือการตีแผ่ความจริงให้ประชาชนได้รับรู้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องทำในฐานตัวแทนประชาชน

7) ‘ตั๋วช้าง’ สะเทือนวงการสีกากี – พ.ศ. 2564

เป็นเรื่องอีกครั้ง! กับศึกซักฟอกรัฐบาลปี 2564 สส. โรมได้เลือกประเด็น ‘ตั๋วช้าง’ ขึ้นมาพูดบนสภาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีการประท้วงอยู่หลายหน ถึงเกิดการอภิปรายนอกสภาอีกครั้ง 

สาระสำคัญ คือ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มีตำแหน่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่กลับปล่อยปละให้เกิดการซื้อขายตำแหน่งโดยไม่มีการตรวจสอบ ทั้งยังตั้งคำถามถึงการเลื่อนตำแหน่งอย่างผิดปกติ ในกลุ่มตำรวจที่มีเครือข่ายเกี่ยวข้องกับโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 คล้ายว่าเป็นใบเบิกทางด่วนสำหรับตำรวจที่ต้องการเลื่อนขึ้น

ปรากฎเป็นข่าวใหญ่ #ตั๋วช้าง ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และพบว่า สส.โรม ถูกบุคคลไม่ทราบฝ่ายเข้าคุกคามถึงที่พักในคอนโดย่านรัตนาธิเบศร์

8) ‘ค้ามนุษย์’ อภิปรายเขย่าสภา – พ.ศ. 2565

18 ก.พ. 2565 โรมได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ สะท้อนปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา เชื่อมโยงตั้งแต่ปี 2558 กรณีมีการค้นพบค่ายกักกันและหลุมศพกลางป่าบนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา

สาระสำคัญ คือ อาจมีผู้มีอำนาจตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ไปถึงขึ้นระดับกระทรวงหรือสูงกว่านั้นเป็นหลักค้ำยันให้ขบวนการค้ามนุษย์ไม่ถูกปราบปราม และตั้งคำถามถึงสาเหตุการลี้ภัยไปต่างประเทศของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจน้ำดีที่เป็นผู้นำจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ในปี 2558 ซึ่งเสี่ยงถูกคุกคามและไม่ปลอดภัยจากการกระทำของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เกิดเป็นวลี ‘ตำรวจเลวได้ดี ตำรวจดีต้องลี้ภัย’

ระหว่างการอภิปราย โรมใช้คำพูดว่า ‘ใจดำ อำมหิต’ ซึ่งประธานสภาเห็นว่ารุนแรงเกินไป และขอให้ถอนคำพูด อย่างไรก็ดีโรมไม่ได้ถอนคำพูดแต่อย่างใด และเลือกได้เดินออกจากสภากลางคัน .
19 ก.พ 2565 มีการแถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดเรื่อง #ค้ามนุษย์ ร่วมกับ พล.ต.ต.ปวีณ และ ช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อีกครั้งควบคู่กับประเด็น ‘เปิดเบื้องหลังตั๋วช้างภาค 2’ ที่ อาคารอนาคตใหม่



ผลงานของรังสิมันต์ โรมในฐานะ สส.ฝ่ายค้าน กับการทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ถือเป็นที่ประจักษ์ในสายตาของประชาชน ทุกครั้งและทุกเรื่องที่ผ่านการนำเสนอ ล้วนสร้างแรงกระเพื่อมนำไปสู่การตั้งคำถาม ข้อถกเถียงในสังคม และสร้างความตระหนักในสิทธิบนวิถีประชาธิปไตย

จากนักศึกษาที่อินการเมืองมาเป็นผู้แทนของประชาชน ผู้ชายที่ชื่อ ‘รังสิมันต์ โรม’ ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และสร้างมาตรฐานการเมืองแบบใหม่ให้กับสังคมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : WorkpointToday, TheMomentum, TheMatter, Thairath, Springnews, Posttoday, Wikipedia, Adaymagazine, ประชาไท

Popular Topics