เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ได้คุ้มเสียหรือไม่ แดนหมีขาวต้องแลกอะไรกับการตัดสินใจของปูติน

Highlight

เปิดฉากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังความตึงเครียดทางการเมืองที่คาราคาซังหลายปี อันเนื่องมากจากการแพร่ขยายอิทธิพลองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือ นาโต้ (NATO) ในกลุ่มรัฐกันชนของรัสเซีย และสัญญาณไม่เป็นกลางของยูเครนที่เริ่มเอาใจออกห่างแดนหมีขาว ฟางเส้นสุดท้ายจึงขาดลง เกิดปฏิบัติการทางทหารและสงครามขึ้นในที่สุด

24 ก.พ. 2022 วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์ ประกาศส่งกองกำลังและเริ่มปฏิบัติการทางทหารเข้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน ปรากฏเหตุระเบิดหลายครั้ง มีรายงานเสียงไซเรนเตือนภัยโจมตีทางอากาศ บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนยูเครนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต

แม้เสียหายอย่างหนัก ฝ่ายยูเครนก็ยังยืนหยัดต่อต้านรัสเซียอย่างแน่วแน่ภายใต้การนำของ ‘โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี’ ประธานาธิบดียูเครน ในขณะที่นาโต้ เลือกที่จะไม่ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือ หวั่นเป็นการราดน้ำมันบนกองไฟ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการตัดสินของปูตินค่อนข้างเป็นเรื่อง ‘เด็ดขาด’ ในฐานะผู้นำที่ต้องแบกรับศักดิ์ศรีของรัสเซียไว้บนบ่า แม้จะประเมินมาแล้วว่าทุกการกระทำ…มีราคาที่ต้องจ่าย 

องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังคงคอยซัพพอร์ตยูเครน และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการตัดสินใจของปูติน หลายชาติเริ่มตอบโต้รัสเซียด้วยแนวทางเสรีนิยมอย่างการคว่ำบาตรด้านความสัมพันธ์ บอยคอตทางเศรษฐกิจ และแพร่ขยายไปในทุกวงการ เช่น กีฬา เกม บันเทิง ทำให้รัสเซียในตอนนี้กำลังถูกลดบทบาทบนเวทีโลก 

#Agenda ชวนดู 6 สิ่งต้องแลกของรัสเซีย เมื่อหมีขาวกางเล็บข่วนเข้าไปในยูเครน ในฐานะผู้นำสูงสุดของรัสเซีย ‘ปูติน’ จะได้อะไรกลับมาหรือต้องเสียอะไรไป ได้คุ้มเสียหรือไม่ ? มาดูกัน 

🟩 ผลประโยชน์ที่ตกต่อรัสเซีย 🟩

🔘 ครอบครอง “ไครเมีย” เมืองยุทธศาสตร์สำคัญ 

หลังจากไครเมียได้แยกตัว ประกาศอิสรภาพจากยูเครนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2014 และขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรัสเซียรับรองเอกราชของไครเมียในวันเดียวกัน ไครเมียจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซีย สำหรับถ่วงดุลอำนาจและเฝ้าระวังปฏิกิริยาของยูเครนและนาโต้

ไครเมีย ถือเป็นพื้นที่สีเทาที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าตกเป็นของรัสเซียจากการบุกรุกรานจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย บางกลุ่มมองว่าการผนวกรวมเป็นรัสเซียเกิดจากความสมัครใจ เนื่องจากมีการทำประชามติเป็นกิจจะลักษณะ ส่วนยูเครนนั้นประกาศว่าไครเมียเป็นดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองชั่วคราว

ปัจจุบัน พื้นที่ไครเมียกลายเป็นจุดตั้งกองทัพเรือของรัสเซีย ตำแหน่งภูมิศาสตร์จัดว่าเป็นปราการน่านน้ำที่ติดทะเลดำ ประจันหน้าติดต่อกับยุโรป ทางพฤตินัยแล้ว ‘ไครเมียจึงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย’ และเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่รัสเซียอาจใช้เป็นอาวุธตอบโต้การรุกรานของตะวันตกในอนาคต

🔘 รัสเซียยังเป็น ‘หนึ่งในมหาอำนาจโลก’ 

ความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตในอดีต ยังไม่เลือนลางจางหายไปจากประวัติศาสตร์โลก แม้ว่าหลายประเทศที่เคยอยู่ในอาณัติของโซเวียตได้ประกาศอิสรภาพ แยกตัวไปปกครองตนเอง ถึงอย่างนั้น ‘รัสเซีย’ ในฐานะพี่ใหญ่ของโซเวียตยังถือเป็นประเทศที่ทรงอำนาจทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ผลจากการโจมตียูเครน จึงอาจเป็นการแสดงแสนยานุภาพ (ส่วนหนึ่ง) ที่ประกาศว่ารัสเซียจะไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี และแข็งแรงพอที่จะแข็งข้อกับโลกตะวันตก เพื่อรักษาสถานภาพแห่งการเป็น ‘ประเทศมหาอำนาจ’ ไว้

แม้ว่าหลายประเทศจะตอบโต้ด้วยการบอยคอต แต่ต้องยอมรับว่ารัสเซียได้สร้างชื่อเป็นประเทศที่เด็ดขาดไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลกอีกครั้ง ขนาดที่พี่ใหญ่จากฝั่งเสรีนิยมอย่างสหรัฐฯ หรือตะวันตกจะประเมินแดนหมีขาวต่ำไปไม่ได้

🔘 ป้องกันอิทธิพลของนาโต้ (NATO)

ยูเครนเป็นเสมือนประเทศกันชนแห่งสุดท้ายที่กั้นระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต้ (NATO) กับรัสเซีย การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนของโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี เริ่มส่งสัญญาณเอาใจออกห่างรัสเซียและเปิดรับนาโต้ (NATO) มากขึ้น รัสเซียจึงตกที่นั่งลำบากด้านการทหารและอธิปไตยในอนาคต

แม้ว่าจะมีการเจรจาเพื่อให้ยูเครน ‘วางตัวเป็นกลาง’ และเป็นกำแพงกั้นให้รัสเซียกับนาโต้ (NATO) ซึ่งท้ายที่สุด ไม่เป็นไปตามที่ปูตินมุ่งหมายไว้ จนนำไปสู่การตัดสินใจสั่งปฏิบัติการโจมตียูเครน ซึ่งคงเป็นการขัดขวางการเข้าร่วมกับนาโต้ของยูเครนออกไป และทำให้ยูเครนได้ทบทวนตำแหน่งทางการเมืองระหว่างประเทศของตัวเองอีกครั้ง

🟥 ผลเสียที่รัสเซียต้องแลก 🟥

🔘เศรษฐกิจระส่ำ ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ

สงครามทางทหารสะเทือนไปถึงสงครามเศรษฐกิจ เมื่อรัสเซียถล่มยูเครนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบโต้กลับจากนานาชาติที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จากประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีในการทำมาค้าขายกับต่างชาติ รัสเซียกำลังถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว

มีการปิดท่อส่งน้ำมันไปยังยุโรป ทำให้รัสเซียอาจสูญเสียเม็ดเงินมหาศาล ตลาดน้ำมันโลกผันผวน และถือเป็นช่องทางให้ประเทศกลุ่ม OPEC เร่งเครื่องเพิ่มกำลังการผลิตหวังเข้ามาแทนน้ำมันของรัสเซีย รัสเซียกำลังจะเสียเก้าอี้ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำมันโลก ยิ่งไปกว่านั้น  GDP ของรัสเซียลดฮวบ เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นคิดเป็นกว่า 7% ของธุรกิจสำคัญที่พาเงินเข้าสู่ประเทศ

🔘ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดกำลัง ‘ล้ม’ ระบบการเงิน ‘พัง’

ผลจากการคว่ำบาตรลุกลามไปถึงระบบการเงินรัสเซีย เริ่มต้นที่ธนาคารกลางและระบบชำระเงินระหว่างประเทศ ต่างถอนตัวและเลือกปฏิเสธที่จะให้บริการในรัสเซียต่อไป สอดคล้องกับ Sberbank ธนาคารที่ใหญ่สุดของรัสเซีย ประกาศ ‘ถอดธุรกิจ’ ในยุโรปทั้งหมด ส่งผลให้หุ้นดิ่งลงกว่า 90%

ประชาชนในรัสเซียต่างพากันไปกดเงินสดออกจาก ATM เพื่อสภาพคล่อง เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินยูโรก็เริ่มถูกถอนไปจนเกือบหมด ปริมาณเงินสดในระบบลดลงแบบกะทันหัน ทั้งยังมีการจำกัดวงเงินรูเบิลที่สามารถถอนจากธนาคารได้

ปัญหาเงินสดที่หายไปจากระบบ เสี่ยงทำให้สินค้าและบริการในรัสเซียสูงขึ้น เนื่องจากไม่มีเงินหมุนเวียน ประชาชนกำลังกังวลว่าจะตกงาน เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่นั้นมีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุโรป ระบบการเงินของรัสเซียตอนนี้กำลังมุ่งไปสู่จุดเสี่ยง ‘ล้มละลาย’ เนื่องจากถูกตัดขาดจากระบบการเงินของชาติตะวันตกอย่างสิ้นเชิง

🔘ระบบเงินรูเบิล เสี่ยงล่มสลาย

เมื่อต่างชาติบอยคอตรัสเซีย เงินรูเบิลของรัสเซียจึงตกกระไดพลอยโจนไปพร้อมกัน บริษัทต่างชาติปฏิเสธที่จะทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินรัสเซีย เงินรูเบิลอ่อนค่าลงถึง 30% เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้ข้าวของเครื่องใช้แพงขึ้น

กระแสเงินสดที่ไหลออกมาเป็นจำนวนมากนั้น เป็นเงินสกุลต่างชาติที่ประชาชนมองว่ายังคงสามารถนำไปใช้ต่อได้ในระยะยาว หากภาวะสงครามยืดเยื้อ ค่าของเงินที่กำลังอ่อนลง และอาจเลวร้ายไปถึงขั้นล่มสลายกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าในอุตสาหกรรมการเงินระหว่างประเทศในอนาคต

การตัดสินใจบุกยูเครนของประธานาธิบดีปูติน สร้างผลกระทบกลับมาสู่ประเทศรัสเซียทั้งทางบวกและทางลบ เส้นทางของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังไม่มีท่าทีจะสงบลงในเวลาอันใกล้ ในขณะที่ยูเครนกำลังตกเป็นเป้าของรัสเซียในสงครามทางทหาร รัสเซียเองก็กำลังตกเป็นเป้าของโลกในสงครามเศรษฐกิจเช่นกัน

Popular Topics