Home Socieverse เปิดไทม์ไลน์ที่มาปัญหา ‘โรฮีนจา’ เขย่ารัฐสภาด้วยประเด็นค้ามนุษย์ในไทย

เปิดไทม์ไลน์ที่มาปัญหา ‘โรฮีนจา’ เขย่ารัฐสภาด้วยประเด็นค้ามนุษย์ในไทย

0

‘โรฮีนจา’ หรือ ‘โรฮิงญา’ ได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง เมื่อนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้หยิบยกประเด็น #ค้ามนุษย์ มาอภิปรายทั่วไปในสภา ตั้งคำถามถึงการลี้ภัยของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ทำไมตำรวจน้ำดีถึงต้องมีอันต้องออกจากประเทศ ?

โรฮีนจาเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธ์ุในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งคาราคาซังมานาน เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์ปฏิเสธให้สัญชาติพลเมือง และชาวพุทธในเมียนมาร์ ‘ไม่ยอมรับ’ นำไปสู่อคติทางชาติพันธุ์ การกดขี่ การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ชาวโรฮีนจาต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด อพยพ หนีตายออกจากพื้นที่ กระทั่งเข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ในที่สุด

ขบวนการค้ามนุษย์นี้ เคยถูกจับกุมสืบสาวจนพบว่าเป็นฝีมือของผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่คนไทย ดังนั้นไทยจึงอาจไม่เป็นแค่ประเทศทางผ่านหรือประเทศรองรับผู้ลี้ภัย แต่ในความเป็นจริง มุมหนึ่งอาจเป็น ‘นรกบนดิน’ อีกแห่งหนึ่งที่กำลังหากินกับความหวังเพื่อจะมีชีวิตที่ดีขึ้นของชาวโรฮีนจา

#Agenda ขอพาทุกคนไปย้อน Timeline ของโรฮีนจาอีกครั้ง พวกเขาเป็นใคร ? ทำไมถึงไม่เป็นที่ต้อนรับของเมียนมาร์ และเส้นทางไปสู่การเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

1) ยุคล่าอาณานิคมชาติตะวันตก – พ.ศ. 2369-2491

ต้นเชื้อเครือสายของชาวโรฮีนจายังเป็นที่ถกเถียงในกลุ่มวิชาการว่า “พวกเขามาจากที่ใด ?” บ้างก็ว่าเป็นชนชาติดั้งเดิมที่ตั้งรกรากในเมียนมาร์มาเป็นพันปีแล้ว ในขณะที่ด้านคนที่ต่อต้านก็อธิบายว่าโรฮีนจาเป็นชาวมุสลิมที่เพิ่งย้ายเข้ามาในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย

ทว่า ความเชื่อที่เป็นว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างโรฮีนจาและคนเมียนมาร์ คือ ชาวโรฮีนจาเป็นชนชาติต่างด้าวที่มาจากอินเดีย-บังกลาเทศ  เข้ามาบุกยึดเมียนมาร์ในยุคล่าอาณานิยมของอังกฤษ ในฐานะแรงงานและทหาร และเริ่มตั้งถิ่นฐานถิ่นฐานอยู่ในรัฐยะไข่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2) อังกฤษมอบเอกราชให้พม่า – พ.ศ. 2491

สิ้นสุดยุคล่าอาณานิยม อังกฤษทยอยคืนเอกราชให้แก่ประเทศในอาณัติปกครองรวมถึงเมียนมาร์ รัฐยะไข่ (อาระกัน) ถูกยกให้เป็นรัฐพิเศษที่มีสิทธิปกครองตนเอง แต่มีชาวเมียนมาร์บางส่วนที่มองว่าโรฮีนจาเป็น ‘คนนอก’ เกิดกระแสต่อต้าน ใช้ความรุนแรง และปะทะกันอยู่เป็นระยะ เพราะต้องการขับไล่คนโรฮีนจาให้กลับไปยังอินเดียและบังกลาเทศ

3) นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า – พ.ศ. 2492-2502

สมัยรัฐบาลนายอูนุ มีการออกนโยบายผสานความขัดแย้งผ่านกฎหมายรับรองสิทธิพลเมืองให้แก่ชนกลุ่มน้อยและรับรองรัฐยะไข่ให้เป็นรัฐปกครองตนเองอย่างถูกต้องขึ้นตรงกับกรุงย่างกุ้ง (เมืองหลวงขณะนั้น) 

4) ชาวมุสลิมในพม่าถูกเรียกว่า “โรฮีนจา” เป็นครั้งแรก – พ.ศ.2503-2504

นายอูนุสนับสนุนด้านสาธารณนูปโภคพื้นฐาน เช่น วิทยุ การศึกษา และสุขภาพ แก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ชื่อ ‘โรฮีนจา’ จุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้น เมื่อนายอูนุประกาศว่า ‘ประเทศพม่าเป็นประเทศพุทธศาสนา’ มีการยกเลิกสถานีวิทยุ การกีดกันเรื่องศาสนาจึงตอกย้ำความแตกต่างและสร้างความแปลกแยกระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธในเมียนมาร์

5) นายพลเนวิน (พ่ออองซานซูจี) ทำรัฐประหาร – พ.ศ. 2505

การยึดอำนาจของนายพลเนวิน นำไปสู่การยกเลิกรับรองรัฐยะไข่เป็นเขตปกครองตนเอง แนวทางสนับสนุนชาวโรฮีนจาที่ดำเนินมากตั้งแต่สมัยนายอูนุยุติลง ประกอบกับความเข้มแข็งของรัฐบาลทหารในขณะนั้นทำสงครามชนะชาวโรฮีนจาและกลุ่มคอมมิวนิสต์ ปลุกกระแสชาตินิยม ชาวมุสลิมรวมถึงชาวจีนจึงเริ่มถูกขับไล่ไปอยู่ที่เมืองค๊อกซ์บาซาร์ชายแดนติดกับรัฐอาระกันของเมียนมาร์

6) รัฐออกกฏหมายขับไล่คนไม่มีสัญชาติ – พ.ศ. 2521-2525

เมื่อดินแดนบังกลาเทศแยกตัวออกจากปากีสถานส่งผลให้ชาวเบงกาลีอพยพเข้ามาในรัฐอาระกันเพิ่มมากขึ้น เขตชายแดนเมียนมาร์จึงกลายเป็นชุมชนมุสลิมหนาแน่น ขณะเดียวกันมีการปูพรมเพื่อสำรวจสำมะโนครัวประชากรของรัฐบาลเมียนมาร์ ออกกฎให้เกิดการพิสูจน์สัญชาติ โดยคนจีนและอินเดียที่อยู่ในประเทศพม่าเกินกว่า 10 ปี จะได้รับสัญชาติพม่า 

แต่การพิสูจน์สัญชาติไม่นับรวมชาวโรฮีนจาในรัฐอาระกัน คนที่ไม่มีสัญชาติกลายเป็นคนที่ต้องถูกผลักดันออกนอกดินแดน เกิดสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อคนบังกลาเทศก็จะเข้ามาแต่คนในเมียนมาร์ก็ปฏิเสธที่จะโอบรับชาวมุสลิม

7) เหตุปะทุครั้งใหญ่ในรัฐยะไข่ (อาระกัน) ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม – พ.ศ. 2555

ชาวโรฮีนจาที่ต้องอยู่ในพื้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร กดขี่ข่มเหง ข่มขืนกระทำชำเรา ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาหรือสิทธิการรักษาพยาบาล ความเข้มข้นของอคติทางชาติพันธ์ุเพิ่มมากขึ้น จนชาวมุสลิมทุกชาติพันธุ์เริ่มตกเป็นเป้าโจมตี 

ความเจ็บปวดที่สะสมนำไปสู่การจลาจลปะทะกับทางการทหารและชาวพุทธ เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งสองฝั่ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำรอยร้าวของความเกลียดชัง ทำให้บางส่วนของชาวโรฮีนจาหวังไปตายเอาดาบหน้า ทิ้งบ้านเกิดออกเดินทางอพยพไปหาชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม

โดยวิธีการที่ได้รับความนิยม คือ การขึ้นเรือ โดยมีจุดหมายที่บังกลาเทศ หรืออีกเส้นทางเลือกมาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นทางผ่านไปยังอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย (ประเทศที่นับถืออิสลามเหมือนกัน)

8) ขบวนการค้ามนุษย์ในไทย – พ.ศ. 2558-2560

การเดินทางที่ต้องใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน จึงเป็นโอกาสของขบวนการค้ามนุษย์ที่แทรกซึมเข้ามาเป็นคนกลางเสนอความช่วยเหลือว่าจะพาเคลื่อนย้ายอย่างปลอดภัย ชาวโรฮีนจาต้องใช้เงินหลายหมื่นบาทเพื่อหวังได้ไปต่อในประเทศที่สาม แต่ขบวนการเหล่านี้ได้ลักลอบนำชาวโรฮีนจามาเป็นแรงงาน ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี บ้างก็หลอกเอาเงินและทิ้งให้ลอยลำเรืออยู่กลางทะเล
.
ข่าวใหญ่ของขบวนการ #ค้ามนุษย์ ในไทยเกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อมีการค้นพบชาวโรฮีนจากว่าพันชีวิตลอยลำอยู่กลางทะเลอย่างน่าเวทนา ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ตำรวจมีการสืบสวนสอบสวนจนพบค่ายกักกันในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา บางคนเสียชีวิตกลายเป็นศพถูกฝัง ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ในขณะที่อีกไม่น้อยถูกกักกันเพื่อรอขนย้ายต่อไปสู่ที่อื่น
.
คดีความมีการสืบสวนอย่างจริงจังกลายเป็นอีกหนึ่งคดีสร้างชื่อของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ และจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก มีตั้งแต่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจ คนทั่วไป หลายคดีก็มีการตัดสินโทษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
9) การอภิปรายทั่วไป เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ – พ.ศ. 2565
แม้ความคดีความจะมีการตัดสินผู้กระทำความผิดจากคดี #ค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปี 2558 ไปบ้างแล้ว มีทั้งนายทหารระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องมากมาย แต่ ‘บิ๊กบอส’ ที่แท้จริงเป็นใคร ยังสืบสาวไปไม่ถึง และดูเหมือนว่าเรื่องราวการค้ามนุษย์ก็เริ่มเลือนลางจางไปจากความสนใจของสังคมอยู่พักใหญ่ ๆ
.
18 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่องของการค้ามนุษย์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดต่อสาธารณะอีกครั้งในสภา โดย สส.รังสิมันต์ โรม ว่าขบวนการค้ามนุษย์ของไทยอาจยังไม่ได้หมดไป แต่แค่ไม่ได้ถูกสนใจและสืบสาวราวเรื่องต่อ 

.

ทั้งนี้มีการตั้งคำถามถึงสาเหตุการลี้ภัยของพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ซึ่งถือว่ามีผลงานอย่างยอดเยี่ยมในการทลายขบวนการค้ามนุษย์เมื่อปี 2558 อาจกำลังส่งสัญญาณว่า ‘ตัวการใหญ่’ ที่เป็นผู้มีอำนาจ มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง (แต่เป็นใครกัน ?) ยังไม่ถูกจับกุม
.
วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ.2021 (2021 TIP Report) จัดอันดับประเทศไทยอยู่ระดับ Tier 2 Watch List ลดระดับจาก Tier 2 เมื่อปี 2563 สะท้อนว่าภาพของการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ของเมืองไทย ยังคงอยู่ในสถานะน่าเป็นห่วงในสายตาของสหรัฐฯ
.
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลไทยได้มีการออกมาเปิดเผยว่ารู้สึกผิดหวัง การจัดอันดับไม่สะท้อนความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง และไม่ได้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยอ้างว่า การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยก็มีพัฒนาการเชิงคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
.

– มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง มีการปิดคดีอย่างรวดเร็วและความคืบหน้าเฉลี่ยร้อยละ 90 และผู้กระทำความผิดเกือบทั้งหมดได้รับการจำคุก รวมถึงให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด

.
– มีการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย ด้วยหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (victim-centered approach) และคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ (trauma-informed care) และ

.

– การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ  ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครอง/ได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย และลดความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
.
ทางด้าน Amnesty เชื่อว่าชาวโรฮีนจาที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม มีจำนวนประชากรประมาณ 1.1 ล้านคน ยังคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อน เพียงแค่ทุกฝ่ายต้องลดอคติ มองพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง
.
ชาวโรฮีนจาไม่ต้องการเป็นตัวปัญหาของใคร แค่ต้องการโอกาสที่จะมีชีวิตอย่างที่ชาติพันธ์ุอื่นได้มี…ก็เท่านั้น

ที่มา : thairath, pptvhd36, brandthink, workpointTODAY, Amnesty,  BBCThai

Exit mobile version