เคยมั้ย ⁉️ เดินไปตามถนนแล้วเจอแก๊งหมาจรดักทาง 🐕นั่งมอเตอร์ไซต์แล้วต้องยกขาหนีน้อง ๆ เพราะกลัวว่าจะโดนกัด หรือเข้าเฟซบุ๊กแล้วเห็นโพสต์รับบริจาคช่วยเหลือหมาจรจัดเต็มหน้าฟีด เชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยมีประสบการณ์กับหมาจรจัดตามท้องถนนไม่มากก็น้อย และก็คงรู้สึกไม่สบายตาไม่สบายใจกับปัญหาหมาจรล้นถนน
ปัจจุบันประเทศไทยมีหมาจรจัดไร้เจ้าของอยู่ประมาณ 758,000 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยสาเหตุหลักที่เป็นต้นกำเนิดของหมาจรจัดก็คือ การที่ผู้เลี้ยงแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว 💵 และประเทศไทยยังขาดนโยบายป้องกันและปราบปรามปัญหาหมาจรจัดที่มีประสิทธิภาพ 🚨
ปัญหาหมาจรล้นถนนไม่ได้เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของน้องหมาเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบเมือง และความเป็นอยู่ที่ดี (Well Being) ของคนในสังคมด้วยเช่นกัน 👨👩👧👦 เช่น
🦠 ผลกระทบด้านความสวยงามและสุขอนามัยของบริเวณที่อยู่อาศัยของมนุษย์
หมาจรจัดตามท้องถนนไม่ได้ถูกดูแลและได้รับการฝึกฝนอย่างดี น้อง ๆ เหล่านี้มักเป็นพาหะของเชื้อโรคและโรคในสัตว์ นอกจากนี้ เมื่อน้อง ๆ หมาจรเสียชีวิตก็มักถูกทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยตามธรรมชาติ ไร้การดูแลจากหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้บริเวณที่อยู่ของคนในพื้นที่ขาดสุขอนามัยตามไปด้วย
💞 ผลกระทบด้านสภาพจิตใจ
หลาย ๆ คนที่เป็นคนรักสัตว์คงรู้สึกสงสารทุกครั้งเวลาเห็นน้องหมาจรเต็มไปด้วยแผล ผอมเกร็ง หรือต้องนอนตากฝนตามท้องถนน การที่ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยหมาจรจัดที่ไม่ได้รับการดูแลย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนในชุมชนด้วยเช่นกัน
🏘 ปัญหาด้านความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
บริเวณที่มีหมาจรจัดแออัดมักจะประสบกับปัญหาลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่น้อง ๆ หมาจรชอบขับถ่ายไม่เป็นที่ เห่าหอนเสียงดัง วิ่งไล่กัด คุ้ยขยะ หรือส่งกลิ่นเหม็น ปัญหาเหล่านี้ล้วนสร้างความรำคาญใจให้กับคนในชุมชน และทำให้ชุมชนขาดความเป็นอยู่ที่ดีด้วย
จะแก้ปัญหาหมาจรได้ ภาครัฐต้องให้ความร่วมมือด้วย 🤝🏻
#Agenda ยังเดินต่อไหว! 💥 ชวนดูนโยบายหมาจรล้นถนนของแต่ละประเทศ ร่วมหาวิธียุติปัญหาหมาจรอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน
🇳🇱ประเทศเนเธอร์แลนด์ (หมาจร 0 ตัว)
นโยบาย ✅
1️⃣สุนัขทุกตัวต้องลงทะเบียนเพื่อรับไมโครชิพจาก Dutch Pet Database
2️⃣ผู้เลี้ยงต้องเสียภาษีสุนัขโดยเฉลี่ย 4,426.89 บาท ต่อตัวต่อปี
3️⃣ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจในการดูแลและเลี้ยงดูสุนัข หากไม่ดูแลหรือทอดทิ้งสุนัขจะถูกปรับเงินสูงสุด 59,0251.97 บาท
4️⃣รัฐมีโครงการ CNVR ได้แก่ รวบรวม (Collect) ทำหมัน (Neuter) วัคซีน (Vaccinate) และปล่อยคืน (Release) เพื่อช่วยเหลือและควบคุมสุนัขจรจัด
Note❗เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ถูกประกาศว่าเป็นประเทศไร้สุนัขจรจัดอย่างเป็นทางการ
🇩🇪ประเทศเยอรมนี (หมาจร 0 ตัว)
นโยบาย ✅
1️⃣ผู้เลี้ยงต้องเสียภาษีสุนัขที่เรียกว่า Hundesteuer โดยในเขตเมืองอัตราภาษีจะอยู่ที่ประมาณ 5,400-6,200 บาท ส่วนในชนบทจะอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,300 บาท ต่อตัวต่อปี
2️⃣ในบางรัฐผู้เลี้ยงต้องสอบข้อเขียน Hundeführerschein เพื่อขออนุญาตเลี้ยงสุนัข
3️⃣สุนัขต้องผ่านการทดสอบพฤติกรรมจากสัตวแพทย์
🇯🇵ประเทศญี่ปุ่น (หมาจรประมาณ 6,000 ตัว)
นโยบาย ✅
1️⃣ประกาศใช้ มาตรการกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายสัตว์เลี้ยง
2️⃣กำหนดเวลาซื้อขายสัตว์เลี้ยงเพื่อดูแลสุขภาพสัตว์ โดยห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยงก่อน 08.00 และหลัง 20.00 น.
3️⃣รัฐมีโครงการ TNR คือ ดักจับ (Trap) ทำหมัน (Neuter) และปล่อยคืน (Release) เพื่อช่วยเหลือและควบคุมสุนัขจรจัด
🇸🇬ประเทศสิงคโปร์ (หมาจรประมาณ 10,000 ตัว)
นโยบาย ✅
1️⃣ผู้เลี้ยงต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป
2️⃣เก็บค่าธรรมเนียมการเลี้ยงแปรผันตามอายุสัตว์
3️⃣รัฐมีโครงการ TNRM ได้แก่ ดักจับ (Trap) ทำหมัน (Neuter) ปล่อยคืน (Release) และจัดการ (Manage) เพื่อช่วยเหลือและควบคุมสุนัขจรจัด
🇹🇭ประเทศไทย (หมาจรประมาณ 758,000 ตัว)
นโยบาย ✅
1️⃣ไม่มีนโยบายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงหรือเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง
2️⃣สถานสงเคราะห์ส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของเอกชน
3️⃣ดำเนินมาตรการทำหมันและฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขจรจัดในเขตต่าง ๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแค่กำลังของประชาชนหรือภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหมาจรได้ 🐶 หากเราดูตัวอย่างประเทศที่มีประชากรหมาจรจัดน้อยแล้ว จะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลเป็นกุญแจดอกสำคัญ 🔑ที่ช่วยแก้ปัญหาหมาจรล้นถนนได้อย่างยั่งยืน