Home Socieverse 4 ความซับซ้อนของปัญหาชาวนา กระดูกสันหลังของชาติที่ถูกลืม

4 ความซับซ้อนของปัญหาชาวนา กระดูกสันหลังของชาติที่ถูกลืม

0

ทำนา…หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน แต่ทำไมไม่พอกินสักที 🌾
มอง 4 ความซับซ้อนของปัญหาชาวนา กระดูกสันหลังของชาติที่ถูกลืม 🧑‍🌾

“ข้าวเป็นอาหารประจำชาติไทย” ประโยคคลาสสิคที่ได้ยินมานมนาน รวมถึงความภาคภูมิใจที่มักได้ยินบ่อย ๆ ว่า “ข้าวไทยดีที่สุดในโลก” “สินค้าส่งออกมากที่สุดของไทย คือ ข้าว” ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี ปฏิเสธไม่ได้

ทว่า ภายใต้ตัวเลขความสำเร็จนั้น ภาพจำของคนปลูกข้าวหรือ ‘ชาวนา’ ทำไมยังดูเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน แต่กลับลืมตาอ้าปากไม่ได้ เป็นหนี้สิน รายได้แทบไม่พอต่อการดำรงชีวิต

อาชีพชาวนาถูกกดทับและมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แก้ไม่สำเร็จมาเป็นเวลานาน คนปลูกข้าวก็สู้ทนปลูกกันไป แต่รายได้และกำไรไม่เวียนมาเข้ากระเป๋า แรงที่ใช้ไปไม่คุ้มค่ากับค่าตอบแทน ส่งผลให้จำนวนชาวนาไทยลดลง (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) เกษตรกรเริ่มหาโอกาสใหม่ของชีวิต ทิ้งเคียวและคันไถ เข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่แบบตายเอาดาบหน้า

#Agenda ชวนดูปัญหาซับซ้อน 4 ประการของอาชีพกระดูกสันหลังของชาติ เมื่อข้าวเป็นสินค้าประจำเมืองไทย แต่ทำไมชาวนายัง ‘จน’ และ ‘เป็นหนี้’

1) ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตัวเอง

แม้ว่าจะมีอาชีพปลูกข้าว แต่รู้หรือไม่ว่าชาวนากว่า 3.5 ล้านคน ต้องเช่าที่ดินที่ปลูกข้าว ไม่มีกรรมสิทธิ์และที่ดินเป็นของตัวเอง เดิมทีชาวนาก็ไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวยอู่ฟู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไร กลุ่มทุนหรือคนที่นายทุนต่างชาติที่ ‘ทุนหนา’ สามารถเข้ามากว้านซื้อที่ดินเกษตรกรรมและปล่อยเช่าทำนาแก่ชาวบ้าน เพราะชาวนาไม่มีเงินพอที่จะจับจองเป็นเจ้าของที่ดิน

การไม่มีที่ดินทำกินของตัวเองกลายเป็นต้นทุนการปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้น ค่าเช่าทำนาคิดเป็นกว่า 40% ของค่าใช้จ่าย นี่ยังไม่รวมถึงความโปร่งใสและคุณธรรมของเจ้าของที่ดิน ซึ่งหากมีการเอารัดเอาเปรียบชาวนา การถูกโกงค่าจะเป็นเรื่องที่ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรองเพื่อความเป็นธรรม เมื่อหมดหน้าข้าวและขายข้าวสำเร็จ กำไรจึงแทบไม่เหลือ ไม่คุ้มทุน ไม่คุ้มค่าเหนื่อย

การส่งเสริมที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกรชาวนาโดยภาครัฐ จะเห็นว่ามีนโยบายและมาตรการออกมาช่วยเหลืออยู่เรื่อย ๆ  เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อกระจายที่ดินรกร้างให้ผู้ที่ต้องการใช้ทำมาหากิน รวมถึงประกาศใช้ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม รัฐธรรมนูญ ปี 2517 มาตรา 81 มีการกำหนดที่ดิน ส.ป.ก. อนุญาตให้เกษตรกรใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรได้อย่างถูกต้อง สำหรับผู้มีฐานะยากจน 

2) ต้นทุนสูงผลผลิตต่ำ

แม้ว่ารัฐจะช่วยเหลือด้านที่ดินทำกินของเกษตรกร แต่การปลูกข้าวให้ดีและขายได้ ไม่ใช่แค่การหว่าน/ดำ รอให้ออกรวง แล้วเก็บไปขาย การทำนามีต้นสูงแต่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน ต้องพึ่งพาสภาพอากาศเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงค่าเมล็ดพันธ์ุ ค่าปุ๋ย ค่าแรงงานเก็บเกี่ยว ค่าขนส่ง ค่าตากข้าว ค่าดูแล และอื่น ๆ ต่างพอกพูนเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย เฉลี่ย 3,698 – 4,891 บาทต่อไร่แต่ได้ผลผลิตไม่ถึงตัน ในขณะที่ราคาที่ขายได้ อยู่ที่ราว 6,000-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น

เงินค่าขายข้าวจากหน้านาที่แล้วจึงไม่พอมาเป็นทุนสำหรับหน้านารอบใหม่ นำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน ต้องนำที่นาไปจำนอง เมื่อได้เงินมาหมุนเวียนใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยความหวังว่าเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวจะได้เงินมาพอไปไถ่ถอนและปลดหนี้ ถ้าโชคไม่ดีไม่มีเงินไปถอนก็วนไปสู่ปัญหาข้อแรกอีกครั้ง

แต่ในบางครอบครัว ก็ไม่สามารถรอได้ถึงหน้านาใหม่ ทำให้แรงงานต้องหารายได้ทางอื่น หลายคนตัดสินใจเข้าเมืองเพื่อรับจ้างหาเงิน บางคงก็ถอดใจละทิ้งอาชีพชาวนามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเต็มตัว ด้วยรายได้ที่แน่นอนและมั่นคงกว่า สำหรับการหาเงินจุนเจือครอบครัว

มาตรการของภาครัฐเพื่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ส่วนใหญ่มาในรูปแบบของการให้เงินอุดหนุน เพื่อลดต้นทุนชาวนา ผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยจ่ายเงินสนับสนุนและช่วยเหลือต้นทุนการปลูกข้าวให้กับ ‘ชาวนา’ ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว เช่น ไร่ละ 1,000บาท/ไร่  นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำโครงการชำระดีมีคืน ด้วยการคืนดอกเบี้ย 20% ให้เกษตรกร ภายใต้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท

3) กว่าจะขายข้าวได้ต้องผ่านอะไรบ้าง ?

ทำนาก็เหมือนเล่นกับดวง! ไม่รู้ปีไหนจะแล้ง ปีไหนจะน้ำท่วม ปีไหนจะโรคระบาด ถ้าเคราะห์ดี พระแม่โพสพคงเมตตาช่วยให้ข้าวออกรวงอุดมสมบูรณ์ แต่ความเสี่ยงของชาวนาที่ต้องหวังกับความไม่แน่ไม่นอนเช่นนี้ ทำให้ผลผลิตข้าวไม่คงที่ บางทีได้น้อย บางทีได้มาก ทั้งนี้มากหรือน้อยก็ต้องไปสู้กับที่คุณภาพของข้าวอีกทอดหนึ่ง

ข้าวที่มีความชื้นสูงก็จะขายได้ราคาต่ำ ชาวนาก็ต้องแบกรับการตากข้าว อบข้าว เพื่อให้ได้ราคาสูงขึ้น บางครั้งตากข้าวแล้วก็ยังไม่ได้ราคาเต็ม หลายคนก็ตัดสินใจขายข้าวสดเพื่อสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งที่รู้ว่าได้ราคาต่ำ ยังไม่รวมปัญหาจากพ่อค้าคนกลางและโรงสีที่มีการเรียกเก็บค่าจิปาถะต่าง ๆ ยิ่งทำให้รายได้ขายข้าวถูกหักไปเรื่อย ๆ จนขาดทุน

ภาครัฐได้ลงมาให้ความช่วยเหลือด้านความไม่แน่นอนของผลผลิต ผ่านโครงการประกันรายได้ ซึ่งมีการดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี อย่างหน้าการผลิตปี 2564/65 วงเงิน 18,000 ล้านบาท (ข้อมูล 25 ต.ค. 64) รวมถึงมาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกอื่น ๆ เช่น สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก, สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเปลือก และการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีซื้อข้าวเปลือกเก็บไว้ในสต็อก และมีโครงการ “ตลาดนัดข้าวเปลือก’ ให้ผู้รับซื้อเข้าพื้นที่ 30 จุด ใน 19 จังหวัด

4) พันธุ์ข้าวคุณภาพตก สู้ต่างประเทศไม่ได้

ประเทศไทยถือเป็นผู้นำเบอร์ 1 การส่งออกข้าวของโลก ตั้งแต่ 2559-2562 กระทั่งในปี 2563 ไทยส่งออกข้าว ‘ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี’ หล่นมาอยู่อันดับที่ 3 เสียแชมป์ให้กับอินเดียและเวียดนาม ตามลำดับ ปริมาณการส่งออกที่ลดลงเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ประเด็นสำคัญ คือ คุณภาพของพันธุ์ข้าวที่เริ่มสู้กับต่างประเทศไม่ได้ เมล็ดข้าวของไทยพัฒนาสายพันธุ์ไม่ทันต่อการเร่งการผลิตของประเทศคู่แข่ง ทำให้ข้าวไม่เต็มเมล็ด ผลผลิตต่ำกว่า 350 กก.ต่อไร่

ในการประกวดพันธุ์ข้าวโลก ไทยเองก็เคยพลาดท่าให้กับข้าวเวียดนาม แม้ข้าวไทยจะยืนหนึ่งที่สุดในโลกมาหลายปี สะท้อนว่าเวียดนามสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ สถานการณ์ข้าวไทยจึงตกที่นั่งลำบาก เพราะราคาก็ไม่เข้าเป้าและคุณภาพก็กำลังโดนแซง 

การพัฒนาเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์ข้าว เช่น  Smart Farming การศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าว เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ไม่ปล่อยปละละเลย ยกระดับข้าวของประเทศไทยให้แตกต่างและโดดเด่นกว่าเดิม ทั้งเรื่องรสชาติ กลิ่นหอม ผลผลิต และการส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตที่ลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกร ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) มีการสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท จนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ และเป็นความหวังว่าข้าวไทยจะกลับมา ‘ยิ่งใหญ่’ ในวงการข้าวโลกอีกครั้ง




ประเด็นทั้ง 4 ที่ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความซับซ้อนที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของชาวนาไทย ทำให้อาชีพกระดูกสันหลังของชาติทำงาน ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ และคนรุ่นใหม่เริ่มเอาใจออกห่างเพราะมองเห็นว่าการทำนาไม่สามารถตอบโจทย์การหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งอาจทำให้จำนวนชาวนาลดลงไปอีกในอนาคต

ประเทศที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘ประเทศเกษตรกรรม’ กลับมีเกษตรกรจำนวนมากที่ประกอบอาชีพแล้วชีวิตคล้ายจะติดลบ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาของไทยที่รัฐไม่ควรมองข้ามและเพื่อนร่วมชาติไม่ควรละเลย เพื่อให้ชาวหน้าสามารถยืนได้ด้วยตัวเองและไม่ต้องละทิ้งวิถีชีวิตดังเดิมเพราะเรื่องปากท้อง

Exit mobile version