สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเป็นมหาอำนาจด้านสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทาง Green China

Highlight

ย้อนกลับไปราว 10 ปีก่อน ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1,354 ล้านคน อย่าง ‘ประเทศจีน’ กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ปัญหาเรื่องปากท้อง ความยากจน เศรษฐกิจตกต่ำ ทรัพยากรขาดแคลน บทบาทบนเวทีโลก และสิ่งแวดล้อมที่สะสมมาหลายปี ช่วงเวลานั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยน การค้นหาตำแหน่งผู้นำที่จะพาพญามังกรให้ผงาดขึ้นเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ 15 มีนาคม 2013 โลกได้รู้จักกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงจีนไปตลอดกาล

สี จิ้นผิง เป็นเป็นบุตรของ สี จงชุน อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง แต่ชีวิตวัยเด็กค่อนข้างลำบาก เนื่องจากจงชุนถูกย้ายให้เป็นกรรมกรเพราะอนุมัติให้มีการตีพิมพ์หนังสือที่วิจารณ์ประธานเหมา แต่ด้วยความมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียน เขาเป็นปัญญาชนที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลับมาศึกษาจบด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยชิงหวา และเริ่มมีสายสัมพันธ์กับบุคคลในกองทัพ ไต่เต้าเริ่มเข้ามาทำงานการเมืองในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์

จากนั้น สี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ กระทั่งการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ในเดือนพฤศจิกายน 2012 ได้รับโอกาสเป็นประธานาธิบดี โดยเริ่มดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 15 มีนาคม 2013 หลังจากนั้น ยังได้รับการโหวตจากพรรคอีก 2 สมัย เมื่อเดือนตุลาคม 2022 เพิ่งส่งมอบวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 ด้วยวัย 96 ปี จากความสำเร็จการบริหาร 10 ปีที่ผ่านมา

การเป็นผู้นำประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ก็เป็นนัยยะสำคัญว่าวิสัยทัศน์และการบริหารประเทศของสี ถูกตาต้องใจพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนจีน วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจีนภายใต้การนำของสีกลายเป็นผู้นำเกือบทุกด้านและขึ้นเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลก แม้แต่สหรัฐฯ หรือยุโรปก็ไม่อาจมองข้าม พญามังกรกลับมาแล้ว!

แนวทางของสี จิ้นผิง ต้องการสร้างแบรนด์จีนเป็นสังคมนิยมสมัยใหม่ ตัวอย่างผลงาน เช่น การกวาดล้างอาชญากรรมและการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด การผลักดันสังคมด้วยความรู้วิชาการและเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชนบท เศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด GDP ขยายตัวกว่า 2 เท่า ถึง 17.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนครองส่วนแบ่งในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18 จากร้อยละ 11

อีกเรื่องที่เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและยกระดับประเทศจีนสู่ความทันสมัย คือ นโยบาย Green China เรียกว่า ‘เธอมาได้ทันเวลาพอดี อย่างกับรู้ใจ’ เพราะลงล็อกกับช่วงภาวะโลกรวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกแข่งขันกันไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ สำหรับประเทศจีนเอง ก็ค่อนข้างยาก ประชากรพันกว่าล้านหมายถึงการใช้ทรัพยากรแบบมหาศาล ทว่า สี จิ้นผิง กลับทำได้ดี จีนกลายเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการสร้างความยั่งยืนต่อวิถีชีวิตพลเมืองและอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลย

Green China (จีนเขียว) เป็นนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เศรษฐกิจนิวเคลียร์ไฮโดรเจน รถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเชิงโครงสร้างสังคม เป้าหมายใหญ่ คือ การบรรจุเป้าหมายเป็นประเทศปลอดคาร์บอนหรือ Zero Emission ในปี 2060 พร้อมเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลก

เดือนมกราคม 2023 สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน เผยแพร่เอกสาร “China’s Green Development in the New Era.” หรือการพัฒนาสีเขียวของจีนในยุคใหม่ ที่อธิบายให้เห็นความสำเร็จของการทำงานด้าน Go Green ของจีนตั้งแต่ปี 2555-2564 เซอร์ไพรส์ชาวโลกและนักสิ่งแวดล้อมให้เห็นว่าจีนนั้นกำลังเอาจริง ไม่ได้มาเล่น ๆ กำลังไปสู่เป้าหมายที่เคยรับปากบนเวทีนานาชาติอย่างจริงจัง

ชุบชีวิตแหล่งธรรมชาติ ⎯ จีนส่งเสริมการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 400 ล้านไร่ มีเป้าหมายเพิ่มอีก 70,000 ล้านต้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 24.1 % ภายในปี 2025 ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันและควบคุมการแปรสภาพเป็นทะเลทรายบนพื้นที่ 116 ล้านไร่ และเพิ่มหรือฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งมีการศึกษาและควบคุมดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการปลูกอย่างยั่งยืน คำนึงเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศ 

ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ⎯ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) เปิดเผยว่าจีนเป็นเจ้าตลาดในการผลิตและการบริโภคของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าทั่วโลก ปี 2021 คนจีนซื้อรถไฟฟ้าใช้กว่า 3.3 ล้านคน มากกว่าจำนวนยอดขายทั้งโลกในปี 2020 รัฐบาลจีนมีการอุดหนุนลูกค้ารถยนต์ EV ราว 2,300-3,200 ดอลลาร์/คัน เพิ่มเงินลงทุนการวิจัยพลังงานสะอาดและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมการผลิตรถยนต์ที่เข้มแข็ง จีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV รายใหญ่สุดของโลกและเป็นซับพลายเออร์ให้แบรนด์รถชั้นนำ เช่น BMW Tesla  Volkswagen เศรษฐกิจรถยนต์ไฟฟ้ามีมูลค่ากว่า 4.7 ล้านล้านบาท และเป็นตัวแปรสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกให้คนหันมาใช้พลังงานสะอาด  สมาคมวิศวกรยานยนต์ของจีนประเมินว่าการปล่อย CO2 จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังอาจเพิ่มขึ้นไปถึงจะสูงสุดประมาณปี 2028 แต่คาดว่าจะลดลงเหลือ 20% เริ่มดีขึ้นจากระดับดังกล่าวภายในปี 2035

อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ⎯ รัฐบาลจีนมีการลงทุนกับพลังงานสะอาดทำให้สัดส่วนการใช้งานพลังงานสะอาดโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.5 ภายในสิ้นปี 2564 และสัดส่วนพลังงานถ่านหินลดลงเหลือร้อยละ 56 ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนเป็นผู้นำการผลิตโซลาร์เซลล์คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ครองแชมป์ต่อเนื่อง 8 ปี ด้านพลังงานลม เมื่อช่วงต้นปี 2023 จีนเปิดตัวกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกผลิตไฟฟ้าสำหรับเลี้ยงครอบครัวได้กว่า 40,000 หลังคาเรือนในแต่ละปี เขื่อนน้ำในจีนมีจำนวนมากกว่า 98,000 แห่ง ยิ่งไปกว่านั้น จีนมุ่งมั่นต่อการสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะพลังงานไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ยังไม่รวมพื้นที่ผลิตพลังงานอื่น ๆ ที่อยู่นอกอาณาเขตจีน คาดว่ามูลค่าการผลิตและส่งออกพลังงานสะอาดอาจสูงถึง 1.18 ล้านล้านดอลลาร์

เมืองยั่งยืน ⎯ รัฐบาลผลักดันรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมืองออกแบบนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง หลาย ๆ เมืองต้องพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินหน้าไปทิศทางเดียวกัน เช่น การเพิ่มสถานีชาร์จรถยนตร์ไฟฟ้า ระบบขนส่งสาธารณะระบบไฟฟ้า การฟื้นฟูระบบนิเวศในท้องถิ่น สนับสนุนการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยแต่ละเมืองจะวิเคราะห์ความเหมาะสม มีแนวทางแตกต่างกัน เช่น เมือง Shenzhen นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาดูแลการบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะ และใช้ AI วิเคราะห์ปัญหามลพิษ เมือง Guilin ใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาการเพิ่มพื้นที่ของทะเลทราย 

ผลลัพธ์การเดินหน้านโยบาย Green China ค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จีนได้รับคำชมเชยจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง และล่าสุดเมื่อการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP27) เดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา จีนเป็นหนึ่งประเทศผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ที่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงได้สำเร็จประมาณ 0.9% ของทั้งโลก สวนทางกลับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 1.5% และเพิ่มขึ้น 6% ในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่อันดับสองและสี่ของโลกตามลำดับ ทั้งนี้ สัดส่วนภายในประเทศจีนเอง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของลดลง 8% เป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่สองของปี 2022 ด้วย

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของ สี จิ้นผิง ที่สวมหัวโขนประธานาธิบดีของจีน พลิกโฉมจีนสู่ผู้เล่นคนสำคัญที่กำลังจะพิสูจน์ว่ามนุษย์เปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนขึ้นได้ งานด้านของสิ่งแวดล้อมที่ลงหลักเอาไว้ เริ่มผลิดอกออกผลเห็นเป็นความสำเร็จที่วัดได้ สภาพอากาศของจีนเริ่มดีขึ้น ภาพลักษณ์ของจีนดูเป็นมิตรกับโลก

ท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญความปั่นป่วนของภูมิอากาศ เศรษฐกิจที่ดี กองทัพที่เข้มแข็ง คุณภาพชีวิตของประชาชน การเมืองที่มั่นคง ฯลฯ อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมดที่บ่งบอกว่าประเทศหนึ่งเป็นมหาอำนาจ หากแต่ต้องมี ‘ความเป็นสีเขียว’ ผนวกรวมอยู่ด้วย  อีกไม่นานหลักจากนี้ อาจเป็นเวลาขององพญามังกรก็เป็นได้ที่จะเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง

อ้างอิง

South China Morning Post – https://bit.ly/3lhvOUE 

thaibizchina – https://bit.ly/3FtBCBp 

ienergyguru – https://bit.ly/3TgTpkV 

China Daily Global – https://bit.ly/3JgMX9e 

reuters – https://reut.rs/3LoTTDG และ https://reut.rs/3JhtCV9 

the ceomagazine – https://bit.ly/3liGbYp

Popular Topics