Home Social 50 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับโลกบ้าง ?

50 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับโลกบ้าง ?

50 ปีที่ผ่านมา ประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เศรษฐกิจโลกขยายตัว 4 เท่า การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 เท่า การขยายตัวที่รวดเร็วนี้ เป็นเหมือนอัตราเร่งให้โลกกำลังถูกทำลายเร็วขึ้นหลายสิบ หลายร้อยเท่าเช่นกัน

0

50 ปีที่ผ่านมา

ประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว 

เศรษฐกิจโลกขยายตัว 4 เท่า 

การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 เท่า

การขยายตัวที่รวดเร็วนี้เป็นเหมือนอัตราเร่งการทำลายโลก
ให้สูงกว่าช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมาหลายสิบ หลายร้อยเท่าเช่นกัน

#Agenda พาคุณมาย้อนดูผลงาน 50 ปีที่ผ่านมาของมนุษย์ ว่าส่งผลยังไงกับโลกของเราบ้าง?

————-

ป่าไม้ถูกทำลาย

“ ทั่วโลกกำลังสูญเสียพื้นที่ป่าขนาดเท่าสนามฟุตบอล 50 สนาม ทุกๆ 1 นาที หรือ เทียบเท่าประเทศอังกฤษทุกๆ 1 ปี ”

FAO ระบุว่า พื้นที่ป่าไม้ของทั้งโลก ปี 2020 เหลืออยู่ประมาณ 26,650 ล้านไร่

ตลอดช่วง 20 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.2000 ถึง 2020 พื้นที่ป่าไม้ของทั้งโลกลดลงจาก 31.9% เหลือ 31.2% 

หรือหดหายไปถึง 650 ล้านไร่

แม้ว่าผู้นำประเทศทั่วโลกได้ร่วมลงนาม ‘ปฏิญญานครนิวยอร์ก’ ในปี 2014 ที่ตั้งเป้าจะลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 และส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ 150 ล้านเฮกตาร์

ซึ่งถ้าสามารถรักษาพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่นี้ไว้ได้ จะกำจัดก๊าซคาร์บอนได้ เท่ากับเอารถยนต์ทุกคันออกไปจากถนน

แต่นับจากการลงนาม กลับพบว่าอัตราการสูญเสียต้นไม้ได้เพิ่มมากขึ้นถึง 43% 

โดยพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนซึ่งมีคุณค่าทางระบบนิเวศและไม่อาจปลูกทดแทนได้ ได้รับความเสียหายมากที่สุด

พื้นที่ป่าไม้ถูกถางทำลายเฉลี่ยมากที่สุดของโลก คือแถบตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา และแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาติกำลังพัฒนา สาเหตุหลักการทำพื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ 

ปัญหายุ่งยากอีกอย่างหนึ่งของการรักษาป่าคือ รัฐบาลหลายแห่งให้เงินอุดหนุนแก่ภาคเกษตรซึ่งเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่เสมอไป หลายประเทศแถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ กลับมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นและอัตราการสูญเสียป่าชะลอตัวลง ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ การปกป้องป่า ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 30% วิธีที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนคือ การคุ้มครองและปกป้องป่า แต่ตราบใดที่พื้นที่ป่าเดิมยังคงลดลงอยู่ เพราะการปลูกต้นไม้เพิ่มไม่อาจชดเชยการสูญเสียป่าดั้งเดิมได้ ”

————-

แมลงเสี่ยงสูญพันธุ์ภายใน 100 ปี

แมลงตัวจิ๋วกำลังจะหายไปจากโลก ในอีก 100 ปี ข้างหน้า

ประชากรแมลงในโลก มีราว 9 แสนถึง 1 ล้านสายพันธุ์ แต่จำนวนเท่าไหร่ ไม่มีใครเคยนับได้

หากเทียบเป็นสัดส่วนต่อคนนั้นคือ มีแมลงทั่วโลก 1.4 พันล้านตัว ต่อมนุษย์ 1 คน

แต่ละตัว ก็ล้วนมีความสำคัญสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ย่อยสลาย ผู้เก็บกวาด

มนุษย์ส่วนใหญ่มักมองว่าแมลงน่ารังเกียจ น่ารำคาญ เป็นพาหะนำโรค 

มีบางชนิดเท่านั้นจะสวยงาม

แต่เจ้าพวกตัวจิ๋วนี่แหละ คือพลังขับเคลื่อนโลกที่เรามองข้าม

ฐานเศรษฐกิจของประเทศเกษตรกรรมก็มีพวกแมลงเป็นผู้ผสมเกสร เป็นอาหารหลักของสัตว์ต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติ ย่อยสลายเศษซากพืช ซากสัตว์ และของเสีย สร้างธาตุอาหารในดิน

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแมลงหายไป ?

กว่า 40% ของสายพันธุ์แมลงกำลังลดจำนวนลง

1 ใน 3 ส่วนกำลังใกล้สูญพันธุ์

แมลงหายไปร้อยละ 2.5 ต่อปีในเพียงช่วง 25-30 ปีที่ผ่านมา

10 ปี จากนี้แมลงจะลดลงอีก 1 ใน 4 

50 ปี จากนี้จะเหลือจำนวนเพียงครึ่งหนึ่ง 

และ 100 ปี จากนี้จะไม่เหลือแมลงอีกเลย

แน่นอนว่า ห่วงโซ่อาหารจะล่มสลาย หากไม่มีเจ้าพวกตัวจิ๋ว

แมลงเป็นแหล่งอาหารของเหล่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ 

ห่วงโซ่อาหารจะสะดุด สัตว์ใหญ่ที่กินสัตว์เล็กก็จะล้มตายเป็นทอดๆ

ระบบนิเวศทั้งระบบจะโกลาหล

สิ่งมีชีวิตอื่นจะสูญพันธุ์ตามมา

เพราะอะไร แมลงถึงหายไป ?

คำตอบก็คงหนีไม่พ้นมนุษย์ สาเหตุหลักก็คือ การทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นหนักการใช้ยาฆ่าแมลง 

ซึ่งการใช้สารเคมี ทำให้มีสารพิษปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ทำให้บางสายพันธุ์ไม่สามารถปรับตัวได้

“การที่สายพันธุ์แมลงหายไปจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศของโลก และการอยู่รอดของมนุษย์”

————-

อากาศพิษและโลกร้อน

ในปี 2300 อุณหภูมิเฉลี่ยจะพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 50 ล้านปี 

67 ล้านปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน โลกได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากภาวะเรือนกระจกที่ร้อนแรง (Hothouse) มาสู่สภาพภูมิอากาศอบอุ่น (Warmhouse) และหนาวเย็น (Coldhouse) จนมาสู่ยุคน้ำแข็ง (Icehouse) ในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา

แต่ล่าสุดโลกกำลังกลับไปสู่ภาวะเรือนกระจกที่ร้อนแรง (Hothouse) อีกครั้ง จากฝีมือมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะไม่ได้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่ใช้เวลาหลายล้านปี

แต่จะเกิดขึ้น ภายในอีกไม่กี่ร้อยปีข้างหน้า

จะเป็นยังไง ถ้าอุณหภูมิโลก เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ?

ทีมนักวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ ชี้ว่าในปี 2050 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและฤดูกาลอย่างรุนแรงในเมืองสำคัญ 520 แห่งทั่วโลก  

1 ใน 5 ของเมืองเหล่านี้จะมีสภาพภูมิอากาศแปลกประหลาด แบบที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนในโลก

ตัวอย่างเช่น

– ยุโรปจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 4.7 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และร้อนขึ้น 3.5 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน

– เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีปัญหาหนักเรื่องปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน โดยทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้ง พร้อมกับเกิดภัยแล้งจัดถี่ขึ้น

– กรุงเทพฯ อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส

ภัยพิบัติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังเกิดบ่อยถี่ขึ้น ในอัตราสูงถึงสัปดาห์ละครั้งทั่วโลก 

แต่ประเทศต่างๆ ไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้เลย

————-

ดินและน้ำเสียสมดุล

อีก 60 ปีข้างหน้า ดินมีคุณภาพจะหมดโลกนี้ไป

FAO ระบุว่า 1 ใน 3 ของดินบนโลกที่เคยคุณภาพดี ปัจจุบันกลายเป็นดินไร้คุณภาพ

แต่ละปีโลกสูญเสียดินคุณภาพดีเฉลี่ยปีละ 24,000 ล้านตัน หรือราว 23%

วิธีการใช้ผืนดินที่เปลี่ยนไปเป็นสาเหตุหลัก 

การเปลี่ยนทุ่งหญ้า มาใช้สำหรับปลูกพืชไร่ 

เปลี่ยนป่าไม้หรือถางป่า มาเป็นพื้นที่ป่าเพื่อเพาะปลูก

ปี 1950 มาจนถึงปี 2019 อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรโลก เพิ่มขึ้น 0.075 องศาเซลเซียส

การทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นนิดหน่อยก็ยังจะต้องใช้พลังงานความร้อนสูงมากในระดับที่เหลือเชื่อ

” พลังงานความร้อนที่ใส่เพิ่มเข้าไปในมหาสมุทรตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา 3.6 พันล้านลูก หรือเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 5 ลูก ทุก 1 วินาที “

การสูญเสียออกซิเจนในมหาสมุทร ทำให้โลกสูญเสียออกซิเจน 15% ทั้งโลก 

และสูญเสียออกซิเจนที่เคยเก็บกักในมหาสมุทรช่วงความลึกจากผิวน้ำถึง 1 กิโลเมตร มากกว่า 50%

ผลกระทบจากการที่เขตออกซิเจนต่ำได้แผ่ขยายกว้างขึ้น 

การอพยพของสัตว์ทะเลบางชนิดจะเปลี่ยนแปลงไป 

สัตว์บางชนิดจะล่าเหยื่อไม่ได้ ทำให้พวกมันขาดอาหารและเสียชีวิตลง

นอกจากนี้ยังพบว่า ชายฝั่งที่มีปริมาณออกซิเจนลดลงมากถึง 500 แห่งทั่วโลก

ปี 2100 ทั่วโลก ต้องสูญเสียพื้นที่หาดทรายไปถึงครึ่งหนึ่ง หรือนับแสนกิโลเมตร จากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง

————-

ที่มา : WWF, Seub, BBC, Greenpeace, Themomentum, NSM, Bangkokbiznews

Exit mobile version