ป้ายรถเมล์แต่ละประเทศหน้าตาเป็นอย่างไร?

Highlight

คุณมีความประทับใจอะไรดีๆ กับ ‘ป้ายรถเมล์’ ในกรุงเทพบ้าง? ป้ายรถเมล์ เป็นจุดเล็กๆ ที่มีไว้สำหรับรอขึ้นรถ แต่ใครจะไปรู้ว่า วันหนึ่งๆ เราพบว่าตัวเองมีประสบการณ์อยู่ที่จุดเล็กๆ นี้มากกว่าที่คิด เพราะเป็นวิธีการเดินทางหลักในกรุงเทพฯ​ และยังต้องรอรถน๊านนานอีกด้วย รอรถเมล์ไปก็สงสัยไป ว่านอกจากเราที่เจอชีวิตดีดีที่ลงตัวแบบนี้ เมืองอื่นๆ ประเทศอื่นๆ เขามีป้ายรถเมล์แบบไหนกันนะ หรือจริงๆ แล้ว ป้ายรถเมล์อาจเป็นอะไรได้มากกว่านี้? มาดูกันว่า ‘ป้ายรถเมล์แต่ละประเทศ หน้าตาเป็นอย่างไร?’ และป้ายรถเมล์ในฝันของคุณเป็นแบบไหน? มาบอกกันได้นะคะ #กรุงเทพชีวิตดีดีที่ลงตัว

ป้ายรถเมล์กรุงเทพ

กรุงเทพ – ไทย

ภาพพบบ่อยที่น่าจะเป็นประสบการณ์ร่วมของเราหลายๆ คน คือ
– ไม่กันแดดกันฝน
ที่เศร้าคือ ต้องยืนแอบหลังเสาเพื่อพึ่งเงาเสาบังแดด แล้วพอรถมาก็โบกไม่ทัน
– ดูเส้นทางยาก
ถ้าไม่ใช่เส้นที่ไปประจำ เกาหัวเลยนะ บางทีรู้สาย แต่ไม่รู้ต้องขึ้นฝั่งไหน หรือรู้แค่จะไปไหน แต่ไม่รู้จะไปยังไง เริ่มที่สายอะไรดี
แถมป้ายรถก็มีแต่โฆษณาใหญ่เบิ้ม แต่ไม่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์จริงๆ เลย

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยปรับปรุงนะ
ถ้าลองหาข่าวเกี่ยวกับป้ายรถเมล์ เราจะพบว่าภาครัฐมีการปรับปรุงป้ายรถเมล์บ่อยคร้ัง เรียกได้ว่าแทบทุกปี

อย่างในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ก็มีข่าวติดตั้งป้ายอัจฉริยะใหม่ 691 ป้ายทั่วเมือง มี บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) เป็นผู้รับสัมปทานบริหารและบำรุงรักษาโครงการ ระยะเวลา 10 ปี แลกกับการหารายได้จากการขายสื่อโฆษณาบริเวณป้ายรถเมล์และป้ายโฆษณาของ กทม. จำนวน 1,170 ป้าย
.
โดย 350 ป้ายแรกจะติดตั้งเสร็จเดือนเมษายนปีหน้า
แบ่งเป็นป้าย Full Function 100 ป้าย มีคุณสมบัติ
– จอ 55 นิ้ว บอกเส้นทางเดินรถ จุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ
– กล้องซีซีทีวี ไฟฟ้าส่องสว่าง
– ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ และ wifi ฟรี

ตอนนี้มีนำร่องป้ายแรกแล้วที่เซ็นทรัลพระราม 9

ส่วนอีกจำนวน 250 ป้าย แบบ Light Function ต่างกับแบบฟูลตรงที่จะไม่มีจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว และระบบ Wi-Fi router นะ

มีใครได้ลองหรือยัง? เป็นยังไงมาบอกกันบ้างนะคะ

ป้ายรถเมล์เมียนมาร์

ย่างกุ้ง – เมียนมาร์


ย้อนกลับมาดูเพื่อนบ้านบ้าง

ในปี 2018 เมียนมาร์เปิดตัวป้ายรถเมล์ใหม่ 500 จุด
ซึ่งเป็นป้ายฟรีที่เอกชนลงทุนให้กว่า 13 ล้านเหรียญ
เอกชนที่ว่าคือ FMIDecaux บริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทโฆษณาระดับโลก JCDecaux และ FMI บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของพม่า

โดยมีเงื่อนไขว่า FMIDecaux จะลงโฆษณาบนป้ายรถเมล์เหล่านี้ได้ฟรี เป็นเวลา 20 ปี

ที่น่าสนใจก็คือ เมียนมาร์ เพื่อนบ้านของเราก็มีปัญหาจราจร บริเวณป้ายรถที่มีคนขึ้นเยอะๆ คล้ายบ้านเรา ทำให้ป้ายรถเมล์ในจุดเหล่านี้ มีการออกแบบเพื่อลด ‘รถติด’ ทำจุดต่อคิว เพื่อให้ขึ้นรถอย่างเป็นระเบียบ พร้อมเพิ่มจุดจอดให้เพียงพอต่อรถที่มาถึงด้วย

ป้ายรถเมล์จีน

จีน


ถ้าทำป้ายรถอัจฉริยะแล้วไม่เวิร์ก จริงๆ ไทยอาจจะต้องการความเรียบง่ายแต่ครบครันแบบป้ายรถเมล์จีนก็ได้

ป้ายรถเมล์จีน จะมีข้อมูลจำเป็นอยู่ครบถ้วน คือบอกชื่อป้าย บอกสายรถ บอกเส้นทาง ต้นทาง-ปลายทาง บอกสถานีที่ผ่าน บอกทิศทางที่ไป บอกวันเวลาการให้บริการ

แต่ป้ายล้ำๆ พี่จีนเขาก็มีนะ
ในเมืองใหญ่ๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ มีป้ายรถเมล์อัจฉริยะ คือนอกจากข้อมูลพื้นฐานทั้งหมด ยังช่วยบอกเวลาประมาณที่รถจะมาถึงแบบเรียลไทม์ด้วย

ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ ระบบรถจึงยังไม่เหมือนกันในทุกจุด
แม้ค่าโดยสารจะราคาเพียง 1-2 หยวน แต่บางที่ยังต้องใช้การหยอดเหรียญจ่ายค่าโดยสาร และไม่มีระบบทอนเงิน ทำให้คนที่ไม่มีเหรียญอาจต้องจ่ายเกิน หรือหาแลกเหรียญ

จึงเกิดโครงการเล็กๆ แต่น่ารัก เรียกว่า “แชร์เหรียญ 1 หยวน” วางไว้ตามป้ายรถเมล์ ให้คนที่ไม่มีเหรียญได้ใช้ขึ้นรถสะดวก

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนแค่ว่าคนจีนมีน้ำใจเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าค่าโดยสารรถเมล์อยู่ในระดับที่ประชาชนจ่ายไหว การจะมีน้ำใจเล็กน้อยให้กันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยากเลย

ป้ายรถเมล์ เมืองยูเทรกต์ เนเธอร์แลนด์

ยูเทรกต์ – เนเธอร์แลนด์


แนวคิดป้ายรถเมล์ในเมืองยูเทรกต์ เน้นที่การใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยปลูกคลุมพืชบนหลังคา ช่วยดูดซับฝุ่นควันและมลพิษ ซึ่งจะช่วยกักเก็บน้ำฝนเพื่อความเย็นสบายในหน้าร้อน

นอกจากนี้ยังใส่ใจไปถึงพลเมืองตัวจิ๋ว อย่างแมลงเต่าทอง และผึ้งด้วย การปลูกต้นไม้ดอกไม้ที่มันชอบ จะช่วยให้มันมีที่อาศัย และเติมเต็มระบบนิเวศน์ โดยจะการปลูกดอกไม้อยู่บนหลังคา เพื่อช่วยดึงดูดผึ้งไม่ให้มาต่อยคนด้วย

ไม่ใช่แค่ป้ายรถเมล์นะที่รักษ์โลก แต่รถเมล์ก็มีแผนเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด แม้แต่คนที่ต้องคอยดูแลต้นไม้ที่ป้าย ก็ใช้รถพลังงานไฟฟ้าขับไปดูแลทุกป้ายรอบเมืองด้วย

ป้ายรถเมล์เกาหลีใต้ 

โซล – เกาหลีใต้ 

ก่อนอ่าน เตรียมใจไว้กันไฟอิจฉาได้เลย
เพราะตอนนี้ ป้ายรถเมล์รุ่นใหม่ของเกาหลี มีฟังก์ชันในฝันแบบครบครันมากๆ

นอกจากการบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการขึ้นรถแล้วอย่างเส้นทางและเวลารอรถแล้ว ยังมีการติดแอร์ ติดไวไฟให้ใช้ฟรี มีกล้องวงจรปิดและปุ่มฉุกเฉินสำหรับขอความช่วยเหลือ

ซึ่งที่มาแนวคิดป้ายรถเมล์สุดไฮเทคอันนี้ มาจากประชาชนร่วมกันช่วยเสนอไอเดียนั่นเอง

ที่สำคัญ การพัฒนาป้ายรถเมล์นี้อยู่ในช่วงเดียวกับวิกฤติ #โควิด19 ทำให้ไอเดียการทำป้ายรถเมล์เป็นกล่องปิดอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จึงมีการเพิ่มเติมสิ่งเหล่านี้เพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่
– ระบบฟอกอากาศ
– คัดกรองอุณหภูมิผู้ใช้ก่อนเข้า
– มีหลอดไฟอัลตราไวโอเลตฆ่าเชื้อ

ป้ายรถเมล์สิงคโปร์

จูร่ง – สิงคโปร์ 


ไฟอิจฉาป้ายรถเมล์เกาหลียังไม่ดับ มาเติมเชื้อไฟด้วยป้ายสิงคโปร์กัน

ในย่านจูร่งของสิงคโปร์ มีป้ายรถเมล์ที่เห็นแล้วอาจจะงงได้
ว่านี่ป้ายรถเมล์หรือสวนสาธารณะชุมชนกันแน่
เพราะนี่คือป้ายรถเมล์ที่ดีที่สุดในโลก (อีกแล้ว)

ป้ายนี้ นอกจากจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขึ้นรถ เช่น จอบอกเส้นทาง และช่วยวางแผนการเดินทางได้ด้วย รวมถึงมีบอกข้อมูลบอกสภาพอากาศ ประกาศข่าวหรืออีเวนท์ในพื้นที่

สิ่งที่ทำให้ป้ายรถเมล์นี้ล้ำกว่าเดิม คือ ที่ป้ายมีมุมหนังสือดีๆ จากห้องสมุดแห่งชาติ ถ้าอยากอ่านต่อ ก็มีระบบ QR CODE หนังสือดิจิทัลให้ไปอ่านต่อในรถได้ตามสบาย มีที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ บริการที่จอดจักรยาน จุดแสดงงานศิลปะ มีชิงช้าให้แกว่งเพลินๆ ส่วนแสงสว่างและจอไฟต่างๆ ก็ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอีกด้วย

Popular Topics