ประสบการณ์ของคุณกับ ‘รถเมล์ไทย’ เป็นอย่างไรกันบ้าง?
การขับรถอันสุดเหวี่ยง สภาพรถเก่าโทรม
ปล่อยควันดำ จอดไม่ตรงป้าย
ไม่จอดรับ ไม่เอื้อกับคนแก่และคนพิการ ฯลฯ
คนไทย โดยเฉพาะ Gen Y อยู่กับรถเมล์ที่มี ‘เอกลักษณ์’ เช่นนี้มาตั้งแต่เกิด
อย่างรถครีมแดง ก็อยู่มาตั้งแต่ปี 2534
แต่ก็ยังต้องใช้ เพราะทางเลือกการเดินทางไม่ได้มีมากนัก
อันที่จริง ปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะแบบนี้ เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ
แต่ในปัจจุบัน ประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จในการทำให้รถเมล์เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกชนชั้นเข้าถึงและนิยมใช้ ยกตัวอย่างเช่น
สิงคโปร์ มี GDP 2,010,828 บาทต่อหัวต่อปี มีจำนวนคนใช้รถเมล์ต่อวันสูงถึง 3.9 ล้านคน
ไทย มี GDP 244,944 บาทต่อหัวต่อปี แต่มีจำนวนคนใช้รถเมล์ต่อวันอยู่ที่ 5 แสน – 1 ล้านคน เท่านั้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
แล้วหน้าตาของรถเมล์แต่ละประเทศเป็นอย่างไร?
เขาจัดการอย่างไรให้ทั่วถึง น่าใช้ ไม่มาสาย ไม่ขับแข่ง?
กรุงเทพ – ไทย
ปัญหาทับซ้อน ที่รอ ‘แผนฟื้นฟู’
สำหรับประเทศไทย รถเมล์ยังหมายถึงทางเลือกขนส่งสาธารณะของคนรายได้น้อย เพราะตัวเลือกอื่นแม้จะดีกว่า แต่ก็ยังแพงกว่าหลายเท่าตัว
เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนารถเมล์ไทย?
ปัญหาของรถเมล์ไทยนั้นมีความทับซ้อนหลายมิติ ตั้งแต่โครงสร้างผังเมือง ที่มีสัดส่วนถนนต่อพื้นที่เมืองน้อยมาก ทำให้รถติด รถเมล์ก็มาไม่ตรงเวลา ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะต้องแก้ตั้งแต่ผังเมือง และมันยิ่งทับซ้อนหนักเข้าไปอีกด้วยปัญหาเหล่านี้
– ไม่มีการอัปเดตเส้นทาง สำรวจความต้องการของคนขึ้น
– บุกเบิกเส้นทางช้ากว่ารายย่อย (สองแถว, กะป๊อ) เมื่อรถเมล์จะเข้าไปทำบ้าง ก็เกิดปัญหากับผู้ประกอบการเดิม
– ขับทับสายกัน สายเดียวมีเจ้าอื่นเป็นคู่แข่ง ทำให้วิ่งรถแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสาร ทำให้วินัยขับรถแย่ไปด้วย
นอกจากจะมีปัญหาจราจรติดขัด ทำให้มาไม่ตรงเวลา ปัญหานี้ยังหนักขึ้น ด้วยระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นไม่เอื้อต่อการใช้รถเมล์เลย
เช่น
– ป้ายรถเมล์ไม่มีแจ้งสถานะ ไม่มีบอกเวลารอรถที่แม่นยำ คนรอไม่รู้ต้องรอนานแค่ไหน
– ป้ายรถเมล์ กันแดด/ฝน ไม่ได้
– การบอกเลขสาย อ่านยาก มองไม่เห็น
– ชานรถสูง ไม่เสมอฟุตบาท ไม่เอื้อกับคนแก่และคนพิการ
จริงๆ ขสมก. มีแผนฟื้นฟูรถเมล์ไทยอยู่ เนื่องจากผลประกอบการขาดทุนหนัก และเสียงตอบรับจากผู้ใช้เป็นไปในทางลบ เราก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป ว่าการฟื้นฟูครั้งนี้จะได้ผลหรือไม่
ลักเซมเบิร์ก
รถเมล์ฟรี ลดความเหลื่อมล้ำและปัญหาจราจร
ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงที่สุดในโลก
แต่ความร่ำรวยนี้ก็ทำให้ลักเซมเบิร์กประสบปัญหาคมนาคมเช่นกัน
ลักเซมเบิร์กมีอัตราการเป็นเจ้าของรถสูงที่สุดในยุโรป
ทำให้มีจำนวนรถหนาแน่น
ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเยอรมัน ก็เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาทำงาน
ทำให้ลักเซมเบิร์กมีปัญหาจราจรหนักติดอันดับโลก
รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศให้บริการขนส่งสาธารณะในประเทศ (รถไฟ รถราง และรถเมล์) ฟรีทั้งหมด เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวลง และช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้คนจนเข้าถึงการเดินทางได้
โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2025 ต้องมีคนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 20%
ลอนดอน – อังกฤษ
รถเมล์ ‘เคย’ สาย กับต้นแบบบัตรแมงมุม
ถ้าบ้านเรามีรถครีมแดง รถเมล์สีแดงสดใสก็เป็นเอกลักษณ์ของลอนดอนเช่นกัน
ระบบรถเมล์ของลอนนั้นใหญ่ที่สุดในโลก มีรถเมล์วิ่งกว่า 9,300 คัน มีสายรถกว่า 700 สาย แต่ก็ประสบปัญหาการจราจรที่ติดขัด ทำให้รถเมล์มาสายเช่นกัน
จึงเริ่มมีการคิดค่าธรรมเนียมรถยนต์ส่วนตัวที่จะเข้าเมือง เพื่อจำกัดจำนวนรถที่เข้าเมืองได้ ในปัจจุบัน ใช้เวลารอรถเมล์เฉลี่ยราวๆ 5.21 นาที
อีกปัญหาสำคัญคือ ค่ารถเมล์ของลอนดอนค่อนข้างแพง รัฐจึงต้องช่วยอุดหนุนส่วนต่างเพื่อพยุงค่าโดยสาร ให้คนยังเข้าถึงได้จำนวนมาก และนำระบบ Oyster Card เข้ามาใช้จ่ายค่าโดยสารได้ทั้งรถไฟ รถเมล์ ทั่วมหานคร ช่วยลดปัญหาต่อคิวยาว และยังคำนวณค่าโดยสารอัตโนมัติ รองรับโปรโมชั่นหลากหลาย เช่น มี Hopper Hours ถ้าใน 1 ชั่วโมงขึ้นหลายรอบ จะคิดเงินแค่เที่ยวเดียว
ซึ่งระบบ Oyster Card (ที่ถูกนำมาใช้สิบกว่าปีมาแล้ว) ในขณะนั้นก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นระบบการจัดการที่ดี ช่วยลดขยะตั๋วกระดาษได้หลายล้านใบ และยังเพิ่มประหยัดเวลาในการเดินทางเพราะไม่ต้องต่อแถวจ่ายเงินได้อีกด้วย
นอร์เวย์
ผู้ให้บริการหลากหลาย ยิ่งทำดีรัฐยิ่งมีโบนัสให้
ระบบรถเมล์ของแสกนดิเนเวียก็น่าสนใจ และมีโมเดลในภาพใหญ่คล้ายคลึงกัน เราจึงดึงนอร์เวย์มาเป็นตัวอย่าง
การบริหารจัดการรถเมล์ของนอร์เวย์นั้นจะใช้วิธีให้รายย่อยมาซื้อสัญญาเดินรถกับเจ้าใหญ่ หรือซื้อแฟรนไชส์ และให้เจ้าของแฟรนไชส์เป็นผู้กำกับควบคุมคุณภาพให้ตรงตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ โดยรถที่วิ่งทั่วนอร์เวย์นั้นกว่า 90% เป็นแฟรนไชส์
จะเห็นได้ว่า ระบบนี้จะช่วยควบคุมคุณภาพการบริการได้ด้วยตัวมันเอง
คือรัฐกำหนดกับเจ้าใหญ่ เจ้าใหญ่ไปบริหารเจ้าเล็กที่ซื้อแฟรนไชส์ เพื่อลดภาระการจัดการของรัฐ
และยังมีระบบจูงใจให้โบนัสผู้ให้บริการอีกด้วย ถ้าหากผลการประเมินการบริการดีรัฐจะมีโบนัสให้ โดยเกณฑ์การประเมินก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เพื่อความยืดหยุ่น และได้รถเมล์ที่ตรงใจชาวเมือง
สิงคโปร์
อันดับ 1 ของโลก
เคยมีปัญหาคล้ายไทย แต่ไม่ประนีประนอม
ย้อนกลับไปช่วงปี 1950 – 1970 รถเมล์สิงคโปร์เคยมีปัญหาคล้ายไทย คือ รถพื้นไม้ เก่า สกปรก มีการใช้งานมานานเกิน 20 ปี และผู้ให้บริการมีปัญหาขาดทุนมหาศาล
ทำให้สิงคโปร์ตัดสินใจรีแบรนด์หน่วยงาน ออกกฎใหม่ แต่ก็ทำอยู่หลายต่อหลายครั้ง ก็ยังประสบปัญหาขาดทุน โดยเฉพาะผู้เดินรถเก่าหลายรายไม่ยอมทำตามกฎ มาตรฐานใหม่ที่รัฐกำหนด
ทำให้รัฐบาลประกาศกร้าวว่าจะมีการไม่ประนีประนอม หากไม่ทำตามกฎจะลงโทษทันที
ในขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้สอดรับกัน คือระบบรถไฟ แม้จะใช้เงินลง
ทุนมหาศาลก็ตาม
จนในทุกวันนี้ สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางดีที่สุดในหลายด้าน เช่น
– ระบบตั๋วดีที่สุดในโลก
– ค่าโดยสาร ‘ถูก’ ที่สุดในโลก เทียบกับค่าครองชีพ
– ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดในโลก