ผลสำรวจชี้ ไทยรั้งที่ 75 ศักยภาพ HR หรือการแข่งขันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โลก

Highlight

ผลสำรวจชี้ ไทยรั้งที่ 75 ศักยภาพ HR หรือการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก
ด้านสวิตเซอร์แลนด์ยืนหนึ่งของโลก แหล่งบ่มเพาะคนเก่ง ดึงดูดแรงงานคุณภาพ


การพัฒนาประเทศก็ไม่แตกต่างจากการพัฒนาองค์กร หากต้องการความเจริญก้าวหน้าต้องให้ความสำคัญต่อ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ เป็นความท้าทายที่รัฐต้องทำหน้าที่เหมือน ‘ฝ่ายทรัพยากรบุคคล’ คือ สร้างองค์กรให้น่าอยู่ ดึงดูดคนเก่งจากภายนอกเข้ามาและพัฒนาคนในองค์กรให้เก่งขึ้นกว่าเดิม

ประเทศที่มี ‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดี’ ถือว่ามีคนเก่ง ๆ ที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศ โปรไฟล์ประเทศยิ่งน่าสนใจจนดึงดูดคนเก่ง ๆ จากประเทศออื่น ๆ ทั่วโลกให้เข้ามาเสริมทัพ ทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและมีระบบสังคมที่ห้อมล้อมด้วยสมาชิกที่มีคุณภาพ

Agenda พาไปดูรายงานข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Competitiveness Index 2022 หรือ GTCI) ประเทศไหนพัฒนาแรงงานได้ปังและยังเนื้อหอมต่อการกลุ่มสมองไหลจากประเทศอื่น ๆ บ้าง มาดูกัน ?

รายงานนี้เป็นความร่วมมือของสถาบันทางการศึกษา INSEAD สถาบันสอนธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศส Portulans Institute และองค์กร Accenture ที่สำรวจและจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ใน 133 ประเทศทั่วโลก เพื่อสะท้อนความสำเร็จของการพัฒนาคนสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์และจัดอันดับประกอบด้วย 6 มิติ ได้แก่ 1. การส่งเสริมภายในประเทศ (Enable) เชื่อมโยงนโยบาย กฎหมาย การตลาด ธุรกิจและแรงงาน 2. การดึงดูดแรงงาน (Attract) ทั้งการเปิดรับแรงงานต่างชาติและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อแรงงานในประเทศ 3. การพัฒนาแรงงาน (Grow) เช่น การศึกษา และการเข้าถึงโอกาส 4. การรักษาฐานแรงงาน (Retain) เช่น ความยั่งยืนในชีวิตการทำงานและการใช้ชีวิต 5. ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational and Technical Skills) เช่น การส่งเสริมทักษะและตลาดแรงงานรองรับ และ 6. ความรู้ความสามารถระดับสูงของแรงงาน (Global Knowledge Skills)

โดย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ – 78.20 คะแนน อันดับ 2 สิงค์โปร์ – 75.80 คะแนน อันดับ 3 เดนมาร์ก – 75.44 คะแนน อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา – 73.93 คะแนน และอันดับ 5 สวีเดน – 73.93 คะแนน รายงานชี้ว่ากลุ่มประเทศที่มีระบบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งทำให้เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน อันดับ 41 บรูไน – 49.26 คะแนน อันดับ 45 มาเลเซีย – 48.24 คะแนน อันดับ 74 เวียดนาม – 39.31 คะแนน และส่วนไทยอยู่อันดับ 75 – 39.23 คะแนน (หล่นจากอันดับ 68 ปี 2021) ตามด้วยอันดับ 80 ฟิลิปปินส์ – 38.06 คะแนน อันดับ 82 อินโดนีเซีย – 37 คะแนน และ อันดับ 103 กัมพูชา – 28.43 คะแนน แน่นอนว่าส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น อันดับ 9 ออสเตรเลีย – 71.93 คะแนน อันดับ 10 อังกฤษ – 71.59 คะแนนอันดับ 14 เยอรมัน – 68.15 คะแนน อันดับ 19 ฝรั่งเศส – 64.58 คะแนน อันดับ 24 ญี่ปุ่น – 59.77 คะแนน อันดับที่ 27 เกาหลี – 59.10 คะแนน อันดับ 29 สเปน – 58.03 คะแนน อันดับ 36 จีน – 51.04 คะแนน อันดับ 57 รัสเซีย – 44.05 คะแนน ส่วนอันดับสุดท้าย 133 คือ ประเทศชาด 12.32 คะแนน

อันดับ 1 ของดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์สูงที่สุด ประจำปี 2022 คือ ‘สวิตเซอร์แลนด์’ นำไปด้วยคะแนน 78.20 สาเหตุสำคัญที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพราะมิติทางกายภาพแทบไม่มีปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจ เช่น ประเทศมีเล็ก ไม่มีทางออกทะเล ทรัพยากรธรรมชาติจำกัด และประชาชนมีเพียง 8.5 ล้านคนเท่านั้น แต่กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแรงที่สุดอันดับท็อป ๆ ของโลก ความสำเร็จนั้นมาจาก ‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’

สวิตเซอร์แลนด์เดินหน้าเศรษฐกิจด้วย ‘ความรู้’ ผ่านนโยบายการศึกษาที่มีคุณภาพ พูดง่าย ๆ คือ ‘ลงทุนกับคน’ เช่น การส่งเสริมภาษาที่สอง งบประมาณการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรมมหาศาล กฎหมายและระบบภาษีเอื้อให้คนใช้ชีวิตอย่างไร้กังวล ดังที่เห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์ก็มักจะติดอันดับประเทศที่น่าอยู่/ประเทศที่มีความสุขที่สุดอยู่เสมอ ๆ และนั่นก็ดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาในประเทศมากขึ้น เมื่อกายภาพสวิตเซอร์แลนด์เป็นรอง จึงสร้างความเป็นต่อด้วยการสร้างคนและดึงคนเก่งมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สวิตเซอร์แลนด์มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงมาก มี GDP ต่อหัวราว ๆ 2,750,000 บาท/ปี จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศรายได้สูงต่อเนื่องมายาวนาน แซงหน้าหลายประเทศที่กายภาพเพียบพร้อม และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจต่อการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ในสังคมโลก

ย้อนกลับมาประเทศไทย อันดับ 75 จัดอยู่ในกลุ่มค่อนข้างท้ายตาราง ค่า GDP ต่อหัวอยู่ราว 250,000 บาท/ปี เมื่อจำแนกแต่ละมิติจะพบว่า มิติการส่งเสริมภายในประเทศ (Enable) อยู่อันดับ 62 การบริหารงานของรัฐยังไม่มีประสิทธิภาพ มีปัญหาคอรัปชั่น การควบคุมดูแลคุณภาพไม่ดี และขาดเสถียรภาพทางการเมือง ปัจจัยในประเทศหลายอย่างจึงไม่กระตุ้นให้แรงงานพัฒนา ขาดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเองก็ติดอันดับต้น ๆ ที่แรงงานรุ่นใหม่ต้องการย้ายออก

ส่วนมิติการดึงดูดแรงงาน (Attract) อยู่อันดับ 92 แผลใหญ่ หลัก ๆ คือ ทัศนคติต่อแรงงานต่างด้าว ปัญหาสิทธิมนุษยชนในกลุ่มแรงงานระดับล่าง เช่น ค่าแรงถูก ไม่ส่งเสริมสวัสดิการเท่าที่ควร ไทยจึงไม่ใช่จุดหมายที่นิยมของกลุ่มแรงงานคุณภาพจากต่างชาติเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

การพัฒนาแรงงาน (Grow) อยู่อันดับ 62 ค่านิยมต่อการเรียนสายวิชาชีพต่ำ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรมเท่าที่ควร ระบบการศึกษาของไทยไม่ได้ออกแบบให้ตอบโจทย์ Lifelong Learning ในระบบการทำงานมีการแข่งขันสูงทำให้โอกาสการเติบโตบนหน้าที่การงานค่อนข้างยากลำบาก

มิติการรักษาฐานแรงงาน (Retain) อยู่อันดับ 78 นโยบายเผื่อฉุดรั้งแรงงานคุณภาพให้อยู่ในประเทศยังไม่ตอบโจทย์ เช่น ระบบบำนาญ ความปลอดภัย ความมั่นคง ถ้าเลือกได้แรงงานคุณภาพไปแสวงหาโอกาสที่ต่างประเทศเพราะมีรายได้สูงและมีความเท่าเทียมกันในสถานประกอบการ ไม่อิงระบบอาวุโส

ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational and Technical Skills) อยู่อันดับ 76 ภาพรวมไทยมีแรงงานสายวิชาชีพน้อย ซึ่งทำให้ขายแรงงานกลุ่มทักษะระดับกลาง ในขณะที่แรงงานวุฒิปริญญามีมากเกินรองรับ ทำให้เสียสมดุลกลไลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้รัฐจะมีนโยบายส่งเสริมทักษะวิชาชีพแต่ดูเหมือนยังไม่รับการตอบรับที่ดี และหลายหลักสูตรยังไม่มีการอัปเดตการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลในยุค ศ.21

มิติความรู้ความสามารถระดับสูงของแรงงาน (Global Knowledge Skills) อยู่อันดับ 66 เนื่องจากไทยไม่ค่อยส่งเสริมแนวทาง R&D มากนัก จะเห็นว่าจำนวนนักวิจัย นักวิชาการ นักเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ นวัตกรยังขาดแคลนอยู่มาก และขาดงบประมาณเพื่อการศึกษาวิจัยอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจสายเทคฯ ที่ยังตามหลังและแข่งขันสู้ไม่ได้บนเวทีโลก

ประเทศไทยในฐานะ HR คงต้องหันอาจต้องหันกลับมาทบทวนแนวทางการเสริมศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกใหม่ โดยเฉพาะแรงงานทักษะสายวิชาชีพและสายเทคโนโลยีที่ขาดแคลน ในขณะที่แรงงานระดับทั่วไปมีล้นเกินไป ไม่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน พร้อมกับการแก้ปัญหาการเมืองที่สั่งสมทำให้แรงงานรุ่นใหม่เริ่มกลายเป็นกลุ่มสมองไหลมากขึ้นในทุกวัน

เมื่อคนในไม่ถูกพัฒนาให้เก่งมากขึ้น คนนอกก็ไม่อยากมาร่วมงาน อาจมีความเสี่ยงที่บริษัทที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ จะเติบโตไม่ทันคู่แข่ง ประสบปัญหาขาดทุนเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดก็อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากคนรอบข้างก็เป็นได้

Sourse : รายงานข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Competitiveness Index 2022 หรือ GTCI), สำนักข่าวอิสรา, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ลงทุนแมน, The Standard, Globthailand, Moneybuffalo, HRnote.Asia

Popular Topics