Home Social เงินเดือนน้อยนิด ภาระชีวิตมหาศาล เทียบรายได้ครู-ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ละประเทศ

เงินเดือนน้อยนิด ภาระชีวิตมหาศาล เทียบรายได้ครู-ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ละประเทศ

0

ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้ 

นอกจากอบรมจิตใจ ต้องกิน-ต้องใช้เหมือนกัน 🙎‍♀️🙎
.
หากเรามอง “ครู” ในฐานะแรงงานอาชีพหนึ่ง ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของครูผู้สอน คือ การมอบการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติและกำลังขับเคลื่อนประเทศต่อไป 🎓
.
ปัญหาของครูไทยที่สะสมมาเป็นเวลานาน คือ ครูไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “ผู้สอน” แต่ต้องเป็นได้ทุกอย่างแบบ one stop service ครบ จบ ในหนึ่งครู สอนก็ต้องเป็น ธุรการต้องได้ งานประเมินต้องมี เวรยามเฝ้าโรงเรียน พยาบาลทำแผล ผู้ดูแลกฎระเบียบ และอีกมากมายแบบที่ใครหลายคนคิดไม่ถึง
.
‘การเสียสละ’ ทำหลายหน้าที่ในคนเดียว อาจถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อนักเรียนหรือระบบการศึกษา แต่ในมิติของความคุ้มค่าอาจเรียกว่า “ติดลบ” เพราะ “เงินเดือนน้อยนิด ภาระชีวิตมหาศาล” เมื่อคนหนึ่งทำงานมาก แถมเป็นงานที่สำคัญกับเด็กและเยาวชน ก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนสูง ไม่ใช่หรอ ?
.
#Agenda พาไปดูรายได้ครูเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทยและเทศ 

คุ้มค่าแค่ไหน ? สอนหนังสือประเทศไหน ไม่ติดลบทางการเงิน 💵

1) สหรัฐอเมริกา 🇺🇸

ครูในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 206,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐที่สังกัด ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าแรงขึ้นต่ำเฉลี่ยต่างกัน 5 เท่า โดยค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 41,000 บาท ต่อเดือน ระดับค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ถ้ามี specialist degree หรือปริญญาเอกก็จะยิ่งได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น
.
หน้าที่โดยทั่วไป คือ การสอน (เป็นหลัก) คอยดูแล ควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน การทำงานสามารถตรวจสอบได้ ทั้งวิธีการสอน การจัดห้องเรียน และโรงเรียนจะเป็นผู้ซัพพอร์ตทรัพยากรให้ตามกำลัง

2) ญี่ปุ่น 🇯🇵

ประเทศญี่ปุ่นมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 43,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ครูแดนปลาดิบจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 119,000 บาท (รายได้กับค่าแรงขั้นต่ำต่างกัน 2.8 เท่า) มีโบนัสประจำปี ผู้ที่จะเป็นครูต้องจบการศึกษาจากสถาบันครูโดยตรงเท่านั้น ต้องผ่านการประเมินทั้งจากรัฐ ระบบคัดกรองครูในญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวดทำให้ครูมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีประสิทธิภาพ
.
ครูญี่ปุ่นเป็นอาชีพที่ทำงานหนักมาก แต่ก็แลกมากับค่าตอบแทนที่สูงมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากค่านิยมของพ่อแม่ที่คาดหวังความสำเร็จทางการศึกษาของลูก ส่งผลให้ครูต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเคี่ยวเข็ญให้ศิษย์ประสบความสำเร็จ ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แม้ช่วงปิดเทอมก็ตาม

3) เนเธอร์แลนด์ 🇳🇱

เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกครูเป็นอย่างมาก เนื่องจากหน้าที่ของครูค่อนข้างหนัก ส่งผลให้ได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 196,000 บาทต่อเดือน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ 58,000 บาทต่อเดือน แตกต่างกันถึง 3.4 เท่า
.
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มองว่าเมื่อครูได้รับรายได้สูงและเป็นธรรม จะเป็นการกระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการพัฒนาการศึกษา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา คือ รัฐจัดสรรงบประมาณเป็นโบนัสพิเศษจ่ายให้กับครูทั่วไปประเทศที่ต้องทำงานหนักขึ้นเพราะต้องดูแลเด็กมากขึ้น

4) แคนาดา 🇨🇦

แคนาดาเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายสูงมาก การคัดเลือกครูจึงมีความเข้มข้น และต้องการคัดบุคลากรที่เพียบพร้อมทั้งวุฒิการศึกษาและทัศนคติที่เปิดกว้าง เงินเดือนครูแคนาดาเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 118,000 บาท โดยค่าแรงขั้นต่ำทั่วไปอยู่ที่ 61,000 บาท/เดือน เท่ากับกว่าครูมีรายได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 1.9 เท่า

ความท้าทายของครูในแคนาดา คือ การสร้างความเสมอภาคในชั้นเรียน ท่ามกลางนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย คุณครูจึงต้องพัฒนาหลักสูตรเป็นประจำ และจบการศึกษาจากสถาบันครูที่ได้รับรองมาตรฐานจากรัฐ และเป็นตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน

5) สวีเดน 🇸🇪

ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการทำงานอย่างขะมักเขม้นของครู ค่าแรงขึ้นต่ำของสวีเดนอยู่ที่  42,000 บาท/เดือน ในขณะที่รายได้ของครูสวีเดนทะลุไปสูงถึง 146,000 บาท/เดือน (สูงกว่า 3.5 เท่า)
.
รายได้ที่สูงแลกมากับการทำงานอย่างแข็งขัน ด้วยความที่ระบบการศึกษาสวีเดน เน้นการเสริมสร้างเด็กในมีพัฒนาการชีวิตควบคู่กับวิชาการ คุณครูจึงต้องเป็นมากกว่าผู้สั่งสอนวิชา มีขอบเขต ตารางงานและหน้าที่ชัดเจน ครูต้องเป็นเพื่อนที่คอยแนะนำเด็กให้สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง

6) เกาหลีใต้ 🇰🇷

รายได้ของคุณครูแดนกิมจิอยู่ที่เฉลี่ยเดือนละ 115,000 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับครูในประเทศอื่นในเอเชีย ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของคนเกาหลีนั้นอยู่ที่ 51,000 บาท/เดือน รายได้ของครูจัดว่าสูงกว่าอาชีพทั่วไปประมาณ 2.3 เท่า
.
การคัดเลือกครูในเกาหลีไม่ใช่ใครจะสามารถเป็นได้ง่าย ๆ ต้องมีการสอบคัดเลือกและประเมินอย่างหนักเพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุด ทำให้อาชีพครูในเกาหลีมีสถานภาพทางสังคม ยกให้เป็นปูชนียบุคคลที่สังคมยกย่องและให้เกียรติสูงสุด ได้เป็นอาชีพที่รายได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งหมายความว่าต้องทำงานหนักมากเช่นกันเพื่อสร้างโอกาสและความสำเร็จให้แก่นักเรียน

7) สิงคโปร์ 🇸🇬

ประเทศสิงคโปร์มีค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 36,000 บาท/เดือน ส่วนอาชีพครูนั้นมีรายได้เฉลี่ย 144,000 ต่อเดือน ต่างกันประมาณ 4 เท่าตัว ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาประเทศจากฐานรากโดยมองว่า “ครู คือ หัวใจของการศึกษา”
.
ครูในสิงคโปร์ต้องมีทักษะทางวิชาการ แรงจูงใจในการสอน และทักษะการสื่อสาร และสิ่งที่ครูทุกคนจำเป็นต้องมี คือ ทักษะภาษาที่สาม ทั้งนี้ครูต้องเข้าการอมรมทักษะการสอนใหม่ ๆ ทุกปี ครูจะทำหน้าที่หลักแค่เพียงการสอนเท่านั้น และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการสอนต่อไป

8) ไทย 🇹🇭

ประเทศไทยมีเรทค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท และรายได้ของครูวุฒิปริญญาตรีอยู่ที่ขั้นต่ำ 15,000 บาท โดยเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วจะแตกต่างกันประมาณ 1.5 เท่า แต่หากเทียบกับประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษายังจัดอยู่ประเทศที่ครูมีรายได้น้อย
.
เมื่อรายได้น้อยมาเจอกับภาระงานที่มากเกินไป ทำให้แรงใจในการทำงานลดลง ทำให้ครูในประเทศไทยไม่สามารถโฟกัสกับการสอนได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังประสบกับปัญหาหนี้สิน ค่าใช้จ่ายของครูไทยในแต่ละเดือนส่วนใหญ่จึงเป็นแบบ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” และท้ายที่สุดก็จะส่งผลเสียต่อนักเรียนและระบบการศึกษาต่อไป
.
ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา เนื่องในโอกาสวันครู ขอน้อมรำลึกและชื่นชมคุณครูทุกคนที่ตั้งใจทำงาน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนเสมอมา และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าหากครูทุกคนมีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม จะยิ่งเป็นพลังเสริมให้ทุกท่านพร้อมที่จะอบรมสั่งสอนศิษย์ สร้างคนที่เต็มคนออกสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

Exit mobile version