กระทรวงไทย VS กระทรวงต่างชาติ โลกกำลังพัฒนาไปไกล หากไทยไม่ปรับตามไป คงมีแต่ล้าหลัง!

Highlight

‘การบริหารของรัฐบาล’ เป็นแก่นสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก สวัสดิการรองรับ และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

.

นโยบายหน่วยงานราชการแบบเดิม ๆ อาจไม่เพียงพอ สำหรับรับมือความท้าทายใหม่ในระดับโลก จำเป็นต้องมีความ Active และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหลายประเทศก็เริ่มให้ความสำคัญการพัฒนาแต่ละมิติมากขึ้นด้วยวิธีแตกต่างกัน 

.

#AGENDA พาดูการทำงานของกระทรวงไทย VS กระทรวงต่างชาติ

กับการเป็นหน่วยงานรัฐในศตวรรษที่ 21 ผ่าน 4 มิติ รูปแบบไหนที่ “ใช่” มากกว่ากัน ?

💸 สตาร์ทอัพและเทคโนโลยี 💸

.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม – ไทย 🇹🇭

.

การส่งเสริมเรื่อง Startups ในไทยยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รูปแบบการสนับสนุนจึงเป็นการบูรณาการจากหลายองค์กรในหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ ซึ่งทำให้มีความซับซ้อนต่อการผลักดันและระบบราชการไทยมีความล่าช้าในการดำเนินการ

.

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่ Startups ในไทยจะโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ถึงแม้ไทยมีกระแส Startups เติบโตขึ้นมากกว่าในอดีต แต่ยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน  Startups ไทยได้รับความสนใจน้อยกว่าต่างชาติ ปัจจุบัน ประเทศไทยมี Unicorn เพียง 2 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก 

VS

กระทรวง SMEs and Startups – เกาหลีใต้ 🇰🇷

.

จำนวน Unicorn ของเกาหลีใต้ สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก มีจำนวน 12 ราย รองจากสหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ และอินเดียเท่านั้น และที่สำคัญล้วนแล้วแต่ เป็น Startups สัญชาติเกาหลีแท้ ๆ ที่ได้รับการลงทุนส่วนใหญ่จากผู้สนับสนุนภายในประเทศ
.
ปัจจัยความสำเร็จ คือ การที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเรื่อง Startups อย่างจริงจัง โดยมีหลักการพัฒนาประเทศผ่านนวัตกรรม จนนำไปสู่การตั้งกระทรวง SMEs and Startups เพื่อดูแลและส่งเสริมธุรกิจและนวัตกรรมอย่างเต็มที่
.
รัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางสร้าง Connection ของเหล่าผู้ประกอบการหน้าใหม่กับนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับ Startups โดยเฉพาะ ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อสร้างพื้นที่ Co-Working ให้ว่าที่ Startups มาประชุม ลงมือทำงาน ให้เป็นรูปเป็นร่าง
.

“จำนวน Unicorn เป็นตัวบ่งชี้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” เป็นคำกล่าวของ ปาร์คยองซอน รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวง SMEs และ Startups เกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นเวลารัฐบาลเกาหลีใต้กำลังเอาจริงเรื่อง Startups และวางแผนใหญ่กว่าจะไปสู่การมี Unicorn 20 ราย ในอนาคตอันใกล้นี้


✨ วัฒนธรรม ✨

กระทรวงวัฒนธรรม – ไทย 🇹🇭

กระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทในการดูแล อนุรักษ์ พื้นฟู วัฒนธรรมไทย นโยบายส่วนใหญ่ยังเน้นหนักที่วัฒนธรรมประจำชาติ การส่งเสริมความเป็นไทย การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชาติ

.

ผลักดันความเป็นไทยไปสู่ระดับโลก ผ่านประเพณี ศิลปวัฒธรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงสร้างกรอบและประเมิน “ความเหมาะสม” การนำวัฒนธรรมไทยไปประยุกต์ใช้ใช้ในบริบทต่าง ๆ รณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หวงแหน สืบสานวัฒนธรรมไทย 

VS

กระทรวงความหลากหลาย การอยู่ร่วมกัน และเยาวชน – แคนาดา 🇨🇦

ประเทศแคนาดา ให้ความสำคัญกับสังคมพหุวัฒนธรรม และนำประเด็นการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย ไม่มีการกำหนดความเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ
.
ให้ความสำคัญและโอกาสกับทุกวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมพื้นเมือง วัฒนธรรมของผู้อพยพ เป็นต้น ทำให้สังคมแคนาดา ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ
.

มีการออกกฎหมายเพื่อลดอคติทางเพศและการเหยียดเชื้อชาติ  ส่งเสริมสวัสดิการคนพิการ ผู้อพยพ และกลุ่มเปราะบาง ใช้ความหลายหลายเป็นจุดแข็งในการส่งเสริมความเป็นชาติ เช่น ตั้งวันที่ 27 มิถุนายนของทุกปีวันพหุวัฒนธรรมของแคนาดา


📚 การศึกษา 📚

กระทรวงศึกษาธิการ – ไทย 🇹🇭

ระบบการศึกษาไทย มีปัญหาหลายจุด แม้ว่าจะได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับต้น ๆ เกือบทุกปี สวนทางกับคุณภาพการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบในระดับโลก เด็กไทยเรียนหนักหลายวิชาต่อวัน มีการบ้านเยอะ ใช้เวลาเรียนมากเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ผลสัมฤทธิ์ยังอยู่ในระดับต่ำ
.
บุคลากรทางการศึกษาก็มีปัญหาหลายด้าน เช่น ครูหนึ่งคนรับผิดชอบหลายวิชาหรือรับผิดชอบเด็กนักเรียนหลายคน เงินเดือนต่ำ จำนวนไม่เพียงพอ ครูต้องทำหน้าที่ธุรการ ทำการประเมินต่าง ๆ เบียดบังหน้าที่การสอนหนังสือ จึงทำให้การเรียนไม่มีประสิทธิภาพ
.
นอกจากนี้ ทัศนคติในระบบการศึกษา เช่น การให้ความสนใจกับเด็กที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าเด็กเรียนอ่อน ทำให้ทรัพยากรทุ่มเทไปเพียงแค่กลุ่มเดียว มากกว่าที่จะพยายามให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียม

VS

กระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรม – ฟินแลนด์ 🇫🇮

.

ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่ระบบการศึกษาดีจนติด Top ต้น ๆ ในการจัดอันดับของโลกทุกปี ปัจจัยความสำเร็จของการศึกษาฟินแลนด์ คือ การทำความเข้าใจความต้องการและธรรมชาติของผู้เรียน สร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมความรู้วิชาการกับการยอมรับความหลากหลายทางสังคม 

.

เด็ก ๆ ต้องมี ‘เวลาว่าง’ และ ‘เวลาเล่น’ เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติชีวิต การเข้าสังคม และการเอาตัวรอด ทำให้ระบบการเรียนของฟินแลนด์มีชั่วโมงเรียนน้อย ไม่มีการบ้าน และการทดสอบน้อย ในขณะที่ครูผู้สอนก็จะมีเวลาทำงานน้อยลง สามารถนำเวลาส่วนนี้ไปพัฒนารูปแบบการเรียนให้ดีขึ้น และได้รับเงินเดือนสูงอย่างสมเหตุสมผล

.
รัฐมีสวัสดิการด้านการศึกษาที่เข้มแข็ง ถูกออกแบบบนพื้นฐานความเข้าใจ มีสวัสดิการเรียนฟรี ดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ 8 เดือน ไปถึงระดับมหาวิทยาลัย การเรียนที่ผู้เรียนและผู้สอนมีความสุข จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์การศึกษาของฟินแลนด์อยู่ในระดับยอดเยี่ยมเสมอ 

📲 ดิจิทัล 📲

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม – ไทย 🇹🇭

การพัฒนาระบบดิจิทัลไทย ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เน้นการวางแผนส่งเสริม พัฒนา และดําเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำงาน การสื่อสาร การวิเคราะห์ข้อมูล สร้างระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
.
ผลงานที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การตรวจจับและปราบปราม Fake News ในประเทศ การแบนเว็บไซต์ 18+ และปิดเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชน สร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัย
.

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวง DE ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยี 5G และจัดตั้งระบบ Big Data ของประเทศให้มีความแข็งแรง การขยายโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงพยายามที่จะสร้าง E-Government ในการลดขั้นตอนการติดต่อราชการของพี่น้องประชาชน กลายเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ไม่ต้องมีการถ่ายเอกสารหรือใช้กระดาษอีกต่อไป

VS

กระทรวงการพัฒนาดิจิทัล – สวีเดน 🇸🇪

.

นโยบายดิจิทัลของสวีเดน เน้นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของเครือข่ายและข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วประเทศ
.
ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ การสร้าง E-Government โดยการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อยกระดับกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความยุ่งยากในการติดต่อกับบุคคลทั่วไป เช่น ผ่านการระบุตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลส่วนบุคคล และมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง จนติดอันดับ 5 ประเทศที่มีการพัฒนาความเข้มแข็งเรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
.
กระทรวงการพัฒนาดิจิทัลของสวีเดน ยังเป็นผู้ดำเรื่องการทำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  (AI) มาใช้ในการทำงานของหน่วยงานรัฐ มีการประสานความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป และมีแผนจัดตั้งโครงข่าย 5G ในระดับภูมิภาค กลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งหากทำสำเร็จจะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบสัญญาณขนาดภูมิภาคแห่งแรกในโลก 

.

ที่มา : Techsauce, TNNOnline, TheMatter, WorldHappiness.report, Government.se, pm.gc.ca

Popular Topics