เปิดที่มาชุดนักเรียนแต่ละชาติ สะท้อนสังคมไทย ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้?

Highlight

‘ชุดนักเรียน’ เกิดขึ้นมานานนับหลายร้อยปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘เครื่องแบบ’ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของนักเรียนในชาตินั้นๆ เพื่อสร้างค่านิยมให้คนที่ใส่ชุดนักเรียนเป็นผู้ที่มีความรู้ในสิ่งที่ได้เล่าเรียน และแสดงถึงการเป็นคนที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา สามารถเข้าถึงความเจริญของสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

.

แต่ ณ ปัจจุบัน สังคมไทยกำลังตั้งคำถามกับชุดนักเรียนอีกครั้ง จากกระแสที่การเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับแต่งชุดนักเรียน จนกลายเป็นที่พูดถึงในสังคม ที่คนส่วนหนึ่งสนับสนุนกระทำการเชิงสัญลักษณ์ที่มีจุดยืนชัดเจน และสะท้อนปัญหาของชุดนักเรียนทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิของความเป็นนักเรียน

.

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนที่มองว่าการเรียกร้องดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่มีความก้าวร้าว ไม่เหมาะสมต่อบริบทและวัฒนธรรมของสังคมไทย รวมถึงมองว่าชุดนักเรียนมีความเหมาะสมในฐานะที่เป็นเครื่องแบบที่มีความเท่าเทียม ไม่เกิดการแบ่งแยก และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นนักเรียนได้ชัดเจนอยู่แล้ว

.

นอกจากปัญหาการบังคับแต่งชุดนักเรียนในไทยแล้ว เมื่อสำรวจการแต่งชุดนักเรียนของประเทศต่างๆ พบว่ามีที่มาที่ไปและแนวคิดในการแต่งชุดนักเรียนที่แตกต่างกัน และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สะท้อนให้เห็นว่า ชุดนักเรียนก็ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

#Agenda ชวนดูที่มาชุดนักเรียนของแต่ละชาติ ที่เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

.

ไทย 🇹🇭

.

ราคาชุดนักเรียนเฉลี่ย 2,131 บาทต่อคน จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อครัวเรือน 4,851 บาทต่อปี

.

ชุดนักเรียนของไทยเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี ค.ศ.1885 มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเจริญให้กัยประเทศจากอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ ซึ่งในยุคแรกจะใส่หมวกฟาง เสื้อราชปะแตนสีขาว กางเกงขาสั้น ถุงเท้า และรองเท้า จนถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการออก พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 ที่กำหนดระเบียบการแต่งกายชุดนักเรียนของนักเรียนชายและหญิงอย่างเข้มงวด

.

ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้กฎระเบียบการแต่งกาย ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ประกอบกับระเบียบปฏิบัติของโรงเรียนต่างๆ ซึ่งในปี ค.ศ.2023 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของชุดนักเรียนไทยจะอยู่ที่ชุดละ 2,131 บาทต่อคน จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงถึง 40,090 บาทต่อปี ทำให้ชุดนักเรียนถือเป็นค่าครองชีพในส่วนที่ผู้ปกครองต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

แม้จะเคยมีการผ่อนปรนกฎระเบียบการแต่งกาย ที่หลายโรงเรียนอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทหรือชุดพละ แทนการใส่ชุดนักเรียนในบางวัน แต่กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อมีเยาวชนออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการแต่งชุดนักเรียน เพราะให้เหตุผลว่าชุดนักเรียนคือสัญลักษณ์ของการกดขี่ทางอำนาจนิยมของผู้ใหญ่ และต้องการยกเลิกชุดนักเรียนเพื่อใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนแทน 

.

ญี่ปุ่น 🇯🇵

.

ราคาชุดนักเรียนเฉลี่ย 9,809 บาทต่อคน จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อครัวเรือน 22,788 บาทต่อปี

.

ค่านิยมของการแต่งชุดนักเรียนในญี่ปุ่น เกิดขึ้นในสมัยการปฏิรูปของจักรพรรดิเมจิ ในช่วงปี ค.ศ.1879  ซึ่งถอดแบบมาจากเครื่องแบบทหารเรือตะวันตก โดยนักเรียนชายจะใส่ชุด ‘กักคุรัน’ ที่หลายคนจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดี หรือชุดพื้นเมืองอย่างฮากาตะ ในขณะที่นักเรียนหญิงเดิมใส่ชุดกิโมโน แต่ภายหลังเปลี่ยนมาใส่ชุดที่เรียกว่า ‘เซราฟุกุ’ ที่เป็นต้นแบบของตัวการ์ตูน ‘เซเลอร์มูน’ นั่นเอง

.

การเปลี่ยนแปลงของชุดนักเรียนญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการควบคุมอย่างเข้มงวดกับชุดนักเรียนด้วยค่านิยมความรักชาติในช่วงสงครามโลก จนเกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎดังกล่าว ทว่าในช่วงเวลาเดียวกัน ชุดนักเรียนญี่ปุ่นก็ถูกปรับให้ดูดีมีสไตล์ มีความทันสมัย สามารถสวมใส่ได้สะดวกสบาย เหมาะแก่การเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยดึงดูดเด็กนักเรียนให้สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนได้มากขึ้น

.

ชุดนักเรียนญี่ปุ่นยังถือเป็นเทรนด์แฟชั่นแห่งยุค ที่ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปหลายวง รวมถึงในสื่อบันเทิง การ์ตูน กระทั่งในปี ค.ศ.2019 หลายโรงเรียนในญี่ปุ่นอนุญาตให้นักเรียนสามารถเลือกใส่ชุดแบบไม่คำนึงเพศ หรือ ‘Unisex’ เป็นทางเลือกในการแต่งกายชุดนักเรียนมากขึ้น

.

จีน 🇨🇳

.

ราคาชุดนักเรียนเฉลี่ย 2,429 บาทต่อคน จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อครัวเรือน 11,981 บาทต่อปี

.

ในอดีตชุดนักเรียนของจีน มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ต่างๆ แต่ยังไม่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ.1901 ปลายสมัยราชวงศ์ชิง ชุดนักเรียนจีนจะประกอบด้วยหมวกทรงกลม แจ็กเก็ตแบบทางการ และชุดกระโปรงคล้ายชาวแมนจู ก่อนเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ในปี ค.ศ.1911 ที่ชุดนักเรียน ‘จงซาน’ ได้รับความนิยม และกลายเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาชนจีนยุคนั้นในเวลาต่อมา

.

อิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าสู่จีน ส่งผลให้จีนเริ่มการ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ ขึ้นทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่การแต่งกาย ที่ชุดนักเรียนได้รับอิทธิพลจากสงครามทั้งในและนอกประเทศ จึงเกิดเป็นชุดนักเรียนแบบทหาร ที่มีความทนทานและใช้งานได้นาน จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ.1930 เทรนด์การแต่งตัวด้วยชุด ‘กี่เพ้า’ ในชีวิตประจำวันไปเรียน ก็กลายเป็นแฟชั่นที่ครองใจสาวจีนมาจนถึงปัจจุบัน 

.

จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนเป็นชุด “เมี่ยนโข่วไต้” หรือ ชุดพละ ที่มีความคล่องตัว สะดวกสบาย และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เกิดกระแสที่วิจารณ์ชุดนักเรียนที่มีเทอะทะของชุด และไม่สวยงาม แต่รัฐบาลกลับมองว่าเป็นการสร้างค่านิยมความสามัคคีและเท่าเทียมกัน และต้องการคงระเบียบดังกล่าวไว้ต่อไป

.

สหรัฐอเมริกา 🇺🇸

.

ราคาชุดนักเรียนเฉลี่ย 6,959 บาทต่อคน จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อครัวเรือน 52,021 บาทต่อปี

.

แนวคิดการแต่งชุดนักเรียนในสหรัฐฯ เกิดขึ้นได้ไม่นาน โดยเริ่มขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1980 ที่หลายโรงเรียนในวอชิงตัน ดี.ซี. เช่น โรงเรียนสอนศาสนาและโรงเรียนเอกชน ได้ริเริ่มการนำชุดนักเรียนมาใช้โดยใช้รูปแบบที่คล้ายคลึงกับชุดนักเรียนของอังกฤษ จนกระทั่งได้รับความนิยมไปสู่โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศมากขึ้น โดยคิดเป็น 19% ของโรงเรียนรัฐบาลทั้งหมดที่มีการกำหนดให้แต่งชุดนักเรียน

.

รวมถึงบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวสนับสนุนแนวความคิดการแต่งเครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียนรัฐ ช่วยลดอาชญกรรมและการบูลลี่ในโรงเรียน ทำให้มีโรงเรียนรัฐที่กำหนดชุดนักเรียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี ค.ศ.1996 เป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2010 จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ออกคู่มือพิเศษเกี่ยวกับข้อแนะนำในการแต่งชุดนักเรียนอีกด้วย 

.

อังกฤษ 🏴󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿

.

ราคาชุดนักเรียนเฉลี่ย 4,260 บาทต่อคน จากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อครัวเรือน 74,879 บาทต่อปี

.

อังกฤษถือเป็นชาติแรกของโลกที่ริเริ่มการแต่งชุดนักเรียน มีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ.1222 ที่นักเรียนในสมัยนั้นสวมชุดคล้ายเสื้อคลุมที่เรียกว่า ‘Cappa Clausa’ จนถึงสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ชุดนักเรียนกลายเป็นชุดสำหรับนักเรียนที่มีฐานะยากจน เพื่อเป็นการแยกออกจากนักเรียนที่มีฐานะร่ำรวย 

.

จนมาถึงช่วงศตวรรษที่ 16 เครื่องแบบของโรงเรียน Christ’s Hospital ที่มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมสีน้ำเงิน หรือ ‘Blue Coat’ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นสีที่มีราคาถูก และหาได้ง่ายสำหรับการนำมาย้อมผ้า จนถึงปี ค.ศ.1870 มีการออกระเบียบการศึกษาชั้นต้น นับเป็นระเบียบการแต่งกายเป็นครั้งแรกของโลก แต่เมื่อเกิดสงครามโลกและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แนวคิดในการแต่งชุดนักเรียนของอังกฤษก็เปลี่ยนไป

.

หลังปี ค.ศ.1960 ชุดนักเรียนถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีราคาฟุ่มเฟือยและถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการไม่กี่ราย จึงเกิดกระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกการแต่งชุดนักเรียนในโรงเรียนของรัฐ ชุดนักเรียนของอังกฤษจึงกลายไปเป็นเครื่องแบบของนักเรียนที่มีฐานะดี เสริมสร้างภาพลักษณ์ผู้ดีมีการศึกษาสูงในโรงเรียนเอกชนแทน เช่น ชุดสูทของวิทยาลัยอีตัน

.

จะเห็นได้ว่า แม้ชุดนักเรียนแต่ละชาติจะแตกต่างกันขนาดไหน สิ่งเดียวที่ทุกชาติพบเจอเหมือนกัน คือการเรียกร้องให้ ‘เปลี่ยนแปลง’ เครื่องแบบชุดนักเรียน ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น สามารถใส่ชุดไปรเวท หรือปรับปรุงชุดให้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่แบ่งแยกหรือกีดกัน เปิดรับทุกความแตกต่างมากขึ้น

.

ซึ่งสังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับประเด็นการบังคับแต่งชุดนักเรียนกันอีกนาน หากยังไม่เห็นภาพของการพูดคุยด้วยเหตุและผลที่ปราศจากอคติซึ่งกันและกัน จากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้าน ที่ในท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ชุดนักเรียนไทย ควรได้ไปต่อ หรือควรพอแค่นี้ดี?

Sources : กระทรวงศึกษาธิการ, BBC, Vouge, Posttoday, ประชาไท, The Momentum, The States Times, sunicadesign

Popular Topics