‘วัฒนธรรมเกาหลี’ เป็นสินค้าที่ขายได้
และขายได้ราคาปีละ 6-8 แสนล้านบาท
นอกจากเทคโนโลยีกับนวัตกรรมที่เป็นรายได้หลักของเกาหลีใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแส ‘เกาหลีฟีเวอร์’ ไม่ได้เป็นแค่ ‘กระแส’ ธรรมดา แต่มันเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้มหาศาลให้เกาหลีใต้ไปแล้ว
ปี 2014 คาแรคเตอร์การ์ตูนจากเกาหลี ทำรายได้ราวๆ 1.2 ล้านล้านบาท
ปี 2018 ซีรี่ย์เกาหลี ทำรายได้ราว ๆ 7,409 ล้านบาท
ปี 2020 ทัวร์คอนเสิร์ต “IN YOUR AREA” ของ BLACKPINK ทำรายได้ราว ๆ 1.7 พันล้านบาท
รัฐบาลเกาหลีใต้ทำได้อย่างไร? #AGENDA สรุปมาให้แล้ว
——————
🎬 ดัน ‘ความบันเทิง’ เป็นยุทธศาสตร์ชาติ
เกาหลีใต้ 1 ใน 5 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ก็เคยประสบกับช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เกาหลีเริ่มหันมาหาอุตสาหกรรมอื่นเพื่อแก้วิกฤต
“ต้องผลิตรถยนต์ฮุนไดถึงประมาณ 1,500,000 คัน
ถึงทำรายได้ให้เท่ากับภาพยนตร์จูราสสิคพาร์คเพียงเรื่องเดียว”
นี่คือไอเดียหลักที่ทำให้เกาหลีใต้ตัดสินใจลงทุนผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศ
โดยสอดแทรกการสนับสนุนวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปี 1998 ด้วยนโยบาย Korea : Culture, Creativity and Content
ปี 2012 เกาหลีใต้เพิ่มงบประมาณดันวัฒนธรรมถึง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์ผลผลิตด้านความบันเทิงที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ภาพลักษณ์และแบรนด์ประเทศ
และก่อตั้งองค์กรย่อยมากมายภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนบริษัทรายย่อยในการผลิตผลงานบันเทิง เช่น
– Korean Culture Promotion Task Force มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีใต้ โดยนำเสนอผ่านละครโทรทัศน์และวิถีชีวิตของดาราเกาหลี
– ตั้งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในต่างประเทศ ในประเทศไทยก็มีนะ
– ตั้งองค์กร KOCCA หรือ Korean Culture & Content Agency คอยช่วยส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้งหมด
เป้าหมายของการลงทุนครั้งนิ่งใหญ่นี้ คือต้องการทำให้วัฒนธรรมเกาหลีเป็นสินค้าที่ขายได้ และขายได้ราคาด้วย
——————
🎞 ป้อน ‘ทรัพยากร’
ขาดอะไรรัฐจัดให้
เป้าหมายฝันใหญ่ของเกาหลี ไม่ได้เกิดจากแค่ตั้งนโยบายขึ้นมาลอย ๆ แล้วปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง แต่ยังบริหารจัดการภาษีได้อย่างคุ้มค่า ด้วยการนำมาสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ให้แก่วงการนี้
ทั้งให้เงิน แบบรัฐร่วมลงทุนและให้กู้ หรือช่วยจับคู่หาสปอนเซอร์จากเอกชนมาให้
ถ้าขาดสถานที่ถ่ายทำ รัฐก็ทำหนังสตูดิโอให้เช่าในราคาถูกเพื่อรองรับการใช้งานด้วย
ขาดการตลาด ข้อมูลกลุ่มคนดู ว่าควรจับหนังแนวทางไหน จะโปรโมทอย่างไร รัฐก็มี Agency คอยช่วย
👗 ปั้น ‘คน’ ให้เก่งสร้างสรรค์
ไม่ต่างจากวงการเทคโนโลยี อุตสาหกรรมบันเทิงจะแข็งแกร่งได้ ต้องมีคนพร้อมรองรับด้วย
เกาหลีใต้ได้ตั้งมหาวิทยาลัยสอนศิลปะแห่งชาติขึ้นมาโดยเฉพาะ และผลักดันมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศให้ออกแบบหลักสูตรเพื่อปั้นคนด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็น Korea National University of Arts , Dong-Ah Institute of Media and Arts หรือ Digital Seoul Culture Arts University
และยังก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่เน้นเฉพาะด้านการเป็นศิลปินในวงการบันเทิงและเหล่าศิลปิน ไอดอล ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนักตั้งแต่เด็ก โดยมีรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณผ่านองค์กรต่าง ๆ
🎤 ผลัก ‘ส่งออก’ เฉิดฉายต่างประเทศ
ละครเกาหลี ยังสามารถขายออกไปยังหลาย ๆ ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย รวมไปถึงตะวันออกกลาง ยุโรป และ อเมริกา ด้วยความหลากหลายของพล็อตเรื่องทำให้เข้าถึงกลุ่มคนดูที่หลากหลาย เช่น
– Descendants of the Sun เรื่องราวเกี่ยวกับความรักและสงคราม ที่มีการแปลคำบรรยายถึง 32 ภาษา
– Itaewon Class เรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนและธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่พูดถึงอย่างมากในปีก่อน
– Vegabon เรื่องราวเกี่ยวกับการสืบสวน ที่ทำให้หลายคนรอคอย Season 2
ส่วนภาพยนตร์ ผลงานจากเกาหลีใต้ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากวงการหนังระดับโลก มีภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงหรือเป็นที่รู้จักอย่าง Train to busan, Snowpiercer และ Parasite
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนงานในต่างประเทศ เช่น เทศกาลเคป๊อป (K-pop Festival) , เทศกาลภาพยนตร์ และการแข่งขัน K-pop ที่ลอนดอน
🎥 ปัง ‘ต่อเนื่อง’ ความสำเร็จระดับโลก
– วง BTS มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ถึง 24.7 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2563) สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2018 ถึง 9,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (296,000 ล้านบาท)
– ปี 2018 สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเจียงซูในประเทศจีน ทุ่มงบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อการปรากฏตัวของคิมซูฮยอน (นักแสดงนำจาก You Who Came From The Star) ในรายการเพียง 8 ชั่วโมง
– Parasite หนังที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศเกาหลีใต้ เป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ชนะรางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์
ความสำเร็จนี้ไม่ได้สร้างรายได้แค่ในวงการบันเทิง แต่ยังแผ่มาถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา ‘ตามรอย’ ซีรีส์เกาหลีสูงขึ้นปีละ 12.2 ล้านคน** และวัฒนธรรมอาหาร รวมไปถึงแฟชั่นด้วย
* ข้อมูลในปี 2018
** ข้อมูลในปี 2013
ที่มา:
– บุษปวรรธนะ, นันทิพา, & วงศ์สมบุญ, นาวิน (2020). ความสำเร็จในการเผยแพร่กระแสวัฒนธรรมเกาหลี (Korean Wave): บทบาทของรัฐบาลและอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง. Suratthani Rajabhat Journal, 7(2).
– Posts, V. M. (2020, February 19). Parasite กับแผนยุทธศาสตร์ชาติเกาหลีใต้. ONETONION. https://onetonion.com/2020/02/19/parasite-กับแผนยุทธศาสตร์ชาติเ/
– J. (2020, February 28). “IN YOUR AREA” ทัวร์คอนเสิร์ตของ BLACKPINK สร้างสถิติทำรายได้มากสุดของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป K-pop. https://music.trueid.net. https://music.trueid.net/detail/8pQ4WX0O9evG
– รายงานตลาดคาแรคเตอร์ในประเทศเกาหลีใต้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล