วงในบอกมา ! ทำไมใคร ๆ ก็ชอบปล่อยข่าวลือ ?

Highlight

#ข่าวลือ (Rumor) คือ ข่าวที่ส่งต่อ ๆ แพร่กระจายกันออกไป โดยที่ยังไม่แน่ชัดหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หลาย ๆ ครั้งไม่สามารถระบุหรือหาต้นตอได้ว่ามาจากไหน มักจะตอบสนองกับความต้องการทางอารมณ์ของคนในสังคมนั้น ๆ

“วงในบอกมาว่าเดี๋ยวจะมีข่าวใหญ่ เร็ว ๆ นี้”

ยุคที่ ‘โซเชียลมีเดีย’ กลายเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารหลักของมนุษย์ ก็มีช่องโหว่ (หรือจะเรียกว่าโอกาสก็ได้) ให้ไม่ว่าใครก็สามารถสร้าง ‘ข่าว’ เรื่องหนึ่ง ๆ ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีแหล่งยืนยันและไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา นี่แหละ ลักษณะเด่นของ “ข่าวลือ” แพร่ไว กระจายเร็ว เน้นตอบสนองอารมณ์คนในสังคม 


#ข่าวลือ (Rumor) คือ ข่าวที่ส่งต่อ ๆ แพร่กระจายกันออกไป โดยที่ยังไม่แน่ชัดหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หลาย ๆ ครั้งไม่สามารถระบุหรือหาต้นตอได้ว่ามาจากไหน มักจะตอบสนองกับความต้องการทางอารมณ์ของคนในสังคมนั้น ๆ


ขณะที่คุณกำลังใช้โซเชียลอยู่ บางทีคุณอาจจะเจอใครก็ไม่รู้ พูดข่าวบางเรื่องที่มันสะกิดใจ และจะยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นไปใหญ่ ถ้ามีคำว่า ‘วงใน’ เป็นแหล่งอ้างอิง นี่เป็นคุณสมบัติพลังของ ‘ความไม่ชัวร์’ ที่ถูกจริตชาวเน็ต หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า พอเป็น #ข่าวลือ จากวงใน คุณก็จะอดรนทนไม่ไหวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะมันกำลังล้อเล่นกับทั้งความคิดและความรู้สึกของคุณอยู่

ทางจิตวิทยาอธิบายว่า มนุษย์มีการรับรู้อย่างมีอคติ (cognitive bias) โดยจะให้น้ำหนักกับสิ่งใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อน หรือสิ่งที่ชื่นชมชื่นชอบ (ดารา นักร้อง ศิลปิน) ยิ่งไปกว่านั้นหาก ‘ข่าวลือ’ กระตุ้นทางอารมณ์อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเซอร์ไพร์ กลัว เกลียด ขยะแขยง อยากรู้อยากเห็น ก็จะยิ่งเย้ายวนให้คุณติดตาม

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีรีแอคกับข่าวลือ รวดเร็วกว่าข่าวที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวจริงเสียอีก ส่งผลให้ข่าวลือนั้นแพร่ไปไวอย่างกับติดจรวด แม้ว่าคนจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แต่ก็มีความสุขที่ได้เสพและเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ต่อ โดยเฉพาะข่าวลือที่มีเนื้อหาในแง่ลบมักจะแพร่กระจายได้ดีกว่าในข่าวลือแง่บวก


#AGENDA ชวนมาทำความรู้จัก #ข่าวลือ ให้มากขึ้น มีอะไรแอบซ่อนไว้ ? และทำไมใคร ๆ ก็ชอบ “ความไม่ชัวร์” นี้


ปัจจุบัน ยังไม่มีองค์ความรู้ที่จัดประเภทของข่าวลืออย่างเป็น Official แต่จากการศึกษาของ อาจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จำแนกประเภทของ ‘ข่าวลือ’ ไว้น่าสนใจ ดังนี้

1. LIE : ข่าวลือเป็นเท็จ 

ข่าวลือที่อ้างอิงข้อมูลซึ่งภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ (คล้ายกับเฟกนิวส์นั่นเอง)

  • ไมเคิล แจ็คสัน ยังไม่ตาย
  • ฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด

2. LEAK : ข่าวหลุดเป็นจริง

ข่าวลือจากข้อเท็จจริงที่รั่วไหลจากแหล่งข่าว ก่อนที่จะมีการยืนยันในภายหลังว่าเป็นความจริง

  • iPhone13 จะเปิดตัวใน Apple Event 14 ก.ย.2021
  • ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำรัฐประหาร

3. LOOSE ข่าวลือหลวมไม่ถูกพิสูจน์

ข่าวลือหลวม หรือ ‘ข่าวลือคงสภาพ’’ ที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือเท็จและความสนใจเริ่มซาลงในที่สุด

  • ทักษิณกลับไทย
  • สไปเดอร์แมน 3 คนในภาพยนตร์ No Way Home?

จะเห็นได้ว่า คุณลักษณะของข่าวลือ คือ ความไม่รู้ว่าจริงหรือไม่? ขณะที่มันถูกปล่อยออกมาในพื้นที่สาธารณะนั่นเอง เมื่อไม่สามารถฟันธงได้ทันทีว่าจริงหรือเท็จก่อนแชร์ต่อ หลายครั้งที่เวลามีคนทิ้งระเบิดข่าวลือลงในโซเชียล “เรื่องยิ่งใหญ่-ยิ่งไปกันใหญ่” และดึงดูดผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ยังพบว่างานศึกษา ‘จิตวิทยาของข่าวลือ’ (The Psychology of Rumor) ของ Allport และ Postman ถูกนำมาตีความภายหลังถึงประเภทของข่าวลือได้อีก 3 แบบ ได้แก่

ข่าวลือที่สะท้อนถึงความฝันของผู้คนในสังคม คนอยากให้เกิดอะไรก็มีข่าวลือไปในทำนองนั้น 

ข่าวลือที่พื้นฐานอยู่บนความกลัว สะท้อนถึงความกลัวและความวิตกกังวลของผู้คนในสังคม

ข่าวลือที่นำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นข่าวลือที่บ่อนทำลายมิตรภาพและความสัมพันธ์ของผู้คน 


“ที่เขาลือกัน มันจริงไหม?” ความอยากรู้อยากเห็นกำลังเล่นงานให้คุณหลวมตัว ลงไปกับกระแสความไม่ชัวร์และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ #ข่าวลือ ถูกให้เป็นเครื่องมือเชิงอำนาจของคนปล่อยข่าว ถูกนำไปใช้ทั้งในแวดวการเมืองและธุรกิจ ซึ่งมี วัตถุประสงค์แอบแฝง 

1. เช็กความนิยม

ข่าวลือถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเช็กความสนใจและความนิยมของสังคมต่อประเด็นหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่อาจทราบที่มาของข่าวลือได้อย่างแน่นอน 100% จะหลุดมาจากแบรนด์ สถาบัน องค์กร หรือคนธรรมดา ถือเป็นการโยนหินถามทาง ว่าสังคมหรือผู้บริโภคจะเห็นด้วยหรือต่อต้านกับเรื่อง ๆ หนึ่งไปในทิศทางไหน 


ตัวอย่าง : ก่อนรัฐบาลออกนโยบายรัฐบาล มักจะมีข่าวลือหลุดมาก่อน หลายครั้งถูกมองว่าเป็นการโยนหินถามทาง ซึ่งจะทำให้ทราบกระแสตอบรับจากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือต่อต้าน เช่น การออก พรบ.นิรโทษกรรมวัคซีนเหมาเข่ง ซึ่งก็ถูกกระแสตีกลับจากสังคมอย่างรุนแรง

2. เบี่ยงเบนประเด็น


ข่าวลือสามารถดึงดูดความสนใจของคน จากเรื่องหนึ่งไปสู่เรื่องหนึ่งได้ โดยข่าวลือที่ถูกปล่อยออกมาทีหลัง มักจะเป็นข่าวที่ถูกจริตคน กระตุ้นอารมณ์มากกว่า แต่มีความสำคัญน้อยกว่าข่าวข่าวแรก รวมถึง ‘การทำซ้ำ’ คือ การปล่อยข่าวออกมาบ่อย ๆ ถี่ ๆ เบี่ยงประเด็นจาก ‘ความไม่จริง’ ไปสู่การเชื่อว่าเป็น ‘ความจริง’ แม้จะมีคำอธิบายที่น่าเชื่อถือมาแก้ต่างทีหลังก็ตาม

ตัวอย่าง : ขณะที่สังคมกำลังสนใจประเด็นการประชุมงบประมาณประจำปีและข้อถกเถียงถึงความไม่เหมาะสม บ่อยครั้มักจะมีข่าวหลุดเรื่องอื่น ๆ แพร่ออกมาให้ เช่น ข่าวอาชญกรรม ข่าวหวย ถึงจะพิสูจน์ตัวตนของผู้ปล่อยข่าวไม่ได้ แต่ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ก็อดคิดไม่ได้ว่าข่าวนั้นถูกใช้เพื่อดึงให้คนหันเหความสนใจ

3. โจมตีคนตกเป็นข่าว

ข่าวลืออาจเป็นอาวุธเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่ว่าจะทั้งวงการการเมืองหรือวงการธุรกิจ แม้ว่าเราอาจจะไม่ทราบที่มาของข่าวลือได้ก็ตาม แต่หากข่าวลือนั้นถูกพูดถึงในวงกว้างก็จะกระทบความน่าเชื่อถือของแบรนด์ได้ แม้เราอาจไม่ทราบแหล่งที่มาของข่าวลือนั้น แต่ก็พออนุมานได้ว่าต้องการให้ผู้เสพข่าวรู้สึกทางลบกับผู้ตกเป็นข่าว

ตัวอย่าง : วันดีคืนดีอาจจะมีข่าวลือเกี่ยวกับดารานักแสดงที่กำลังเป็นกระแส อยู่ในช่วงขาขึ้น ถูกปล่อยออกมาในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็จะทำให้กระทบต่อความนิยม และดึงดูดทัวร์ให้มาลงที่ศิลปินคนนั้นได้

4. ปั่นกระแส

บางครั้งข่าวลือถูกปล่อยออกมาเพื่อสร้างกระแส โดยที่ไม่มีมูลความจริง ยิ่งเป็นเรื่องที่คาดว่าผู้คนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างถาโถม ผู้ปล่อยข่าวก็จะไม่รีรอที่จะสร้างข่าวลือข่าวลือเผยแพร่ออกมา เพราะรู้ว่าจะได้กระแสตอบรับในโลกออนไลน์อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง : ข่าวลามาแรงจากนักข่าว ‘วงใน’ ที่มักเกริ่นข่าวสร้างเป็นข่าวลือ เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมออนไลน์ถาโถมเข้าไปแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แต่ก็ได้ยอดการมีส่วนร่วมไปเต็มที่

———-

ในฐานะผู้เล่นในพื้นที่ ‘โซเชียลมีเดีย’ ข่าวลือเป็นของหวานที่คนส่วนใหญ่ชอบเสพ เพราะน่าลองน่าลุ้นว่าจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี เราก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเองและไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี ที่จะใช้ข่าวลือเป็นเครื่องมือ หลอกให้เชื่อ จูงให้คล้อยตาม และเล่นสนุกบนความสนใจใคร่รู้ของเรา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้อื่นโดยที่คุณไม่คาดคิด

“ฟังหู ไว้หู”

ที่มา: ข่าวลือบนทวิตเตอร์:การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในห้องของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม-การเมืองในประเทศไทย, The101.world, The Momentum, Marketingoops, The Matter, ลงทุนศาสตร์

Popular Topics