ฝัน…ที่คนธรรมดาคนหนึ่งแอบฝัน “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” กับ ความฝันให้ไทยมี “รัฐสวัสดิการ” ที่เข้มแข็ง

Highlight

ใคร ๆ ก็อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การเริ่มต้นที่ตัวเองอาจเป็นเพียง 50% ของความสำเร็จ ส่วนอีก 50% เกี่ยวพันกับ ‘รัฐ’ ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา (ที่เป็นมาหลายสิบปี และไม่รู้ว่าจะ ‘กำลังพัฒนา’ ไปอีกนานแค่ไหน) ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีและเจ้าของอำนาจจึงมีสิทธิคาดหวังและวาดฝันให้รัฐก่อร่างสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่เกิดจนตาย อาจไม่ต้องหรูหราอู่ฟู่ แค่พอที่คนธรรมดาจะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิต เช่น การศึกษา สุขภาพ การทำงาน ฯลฯ

หลังรัฐประหาร 2557 คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทต่อการเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากพวกเขากำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จึงต้องการให้รัฐบาลสร้างสังคมที่ดี รองรับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ขยายไปถึงเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ แต่ก่อนจะไปถึงจุด ๆ นั้น ทางเดินลูกรังต้องจัดการหน้าเดินให้ขาวสะอาด โดยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ขจัดความไม่เป็นธรรม และปฏิรูปสถาบันทางสังคม

น่าประหลาดที่ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ก็ดี ‘การปราบคอรัปชั่น’ ก็ดี ‘คุณภาพชีวิต’ ก็ดี เชื่อมโยงกับข้อเขียนของ ‘อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ บุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะจากบทความ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ส่วน ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง’ ที่อ่านเผิน ๆ ดูเหมือนเป็นแค่คำพร่ำบ่นของคนธรรมดา แต่กลับมีนัยยะการเมืองอย่างลึกซึ้งและยังค้างคา

ที่ว่า ‘ค้างคา’ เพราะหลายข้อความยังคงมีความร่วมสมัย ความฝันของ อ.ป๋วย ที่เขียนไว้ตั้งแต่ 2516 มาถึงปี 2566 ร่วม ๆ 50 ปีแล้ว บางอย่างก็ยังไม่ต่างกันมากนัก โฟกัสของการเมืองไทยต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจากรัฐไทยที่ผ่าน ๆ มาเดินหน้า / ถอยหลัง / ผิดทาง / หลงทาง อยู่กันแน่ ?

“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก” ― ครอบครัวอึ๊งภากรณ์เป็นครอบครัวใหญ่มีคุณพ่อซา แซ่อึ๊ง คุณแม่เซาะเช็ง แซ่เตียว และ อ. ป๋วย พี่น้องรวม 7 คน สภาพครอบครัวที่ยากจนบีบบังให้ผู้เป็นแม่ลำบาก จะเห็นว่าการตั้งครรถ์ต้องแบกรับต้นทุนหนักอึ้ง ซึ่งคงจะดีกว่านี้หากรัฐมีสวัสดิการแบ่งเบา เรื่องสุขภาพ เรื่องโภชนาการ เรื่องรายได้ ฯลฯ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์อาจมีผลต่อคุณภาพของประชากร

ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น” ― คุณแม่เซาะเช็งต้องทำงานหนัก กู้หนี้ยืมสิน เพื่อต้องการส่งลูกให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อ. ป๋วย ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัชสัมชัญ แม้รู้ดีกว่าประชาชนที่มีการศึกษามีส่วนสำคัญต่อการดูแลชีวิตตัวเองและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทว่าตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ ยังมีเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะความยากจน ความเหลื่อมล้ำของโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม คุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่

“เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม”  ― หลังจาก อ.ป๋วย จบการศึกษา เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นคุณครูที่โรงเรียนอัชสัมชัญ และทำงานในหลายตำแหน่งตลอดชีวิต เช่น ล่ามภาษาฝรั่งเศส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​​อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ อ.ป๋วย มีปณิธานที่แน่วแน่และมักทำงานอย่างเต็มที่เพื่อทำประโยชน์แก่สังคม

ข้อความข้างต้นทำให้เราเห็นถึงเรื่องการประกอบอาชีพ หลังจากเรียนจบ เราทุกคนคาดหวังที่จะมีงานดี ๆ ทำ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ซึ่งหากเป้าหมายดังกล่าวสำเร็จจะขยับไปสู่การทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ก็น่าเศร้าที่ปัจจุบันหลายคนยังตกงาน แม้จบการศึกษาปริญญา คำถามสำคัญ คือ ในฐานะพลเมือง รัฐพอจะมีบทบาทอย่างไรบ้างที่จะช่วยเหลือคนไร้งาน ทั้งที่พวกเขาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ มากกว่าแค่การปัดตก / มองข้าม เพียงเพราะเขาเรียนไม่ตรงสายกับตลาดแรงงานที่มี

บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม” ― คุณภาพชีวิตที่ดีในระบอบประชาธิปไตยต้องพึ่งพากฎหมายเป็นกลไกสำคัญ ในการควบคุมความสงบสุขของสังคม ขับเคลื่อนนโยบาย ส่งเสริมสวัดิการอย่างเป็นรูปธรรม ความเข้มแข็งของกฎหมายจะเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สำคัญ คือ ช่วยเพิ่มโอกาส ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ความน่าเชื่อถือ ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปากอย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะออกแรงพัฒนาประเทศชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

“ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม” ― ว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนด ควบคุม และสนับสนุนด้านความรู้ การเงิน การลงทุน การจัดจำหน่าย แม้ไทยส่งออกข้าวระดับเป็นท็อปโลกมาตลอด แต่ปี 2566 ชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติยังเป็นอาชีพที่ยากจน เป็นหนี้กว่าราว 1.4 ล้านคน  ไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน กับประเทศที่ภาคภูมิใจเรื่องข้าว เรื่องนี้ดูผิดฝาผิดตัว นโยบายของรัฐครอบคลุมแค่ไหน ?

“ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก” ― สำหรับประเทศประชาธิปไตย รัฐมีหน้าที่เปิดเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ให้คนเข้าถึงข้อมูลอย่างความโปร่งใสแต่ปัจจุบัน ประชาชนยังมีการตั้งคำถามกับสื่อ ประเด็นบางอย่างถูกปิดกั้น ไม่ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังถูกผูกขาด ราคาแพง และไม่ทั่วถึง เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะซัพพอร์ต เนื่องจากทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และข่าวสาร คนไทยไม่น้อยที่ไม่รู้วิธีใช้งานอินเทอร์เน็ต เข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ หรือทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ

“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก” ― สะท้อนถึงการเรียกร้องเรื่องการประกันสุขภาพของรัฐ ซึ่ง ณ เวลานั้น การเจ็บป่วยของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ เข้าถึงยาก และค่าใช้จ่ายสูง คงดีไม่น้อย ถ้ารัฐจะสนับสนุนเปลี่ยนการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐาน ไม่ใช่การสงเคราะห์เป็นกรณี เมื่อประชาชนมีสุขภาพดี ทุกคนย่อมมีเรี่ยวแรงทำมาหากิน พึ่งพาตนเอง พร้อมที่จะสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจให้คุณหมอสงวน นิตยารัมพงษ์ ผลักดันเรื่องสวัสดิการ ‘ประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

“ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่าง ๆ เที่ยวงานวัน งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร” ― เมืองที่ดีควรต้องพื้นที่สาธาณะสำหรับประชาชน เช่น พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ ทั้งนี้อาจเป็นในรูปแบบของกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการบริการพื้นที่เพื่อนันทนาการ ผู้คนจะได้มีสถานที่ทำกิจกรรมยามว่าง ผ่อนคลาย และกระตุ้นความสัมพันธ์ใกล้ชิด แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสวัสดิการเชิงพื้นที่ให้ ไม่ใช่เพียงแค่ในเมืองใหญ่ ๆ แต่ต้องมีอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ทุกคนล้วนต้องการพื้นที่สาธารณะที่เท่าเทียม

“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม” ― สะท้อนความต้องการพื้นฐานของประชาชนที่ต้องการอากาศบริสุทธิ์และน้ำดื่มสะอาด ยิ่งในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 หนักหน่วง อากาศเป็นพิษสูงอันดับต้น ๆ ของโลก คงไม่เกินไปที่ประชาชนอยากเรียกร้องให้รัฐจัดการดูแล ‘ขออากาศดี ๆ’ ให้หายใจ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทว่าการเข้าถึงน้ำสะอาดมีราคาที่ต้องจ่าย การซื้อน้ำกิน การซื้อเครื่องกรองน้ำ อีกนานแค่ไหนที่น้ำประปาควรจะดื่มได้อย่างมั่นใจ

“เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ…ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ” ― เรียกร้องเกินไปไหม ? มาถึงตรงนี้คนที่เห็นแย้งอาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียกร้องมากมาย บางอย่างอาจยากเกินฝัน ทว่าในแนวคิดของ อ.ป๋วย ประชาชนไม่ได้เรียกร้องแบบกล่าวลอย ๆ เพราะการสร้างสวัสดิการมีต้นทุนและมีค่าใช้จ่าย งบประมาณในการสร้าง คือ ภาษีของประชาชน น่าจะดูสมเหตุสมผลที่พวกเขามีสิทธิคาดหวังกับเงินที่เสียไป ภาษีควรมีการเรียกเก็บตามกำลังจ่าย คนมีมากจ่ายมาก คนมีน้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างชาติบ้านเมือง

การเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่ได้ต้องการจะเบลมว่าแต่ละรัฐบาลไหนบริหารประเทศดีหรือร้ายอย่างไร แต่ประชาชนมุ่งหวังว่าการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใส มีคุณธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ภาษีที่จ่ายไปต้องแลกมากับสวัสดิการที่คุ้มค่า หากเป็นแบบนั้น การตั้งคำถามของผู้เสียภาษีจะลดลงไปเองเพราะสามารถตรวจสอบได้และเห็นผลลัพธ์การบริหารงานของรัฐที่เป็นรูปธรรม 

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ” ― เมือถึงคราวตาย คุณภาพชีวิตที่ดีควรส่งผลให้ประชาชนจากไปอย่างสงบ ไม่เจ็บปวดทรมาน (ในที่นี้คงหมายถึงตายเพราะแก่ชรา) ประชาชนไม่ควรต้องมาตายเพราะ ‘สาเหตุโง่ๆ’ เช่น สงคราม อุบัติเหตุ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ การบริหารงานผิดพลาดของรัฐ เป็นต้น แม้ในความเป็นจริง เราไม่รู้วันตายหรือสาเหตุการตายล่วงหน้า แต่อย่างน้อยการปกป้องชีวิตของประชาชนจาก  ‘สาเหตุโง่ๆ’ เป็นหน้าที่ของรัฐ เช่น กฎหมายที่เข้มงวด สวัสดิการที่ครอบคลุม การรักษาความมั่นคง เมื่อตายไปแล้ว รัฐควรซัพพอร์ตเรื่องการจัดการศพและดูแลคนข้างหลังตามสมควรให้ผู้วายชมน์จากไปอย่างหมดห่วง

ข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนจากหนังสือ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ที่พอจะเห็นภาพคร่าว ๆ ของความฝันคนธรรมดาที่ชื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ไม่ว่าจะผ่านมาถึง 50 ปี ยังมีบางความฝันที่ไม่เก่า และส่งต่อมาถึงคนรุ่นใหม่ให้ยังเรียกร้องต่อรัฐจวบจนถึงทุกวันนี้ ความฝันของ อ. ป๋วย คือ สิทธิของประชาชนที่จะมีความสุขอย่างยั่งยืน รัฐไม่จำเป็นต้องดูแลทุกกระเบียดนิ้ว แต่ต้องเสนอสิ่งที่จำเป็นให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

และฝันนั้นน่าจะมาในรูปของ ‘รัฐสวัสดิการ’ ฝันที่ยังดูจาง ๆ ไม่ชัดเจน และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ไหม? หรืออีกเมื่อไร? ทว่ามันเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศที่เป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ หากไทยจะก้าวไปสู่จุดนั้น หนทางยังอีกยาวไกล แต่ไม่ถึงขั้นมืดมนเสียทีเดียว ถ้ายังจะช่วยกันผลักดันเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ภายใต้ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ฝันที่ค้างคาตั้งแต่ยุค อ.ป๋วย อาจเป็นจริงได้ในเจเนอเรชั่นของเรา…ก็เป็นได้

สุดท้าย เนื่องในโอกาส 107 ปีชาตกาล “ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” คนซื่อในประเทศคต ขอรำลึกถึงคุณความดีที่อาจารย์ได้ทำไว้ต่อประเทศชาติบ้านเมือง ผู้วางรากฐานด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ของไทย หนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทย และการเป็นต้นแบบของผู้กล้าหาญทางจริยธรรมที่ยอมหักไม่ยอมงอ ไม่ฝักใฝ่ในตำแหน่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ แม้สถานการณ์การเมืองในอดีตส่งผลกระทบอย่างน่าเศร้าต่อชีวิตและครอบครัว แต่ท่านจะยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยอีกแสนนาน

*ข้อความจากหนังสือส่วน ‘คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง’ ยกมาเพียงบางส่วน ไม่ใช่ข้อความทั้งหมดที่เขียนไว้ในหนังสือ ‘จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน’ บทแรก 

อ้างอิง 

– หนังสือ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (https://bit.ly/3Yzv3Vt

– เว็บไซต์ puey-ungpakorn (https://bit.ly/3E7d5BA

– สถาบันปรีดี พนมยงค์ (https://bit.ly/3IjUjcG

– adaybulletin (https://bit.ly/3YvKcqK

– the101.world (https://bit.ly/3S4cCG8) (https://bit.ly/3K2xTxJ

– decode.plus (https://bit.ly/3I1S905

– รายการ PYMK EP38 ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนตรงในประเทศคด (https://bit.ly/3RVzMhC

Popular Topics