ทำไม “นักศึกษา” ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ? ถูกชักใย หรือ ไม่ไว้ใจเผด็จการ

Highlight

14 ตุลาคม 2516 เป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่แกนนำนักศึกษารวมกับประชาชนได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นครั้งแรก

ชัยชนะของประชาชนในปี 2516 สามารถขับไล่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพลเอกณรงค์ กิตติจขร ให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ปิดฉาก 15 ปีอำนาจเผด็จการที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ประเทศไทย Restart เข้าสู่ช่วงก่อร่างสร้าง ‘ประชาธิปไตย’ อีกครั้ง มีการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แม้รัฐบาลภายหลังจากนั้น จะประสบปัญหารุมเร้ารอบด้าน ขาดเสถียรภาพ และจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การสังหารหมู่ธรรมศาสตร์ต่อมา

แต่จะเห็นว่าทั้ง 14 ตุลา – 6 ตุลา ‘ขบวนการนักศึกษา’ เป็นกลุ่มที่เริ่มต้นกระแสการเรียกร้อง ต่อต้านความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงนั้น ๆ มีบทบาทต่อการเมือง แม้ปัจจุบัน ปี 2564 เรายังพบเห็นการชุมนุมต่อต้านเผด็จการอยู่เช่นเดิม ซึ่งแกนนำการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา

#AGENDA ชวนหาคำตอบ ทำไม ‘นักศึกษา’ หรือ ‘คนรุ่นใหม่’

มักออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย ?

การชุมนุมทางการเมือง มีต้นทุน ต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ไม่ใช่เรื่องสนุกสนาน ที่ใคร ๆ อยากจะทำ แต่เมื่อสังคมที่เป็นอยู่ ไม่ตอบโจทย์ความหวังและความฝันของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา จึงเป็นชนวนที่ปลุกให้เกิดการเรียกร้อง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามักเกิดขึ้นในช่วงที่เผด็จการครองเมือง มากกว่าช่วงที่สังคมเป็นประชาธิปไตย

— เหตุผลที่นักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย —

1 – ไม่มีอนาคตในสังคมเผด็จการ

กลุ่มนักศึกษากำลังจะก้าวไปเป็น ‘แรงงาน’ และเป็น ‘ผู้ใหญ่’ การศึกษาทำให้เกิดการเรียนรู้และประเมินโอกาสในอนาคตของตนเอง ซึ่งนักศึกษาเชื่อว่าหากสังคมยังเป็นเผด็จการ ก็แทบไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
.
หาก #ถ้าการเมืองดี เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย บทบาทของนักศึกษาจะไม่หันเหสู่การเมืองมากนัก เพราะระบบการเมืองที่มั่นคงทำให้ ‘วัยเรียน’ ใส่ใจกับการเรียน การพัฒนาตนเอง มุ่งมั่นทำมาหากินไปตามปกติ ขัดแย้งกับสังคมเผด็จการที่ขบวนการนักศึกษาเติบโตมากที่สุด และทนไม่ได้กับสังคมที่ดูไม่มีอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นไทย ( #14ตุลา , #6ตุลา , ม็อบในปัจจุบัน) หรืออินโดนีเซีย (ยุคเผด็จการของพลเอกมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต) หรือเกาหลี (เหตุการณ์นองเลือดที่เมืองกวางจู ปี 2523 ต่อต้านนายพลชุน ดู ฮวาน) และอีกหลายประเทศในโลก จะเห็นว่า ม็อบนักศึกษา มักจะเกิดขึ้นช่วงเวลาที่สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น

2 – สังคมไม่มีความเป็นธรรม

นักเรียน นักศึกษา เป็นเยาวชนที่กำลังเติบโตเป็น “ว่าที่ปัญญาชน” จะตั้งคำถามกับบริบทสังคมรอบตัว โดยเฉพาะเรื่องสังคมและการเมือง เมื่อรู้สึกผิดหวังกับคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่ (ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเกิดจากการนำพาสังคนของคนรุ่นก่อน) คนรุ่นใหม่จึงพร้อมที่จะออกมาแสดงพลัง โดยต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

ตัวอย่างในปี 2516 ประชาชนและนักศึกษาอิ่มตัวต่ออำนาจเผด็จการ เพราะผู้มีอำนาจบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม เป็นที่ตั้งคำถามของสังคม และเกิดความเหลื่อมล้ำ อย่างกรณี ‘ทุ่งใหญ่นเรศวร’

ขบวนการนักศึกษาจึงเติบโต และออกมาเป็นผู้ชี้นำทางความคิดต่อคนในสังคมให้เห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศคงไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น และกฎหมายจะเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียวมากกว่าที่จะใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน

นักศึกษาส่วนใหญ่มองว่าโครงสร้างเดิม ๆ ที่กดทับสังคม เช่น การรัฐประหาร อำนาจเผด็จการ ความไม่เป็นธรรม  จะเป็นบ่อเกิดให้ความอยุติธรรมอื่น ๆ ตามมา ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบรัฐได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมเก่า #ให้มันรุ่นจบที่รุ่นเรา 

3 – สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดและเกิดความเหลื่อมล้ำ

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมือง ถูกละเมิดจากรัฐมากที่สุดในช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหาร และปกครองระบอบเผด็จการ ขบวนการนักศึกษาก็มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกำลังถูกริดรอด 

.
อย่างในสมัยปี 2516 การเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการ ขบวนการนักศึกษาใกล้ชิดกับประชาชน ผ่านการได้ออกไปทำค่ายอาสา การพัฒนาชุมชน จึงได้สัมผัสกับความลำบากยากแค้นของผู้คน สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น นักศึกษาก็มีความต้องการช่วยเหลือคนในสังคมให้ลืมตาอ้าปากได้

.
นอกจากนี้ รัฐเผด็จการพอใจที่ประชาชนไม่ต้องใส่ใจการเมือง ไม่ต้องตั้งคำถาม อยู่อย่างสงบเงียบไปเรื่อย ๆ และมักปราบปรามผู้ที่เห็นต่างด้วยความรุนแรงให้เกิดความกลัว ยิ่งประชาชนไม่สนใจการเมือง จะเป็นช่องโหว่ให้ถูกกดขี่ และถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว
.
ขบวนการนักศึกษาจึงต้องการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และเริ่มต้นเข้าไปเป็นผู้นำทางความคิด นำเสนอข้อมูลให้ประชาชนตื่นตัว และตระหนักเรื่อสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย
.
เมื่อมีผู้ร่วมอุดมการณ์มากขึ้น พลังของการต่อสู้จะมีน้ำหนักมากขึ้น ขบวนการนักศึกษและแนวร่วมก็จะเติบโตได้ดี การออกมาประท้วงต่อต้านเผด็จการจะมีน้ำหนักและสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐได้
.
หากว่าสังคมเป็นประชาธิปไตยแล้ว ขบวนการนักศึกษาอาจะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้ก็ได้

— จุดแข็งของขบวนการนักศึกษา —

ต้นทุนของขบวนการนักศึกษาต่อการเรียกร้องประชาธิไตย คือ “การเป็นผู้นำทางความคิดและสติปัญญา” นั่นทำให้รูปแบบของการต่อสู้เป็นไปโดยสันวิธี เน้นการพูดคุย หาทางออก เสนอข้อเรียกร้อง หลีกเลี่ยงการปะทะและความรุนแรง

ขบวนการนักศึกษาในทุกยุคทุกสมัยมักไม่มีอาวุธ ไม่มีจำนวนคนมากมาย แต่มีพลังความกล้าที่จะตั้งคำถาม และไม่ปล่อยให้ความไม่ชอบธรรมเติบโตขึ้นในสังคมต่อไป

การออกมาชุมนุมต่อต้านเผด็จการ เกิดจากการตระหนักและประเมินด้วยความเห็นของตนเอง จากองค์ความรู้ที่พวกเขาได้รับ ไม่ใช่ออกมาเพราะมีคนชักจูง อยู่เบื้องหลัง แค่ไม่อยากทนกับสังคมที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีโอกาส ไม่มีความฝัน

นักเรียน นักศึกษา มองหาสังคมใหม่ที่ “ดีกว่าที่เป็นอยู่” เพราะเหตุนี้จึงมักถูกเรียกว่าเป็นพวก “หัวก้าวหน้า”

และขบวนการนักศึกษาจึงมักเติบโตได้ดี ในสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย


ปี 2564 ครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ปัจจุบัน ขบวนการนักศึกษาไปจนถึงนักเรียนมัธยม และประชาชน ยังคงต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลอยู่เป็นระยะ ๆ สิ่งนี้กำลังบอกอะไรเรา ?

หรือ … ประเทศไทยยังคงมีอำนาจเผด็จการและยังไม่เป็นประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ?

ที่มา: เอกสารวิชาการ “การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของนักศึกษา” – ชาญวิทย์ รักษ์กุลชน, วิเคราะห์ขบวนการนักศึกษาไทยในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. 2549 – 2557 – ชยุตม์ พันธุ์สุวรรณ และ สมศักดิ์ สามัคคีธรรม, The Standrad, VoiceTV, The Matter, BBC, สำนักพิมพ์สมมติ

Popular Topics