สรุป 8 เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์

Highlight

1. ชัยชนะ 14 ตุลา

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็นชัยชยะของประชาชนและนักศึกษาที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่สืบทอดอำนาจยาวกว่า 16 ตั้งแต่ยุคยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
.
เกิดการปะทะรุนแรงจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถาณการณ์ได้ เนื่องจาก มวลชนที่ออกมาชุมนุมมีจำนวนมหาศาล จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีกดแรงกดดันไม่ไหว จึงประกาศลาออก
.
ร.9 ได้แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจรหนีออกนอกประเทศ
.
ประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง แม้ว่ารัฐบาลหลังจากนั้นจะยังไม่มีเสถียรภาพ เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า การแตกแยกของนักการเมือง แต่การปกครองยังคงอยู่ในกรอบวิถีประชาธิปไตย
.
จนปี 2519 เริ่มมีกลุ่มต่อต้านนักศึกษามากขึ้น พร้อมกระแสการกลับมาของจอมพลถนอม จอมพลประภาส

2. จอมพลประภาสกลับเข้าไทย

16 สิงหาคม 2519 จอมพลประภาสกลับเข้าประเทศไทย อ้างว่ามารักษาดวงตา เมื่อขบวนการนักศึกษาทราบจึงรวมตัวออกมาชุมนุม เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมจอมพลประภาสมาลงโทษ เริ่มมีความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและกลุ่มกระทิงแดงเป็นระยะ
.
มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกลับมาของจอมพลประภาสเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร แต่ชนชั้นนำขณะนั้น ยังไม่มีความพร้อม จึงได้ผลักดันให้จอมพลประภาสหนีออกนอกประเทศอีกครั้งในวันที่ 22 สิงหาคม 2519 นักศึกษาจึงสลายตัว

3. การกลับมาของพระถนอม

ช่วงเดือนสิงหาคม 2519 มีข่าวความพยายามกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม เสียงในรัฐบาลมีทั้งฝากที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้านเพราะเกรงว่าจะนำไปสู่เหตุการณ์ไม่สงบ ในขณะที่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ประกาศว่าจะต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอมจนถึงที่สุด

19 กันยายน 2519 ข่าวยืนยันว่าจอมพลถนอมได้บวชเณร กลับเข้าไทย และบวชเป็นพระที่วัดบวรนิเวศฯ วิทยุยานเกราะได้เผยแพร่คำประกาศว่าการกลับมาของพระถนอม ไม่มุ่งหมายทางการเมือง และขอให้ขบวนการนักศึกษาหยุดต่อต้านเพราะจะสะเทือนพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตเรื่องการรัฐประหารกลับมาในวงสนทนาอีกครั้ง นักศึกษาจึงยังคงออกมาต่อต้าน

4. สื่อฝ่ายขวาโจมตีนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

กระแสต่อต้านพระถนอมรุนแรงมากขึ้น สื่อฝ่ายขวา เช่น วิทยุยานเกราะ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม เริ่มนำเสนอข่าวว่านักศึกษาที่ออกมาไล่พระถนอม สนับสนุนคอมมิวนิวส์ พระกิตติวุฒโฑกล่าวว่า “มีแต่คอมมิวนิสต์ที่ไล่พระ”

ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเสียงแตกว่าจะจัดการอย่างไรกับพระถนอม ความไม่ชัดเจนจึงทำให้นักศึกษายิ่งไม่พอใจ และดำเนินการต่อต้านต่อไป

5. ฆาตกรรม 2 แนวร่วมต้านเผด็จการ

24 กันยายน 2519 พบศพ “วิชัย เกษศรีพงษา” และ “ชุมพร ทุมไมย” พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตาย ศพถูกนำไปแขวนไว้ที่ประตูหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม

ศนท. ตั้งข้อสังเกตว่าการสืบสวนดคีฆาตกรรมของตำรวจไม่โปร่งใส และเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านนักศึกษา จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้

ท้ายที่สุดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกจับ แต่มีการปล่อยตัวอย่างลับ ๆ ภายหลัง ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่อง “ประตูแดง” นั่นเอง

6. หยุดสอบประท้วง การแสดงแขวนคอ

25 กันยายน 2519 กระแสต่อต้านพระถนอมรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังมีเหตุการณ์ฆาตกรรมที่นครปฐม กลุ่มนักศึกษาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลรีบจัดการทุกอย่างให้ชัดเจนโดยเร็ว

นักศึกษาร่วมกันประท้วงโดยการไม่เข้าสอบ อดอาหารหน้าทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทนทวงถามความคืบหน้าคดีฆาตกรรมสองแนวร่วม แต่ไม่ได้รับคำตอบ ขณะเดียวกันกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายขวาที่ต่อต้านรุนแรงขึ้น โดยมองนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์

4 ตุลาคม 2519 มีการรวมตัวกันที่สนามหลวง และลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงหนึ่งมีการทำการแสดงโดยชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำลองการกรณีศพแขวนคอที่นครปฐม เสียดสีการทำงานของรัฐ ตำรวจ และรำลึกถึงผู้เสียชีวิต

7. ข่าวการแสดงแขวนคอหมิ่นรัชทายาท ?

5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำเสนอข่าวภาพการแสดงแขวนคอที่ลานโพธิ์ นักศึกษายังคงมาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากขึ้น

ภาพที่เผยแพร่ออกไป หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ประโคมข่าวปลุกระดมว่าการแสดงจัดขึ้นเพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขององค์รัชทายาท บางสำนักกล่าวหาว่านักศึกษาคือ “ผู้ก่อความไม่สงบ” การต่อต้านพระถนอมเป็นข้ออ้าง แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

8. 6 ตุลา สังหารหมู่ธรรมศาสตร์

เช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มฝ่ายขวา เช่น ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ได้เดินทางมาปิดล้อมธรรมศาสตร์ เปิดฉากโจมตี ระดมยิง เหล่านักศึกษาจึงพากันหนีตายไปคนทิศคนละทาง
.
เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปภายในมหาวิทยาลัย ใช้อาวุธสงครามทำร้ายนักศึกษา ปล้นทรัพย์ ข่มขืนกระทำชำเรานักศึกษาหญิง หรือแม้แต่นำศพของผู้เสียชีวิตมาเผา ลากไปกับพื้นที่สนามฟุตบอล และจับกุมนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ณบริเวณสนามฟุตบอล และสนามหลวง

นับเป็นวันมหาวิปโยคที่รัฐและคนร่วมชาติใช้ความรุนแรงประหัตประหารผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม ไร้ความปราณี เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก 

เย็นวันนั้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปรกครอง อ้างว่า นศ.ร่วมกับคอมมิวนิสต์และบ่อนทำลายประเทศ

ปี 2564 ครบรอบ 45 ปี การสังหารหมู่ธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ซึ่งสะท้อนความเลวร้ายของรัฐที่กระทำต่อคนร่วมชาติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากทางการระบุว่ามี 39 ราย บาดเจ็บ 145 ราย ขณะที่รายงานจากมูลนิธิร่วมกตัญญูคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 350 ราย ผู้เสียชีวิตยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม ผู้กระทำผิดยังคงไม่ถูกลงโทษ 

ที่มา: เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา, The Standrad, The Matter, SILPA-Mag

Popular Topics