เมืองหลวงแต่ละประเทศมีพื้นที่สีเขียวมากแค่ไหน?

Highlight

โลกกำลังเข้าสู่ภาวะเดือด อุณหภูมิทั่วโลกกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมภายในเมืองอุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่นถึง 29% อีกด้วย!

.

“พื้นที่สีเขียว” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยพื้นที่สีเขียวสามารถช่วยลดอุณหภูมิได้มากถึง 5 องศา หลายประเทศจึงได้เริ่มพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในเมืองของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น

.

แล้วเมืองหลวงที่คนหนาแน่นมีพื้นที่สีเขียวมากน้อยแค่ไหน?

กรุงเทพอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอื่นที่สภาพอากาศและภูมิประเทศใกล้เคียงกัน?

นโยบายและกลยุทธ์ที่แต่ละเมืองใช้คืออะไร #Agenda สรุปมาให้แล้ว!

.

สิงคโปร์ 

66 ตร.เมตรต่อประชากร 1 คน

.

สิงคโปร์ คือเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น the most eco-friendly cities in Asia สำหรับประเทศสิงคโปร์ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของการพัฒนาอย่างแท้จริง โดยมีการเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกพื้นที่ สวนบนดาดฟ้า สวนระหว่างตึก หรือสวนที่ห้อยลงมาจากตึกกลายเป็นเรื่องปกติของเมืองนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงสำหรับประเทศสิงคโปร์คือ ทางเดินเชื่อมกันระหว่างสวนต่าง ๆ พร้อมการปลูกต้นไม้ไปตลอดทางเชื่อมนั้นโดยมีความยาวกว่า 10 กิโลเมตร  

.

นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้ง Parks and Recreation Department เพื่อกำกับดูแลพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นการดึงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างพื้นที่สีเขียวให้ได้มากที่สุด และมีการกำหนดนโยบายเรื่องการขยายตัวของเมือง ห้ามทำลายพื้นที่สีเขียวโดยเด็ดขาด ถ้าต้องมีการตัดหรือถอนก็ต้องดำเนินการปลูกเพิ่มให้เท่ากับจำนวนที่ตัดไป และใครทำให้ต้นไม้เสียหายก็อาจมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย 

.

โซล

46 ตร.เมตรต่อประชากร 1 คน

.

โซลมีความคิดในการนำเอาป่าเข้ามาอยู่ในเมืองโดยทำเป็นระบบป่าเคลื่อนที่ นำพันธุ์ไม้จากป่าใส่ลงภาชนะเคลื่อนที่สำหรับการเคลื่อนย้ายหรือปลูกภายในส่วนของเมือง พร้อมระบบแนะนำพันธุ์ไม้และวิธีการปลูกที่เหมาะสม พ่วงมาด้วยระบบติดตามจำนวนพื้นที่สีเขียวในแต่ละเขตของเมือง และมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นที่สีเขียวมาก่อนโครงการการพัฒนาพื้นที่เมืองส่วนอื่น ๆ 

.

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมืองทั้งไหล่ทาง ดาดฟ้า รวมทั้งเพิ่มการปลูกต้นไม้บริเวณแม่น้ำฮัน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเมือง และโครงการสร้าง “Seoul Green Path” ทางเดินที่เต็มไปด้วยดอกไม้และต้นไม้หลากหลายชนิดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สีเขียวหลายแห่งและขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกัน โดยมีความยาวมากถึง 2,063 กิโลเมตรภายในปี 2026 

.

ที่สำคัญในเมืองโซลยังมุ่งหวังปลูกฝังการรักพื้นที่สีเขียวให้แก่เยาวชน ทั้งการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ไปจนถึงการกำหนดให้มีการสร้างพื้นที่สีเขียวรายล้อมในพื้นที่บริเวณโรงเรียนภายในเมืองเพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวอีกด้วย

.

โตเกียว 

38 ตร.เมตรต่อประชากร 1 คน

.

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากขึ้น  มีการนำพื้นที่เก่ามาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด และยังสามารถช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของเมืองได้อีกด้วย อาทิ “The Log Road Project” ที่พัฒนารางรถไฟเก่าของเมืองให้กลายเป็นทางเดินสีเขียวที่ผู้คนสามารถดื่มด่ำกับพื้นที่สีเขียวได้ทุกฤดูและทุกช่วงเวลา หรือ “Meguro Sky Garden” สวนลอยฟ้าที่สร้างขึ้นเหนือทางแยกของ motor way 

.

นอกจากนี้ยังสร้างระบบ “Tree Bank” กลไกใหม่ในการดูแลต้นไม้ โดยทำการคัดเลือกต้นไม้จากพื้นที่สีเขียวที่มีจำนวนต้นไม้เพียงพอแล้วเพื่อดูแลและทำการย้ายไปยังพื้นที่สีเขียวใหม่ ๆ ที่มีการสร้างขึ้นในอนาคต พร้อมกำหนดนโยบายบ้านไหนมีต้นไม้ บ้านนั้นได้รับการลดหย่อนทางภาษี กระตุ้นให้ประชาชนสร้างพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งทำให้เกิดธุรกิจการรับดูแลและจัดการพื้นที่สีเขียวภายในบ้านอีกด้วย

.

ปักกิ่ง

16.9 ตร.เมตรต่อประชากร 1 คน

.

จากเมืองที่มีปัญหามลภาวะมากแห่งหนึ่งในประเทศจีนสู่เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดของประเทศจีน โดยในปักกิ่งมีสวนสาธารณะมากถึง 1,065 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายให้ 91% ของประชาชนภายในเมืองได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวซึ่งอยู่ภายในระยะ 500 เมตรของที่พักอาศัยเท่านั้น

.

โดยในปี 2024 ปักกิ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมืองมากถึง 6,666,700 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยสวนสาธารณะหรือป่าในเมือง 15 แห่ง และสวนขนาดเล็กภายในเมืองถึง 50 แห่ง ซึ่งจะทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวภายในเมืองเพิ่มขึ้นจนถึง 50% ของเมืองเลยทีเดียว

.

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะ หากพิจารณาว่าพื้นที่ไหนไม่ต้องใช้ประโยชน์อีกต่อไปจะมีการรื้อถอนเพื่อทำพื้นที่สีเขียว และภายในสิ่งก่อสร้างหากมีพื้นที่ใดที่เหลือทิ้งไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ก็จะต้องจัดให้มีพื้นที่สีเขียวซึ่งหมายความรวมไปถึงผนังห้องของอาคารนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน

.

กรุงเทพฯ 

7.87 ตร.เมตรต่อประชากร 1 คน

.

กรุงเทพฯ ได้ประกาศโครงการ GREEN BANGKOK 2030 เร่งจัดทำสวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายในเวลา 15 นาที โดยปัจจุบัน กทม.เปิดใช้สวน 15 นาทีแล้วเป็นจำนวน 13 สวน และเตรียมที่ดินเพื่อทำเพิ่มอีก 107 แห่ง โดยมีเป้าหมายเพิ่มปีละอย่างน้อย 30 สวน ผ่านงบประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี

.

รวมทั้งสร้างกลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้ทางกรุงเทพฯ พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว หรือให้เอกชนพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินของตัวเอง และการหาภาคีในการร่วมพัฒนาพื้นที่ หรือการกำหนดข้อตกลงในเชิงการบริหารจัดการ เช่น ดูแลต้นไม้และทำความสะอาดพื้นที่โดย กทม. หรือการให้บริการสาธารณูปโภคโดยภาครัฐ

.

นอกจากนี้ยังมีการผลักดันข้อกฎหมายที่จะกำหนดให้ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคารอีกด้วย ซึ่งกฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้พื้นที่บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร ดังนั้นหากมีการบังคับใช้กฎหมายที่กำลังผลักดันอยู่นั้นจะทำให้พื้นที่บ้านจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 15 ตารางเมตร

.

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน กรุงเทพฯ ถือว่ายังมีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่า พื้นที่สีเขียวควรมี 9 ตารางเมตรต่อจำนวนประชากร 1 คน ซึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาการขาดพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ ปัญหาในการดูแลรักษาต้นไม้ภายในเมือง หรือปัญหาการวางแผนในการขยับขยายเมือง จากในอดีต จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปว่าโครงการ GREEN BANGKOK 2030 จะช่วยยกระดับพื้นที่สีเขียวภายในเมืองให้มีจำนวนที่เพียงพอได้หรือไม่

.

ที่มา: Telegraph, Ecomatcher, Becommon, Seoul metropolitan government, Euronews, Tokyo metropolitan government, Chinadaily, United Nations, The Newyork Times, MGR Online, The Matter, Vector Renewables

Popular Topics