ภาพยนตร์ Avatar 2: The Way of Water ขึ้นแท่นอันดับ 3 ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล แซงหน้า Titanic ไปเรียบร้อยแล้ว โดยทำเงินไปได้ 2.24 พันล้านดอลลาร์ (ก.พ.66) ปัจจัยที่ทำให้ผลงานของ James Cameron ประสบความสำเร็จ นอกงานงานด้วย Visual แล้วต้องซูฮกให้กับบทคุณภาพ
ตั้งแต่ Avatar 1 จนถึง Avatar 2: The Way of Water เส้นเรื่องหนังเล่าเรื่องราว เจค ซัลลี อดีตนาวิกโยธินพิการที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังแพนโดรา รับหน้าที่แฝงตัวผ่านร่างอวตารเผ่านาวี และผจญภัยกับเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทว่าหากมองลึกลงไป Avatar มีปูมหลังของเรื่องโลกล่มสลาย การเดินทางที่มีอนาคตของมนุษยชาติเป็นเดิมพัน จัดเป็นภาพยนตร์สะท้อนปัญหาระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่ง
หากใครลืมไปแล้ว เท้าความสั้น ๆ ว่า โลกมนุษย์ในภาพยนต์ Avatar นั้นกำลังนับถอยหลัง เพราะทรัพยากรแทบทุกอย่างถูกใช้จนใกล้หมดสิ้น มนุษย์อยู่กับอย่างอัตคัดและหนาแน่น จนเป็นเหตุผลที่ต้องออกเดินทางเพื่อหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ นั่นคือ ‘แพนโดรา’ แต่ภาพยนตร์ก็เล่าให้ผู้ชมเห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ ไม่ได้เรียนรู้จากโลกใบเก่าเลย การเดินทางไปแพนดอร่าสวมบทบาทผู้รุกรานที่พร้อมจะกอบโกย บุกยึด และทำลายทุกอย่าง (อยู่ดี) สวนทางกับชาวนาวีที่สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน แม้วิทยาการ ความรู้ เทคโนโลยี หรือวิวัฒนาการยังตามหลังมนุษย์อยู่มากก็ตาม
พฤติกรรมรุกรานธรรมชาติของมนุษย์โลก ดำเนินต่อเนื่องมาถึง Avatar 2: The Way of Water การกลับมาที่แพนโดรา คนจากฟ้ามีเป้าหมายยึดครองทรัพยากร แต่ขยับขยายออกจากพื้นที่ป่าและวิถีชีวิตคนพื้นเมือง (เผ่าโอมาติกายา) ไปแตะถึงโลกของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำหรือทะเล (เผ่าเม็ตคายีนา) โดยเน้นเรื่องของความเกี่ยวพันกันระหว่างชีวิตและสายน้ำ และมีหนึ่งประเด็นที่ภาพยนตร์ให้น้ำหนักอยู่มาก คือ ความสัมพันธ์ของ โทลคูน/ทัลคุน (Tulkun) กับชาวเม็ตคายีนา และการถูกล่าเพื่อเชิงพาณิชย์โดยชาวโลก
‘ทัลคุน’ เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 91.4 เมตร ลำตัวมีสีเทาฟ้าเข้มพร้อมลายพาดขวางสีสดตัดกับท้องสีขาว ส่วนหัวมีตา 4 ข้างด้านละ 2 ข้าง มีความเฉลียวฉลาด เข้าใจภาษาของชาวนาวี ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าเป็น ‘วาฬของแพนโดรา’ ที่กำลังเผชิญกับการถูกล่าจากคนจากฟ้า (มนุษย์โลกในภาพยนต์) ไม่ต่างกันกับ ‘วาฬของโลก’ ที่ถูกล่าจากคนบนโลก (มนุษย์โลกในความเป็นจริง) และใกล้สูญพันธ์เต็มที
Avatar 2: The Way of Water มีฉากอธิบายกิจกรรมการล่าทัลคุนแบบละเอียด (ค่อนข้างโหดร้าย) เพื่อค้นหาสิ่งที่เรียกว่า ‘อมฤตา’ จะถูกสกัดจากมันสมองของทัลคูน มีลักษณะเป็นของเหลวสีทอง มูลค่าราว 80 ล้านดอลลาร์ มีสรรพคุณยับยั้งความแก่ชราของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่วาฬบนโลกของเราก็กำลังถูกล่าด้วยวิธีการไม่ต่างกันนัก มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น ล่าเป็นวัฒนธรรม ล่าเพื่อการค้าและการบริโภค ล่าเพื่อการศึกษาวิจัย ล่าเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น
จาก ‘ทัลคุน’ สู่ ‘วาฬ’ ภาพยนตร์ Avatar 2: The Way of Water กระทุ้งให้คนดูหันมามองอุตสาหกรรมล่าวาฬของโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น แม้ข่าวคราวจะไม่ค่อยเห็นตามสื่อ แต่ปัจจุบันยังคงมีอยู่ และมีวาฬถูกล่าในแต่ละปีมากขึ้น หลายชนิดมีจำนวนน้อยลงจนน่าตกใจ และขึ้นตัวแดงว่า ‘ใกล้สูญพันธ์’ ทั้งนี้ การล่าวาฬเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับมนุษย์ที่อาศัยใกล้เคียงทะเลมายาวนาน ตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล แต่เดิมเน้นการล่าเพื่อหาเลี้ยงชีวิต บางพื้นที่เกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อ ตัวอย่าง เช่น
ชาวอินูเปียต ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของรัฐอลาสก้ามีวัฒนธรรมล่าวาฬเพื่อการบริโภคเป็นการหาอาหารเลี้ยงปากท้องของคนในชุมชนทุกคนเพื่อไม่ให้คนหิวโหยและสืบทอดเทศกาลนาลุคกาทัค (Nalukataq) ที่ฉลองความสำเร็จของฤดูการล่าวาฬ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การล่าวาฬนิยมกลุ่มอเมริกาและยุโรปที่ต้องการหาไขมันวาฬมาทำเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังพบการล่าวาฬในรัสเซีย นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ อีกด้วย
ชาวญี่ปุ่น เป็นอีกชาติที่มีการล่าวาฬอย่างเป็นระบบตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 มีการพัฒนาวิธีการล่าเรื่อยมา การตั้งสมาคมล่าวาฬขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ ยุคหนึ่งเชื่อว่าวาฬเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีการทำพิธีทางศาสนาเพื่อรำลึกคุณของวาฬ โดยแต่เดิมจะล่าวาฬเพื่อนำมาเป็นอาหาร ก่อนพัฒนามาเพื่อการพาณิชย์
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมการล่าวาฬเติบโตอย่างมากส่งผลให้จำนวนวาฬทั่วโลกลดลง ทั่วโลกเริ่มมีกระแสไม่เห็นด้วยเป็นที่มาของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฏระเบียบการล่าวาฬ (Geneva Convention for the Regulation of Whaling) มีผลบังคับปี 1934 แต่มีบางประเทศไม่ได้เข้าร่วมและยังคงล่าวาฬต่อไปจึงมีการจัดตั้งองค์กร International Whaling Commission (IWC) สำหรับออกกฎหมายและควบคุมการล่าวาฬ โดยมีการจำกัดโควต้าการล่าและอนุญาตการล่าเพื่อการศึกษาวิจัยแต่ด้วยตลาดล่าวาฬมีมูลค่ามหาศาล จึงพบการลักลอบล่าและเกิดข้อพิพาทกับ IWC อยู่บ่อยครั้ง
แม้การล่าวาฬจะถูกประณาม แต่ยังคงมีหลายประเทศเดินหน้าอุตสาหกรรมต่อไป เมื่อปี 2019 ญี่ปุ่นที่เคยระงับการล่าวาฬเชิงพาณิชย์เมื่อปี 1988 ถอนตัวออก IWC กลับมาล่าวาฬอีกครั้ง โดยให้คำมั่นว่าจะล่าอย่างยั่งยืนมากขึ้น หรือแม้แต่ไอซ์แลนด์ที่เป็นสมาชิก IWC อนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อการค้าได้อีก 2,130 ตัว ระหว่างปี 2019-2024 ข้อมูลจากฝั่งนอร์เวย์เผยว่าฤดูล่าวาฬปี 2022 ฆ่าวาฬไปราว 580 ตัว สูงที่สุดในรอบ 6 ปี ทุกอย่างดำเนินไป ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากนักอนุรักษ์และคนเห็นต่าง
ปี 2020 International Whaling Commission ประมาณจำนวนของวาฬอยู่ที่อย่างน้อย 1.5 ล้านตัวที่เหลืออยู่ในโลก ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทะเลราว 361 ล้านตารางกิโลเมตร อาจมีน้อยกว่านั้นมากในความเป็นจริง ทั้งนี้ บางชนิดอาจสูญพันธ์ไปแล้ว บางสายพันธ์ุอาจมีจำนวนน้อยไม่ถึง 500 ตัว กำลังเผชิญสถานะใกล้สูญพันธ์ เหตุผลหลัก ๆ มาจากการรุกรานของมนุษย์ ปัญหามลพิษทางทะเล การเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อน ทำให้ไม่มีโอกาสเติบโตเต็มที่จนถึงจุดที่สามารถขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มได้
มุมมองของการสนับสนุนการวาฬมีเหตุผลที่น่าสนใจ กล่าวว่า การล่าวาฬเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยเฉพาะชุมชนล่าวาฬ พวกเขาไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอะไร เพราะอยู่กับวัฒนธรรมการล่าวาฬมาและกังวลว่านักล่าวาฬจะหายไปจากประวัติศาสตร์ หรือว่าด้วยเรื่องการบริโภคเนื้อวาฬ เนื่องจากเป็นสัตว์ใหญ่ ย่อมสร้าง Carbon Footprint น้อยกว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์อีกด้วย
อย่างไรก็ดี เราคงไม่อาจตัดสินว่าการล่าวาฬนั้นผิด-ถูกอย่างไร ? แต่ความจริงที่ว่า ‘วาฬ’ กำลังจะสูญพันธ์เป็นความจริงที่ไม่อาจมองข้าม โดยสาเหตุมากจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง วาฬบางสายพันธุ์ (โดยเฉพาะวาฬสีน้ำเงิน) อาจสูญพันธุ์ภายในชั่วชีวิตของเรา หรือในระยะไม่เกิน 25 ปี หลังจากนี้อย่างแน่นอน
James Cameron ให้สัมภาษณ์ว่า “ภาพยนตร์ชุด Avatar เป็นหนังที่ย้ำเตือนว่าธรรมชาติสำคัญกับพวกเรามากแค่ไหน” มนุษย์ทำลายธรรมชาติ ท้ายที่สุดผลลบก็หวนกลับมาสู่มนุษย์อยู่ดี ทั้ง ๆ ที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนเฉกเช่นชาวนาวี มนุษย์และธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้โลกกำลังนับถอยหลังแล้ว แล้วมนุษย์กำลังทำอะไรอยู่กันแน่
คำถาม คือ “หากอีก 100 ปี โลกใบนี้เสื่อมโทรมกู่ไม่กลับ ทรัพยากรหมดสิ้น มนุษย์โลกพบดาวแพนโดราเหมือนในหนัง คุณคิดว่ามนุษย์โลก ณ เวลานั้นจะไปเพื่อยึดครองทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอยโลกเก่าที่ล่มสลายหรือไปอย่างเป็นมิตร เรียนรู้ความผิดพลาด พร้อมจะปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติใหม่แบบยั่งยืน”
ส่วน 5 ภาคของ Avatar ได้แก่ Avatar 2: The Way of Water, Avatar 3:The Seed Bearer, Avatar 4 : The Tulkun Rider และ Avatar 5: The Quest for Eywa จะไปจบที่ตรงไหน ? ต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง
– a-z-animals (https://bit.ly/3SyOoUq)
– Animal Welfare Institute (https://bit.ly/41vDVNE)
– IWC (https://bit.ly/3KJAgGi)
– Americanoceans (https://bit.ly/3IITn0C)
– BBC (https://bbc.in/3IBvtEb)
– Shortrecap (https://bit.ly/3m5sAnf)
– The Cloud (https://bit.ly/3kFViuB)
– VOA Thai (https://bit.ly/3kBOka7)
– Anngle (https://bit.ly/3ZdGeni)