9 ปรากฏการณ์ เลือกตั้ง 66 : เมื่อ ‘สายลม’ แห่งการเปลี่ยนแปลงมาเยือน ยุคสมัยใหม่ของประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัว

Highlight

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเลือกตั้งจากอดีต ที่เริ่มตั้งแต่การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ การแสดงวิสัยทัศน์และนโนบายในแต่ละประเด็น การลงพื้นที่ของผู้สมัครในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเข้มข้น

.

ในขณะที่การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษจากประชาชน ทั้งในด้านการทำงานและการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส แต่กลับพบปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เช่น ปัญหาการขนส่งบัตรเลือกตั้ง การนับคะแนนที่ล่าช้า และการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า สร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชน

.

ซึ่งหลังปิดหีบลงคะแนนในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม จนถึงช่วงของการนับคะแนน พรรคก้าวไกล สามารถคว้าที่นั่งในสภาได้มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คิดเป็นจำนวน 152 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 113 ที่นั่ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรายชื่อ 39 ที่นั่ง และมีคะแนนเสียงสูงถึง 14 ล้านคะแนน มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 62 ที่พรรคอนาคตใหม่เคยทำไว้ได้อยู่ที่ 6 ล้านคะแนน

.

นอกจาก #พรรคก้าวไกล จะเป็นพรรคที่ได้รับชัยชนะและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม การเลือกตั้งครั้งนี้ยังสร้างปรากฎการณ์ใหม่ในการเมืองไทยอีกมากมาย จะมีปรากฏการณ์อะไรบ้าง #AGENDA รวมมาให้แล้ว

.

1. มดส้มล้มช้างใหญ่

พรรคก้าวไกลคว้าที่นั่งส.ส.ในสภาฯ ไปมากที่สุด ถึง 152 ที่นั่ง แซงหน้าพรรคช้างใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็งอย่างพรรคเพื่อไทย ที่คว้าที่นั่งมากเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนส.ส. 141 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมอย่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ได้จำนวนส.ส.เพียงหลักสิบเท่านั้น

.

นอกจากนี้ พรรคที่มีแนวโน้มจะคว้าเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลาม ในฐานะที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีเป็นแคนดิเดตของพรรคอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ กลับได้ที่นั่งไปเพียง 36 ที่นั่งเท่านั้น สะท้อนปรากฏการณ์ ‘มดส้ม’ ที่สามารถล้ม ‘ช้างใหญ่’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

.

2. ชัยชนะในรอบ 9 ปี ของฝั่งประชาธิปไตย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพร้อมเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลทันที โดยได้ติดต่อไปยังพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม ในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงสนับสนุน 309 เสียง 

.

ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เตรียมทำ MOU ที่จะจัดตั้งรัฐบาลตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ สามารถเอาชนะ ‘ฝ่ายอำนาจนิยมและพรรคทหาร’ ได้แบบขาดลอย

.

3. อวสาน 15 งูเห่าส้มสอบตกยกแก๊ง

แม้อดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือเดิมคือพรรคอนาคตใหม่บางส่วนที่ถูกขับออกจากพรรคในฐานะ ‘งูเห่า’ จะกลับมาลงสนามการเมืองในนามพรรคใหม่ สีเสื้อใหม่ อุดมการณ์ใหม่ แต่ผลปรากฎว่า อดีตส.ส.งูเห่าทั้ง 15 คนสอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้ และไม่ได้เป็น ส.ส. แม้แต่คนเดียว ยกตัวอย่างเช่น ศรีนวล บุญลือ อดีตส.ส.อนาคตใหม่ที่ย้ายไปลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย แต่พ่ายแพ้ต่อผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลแบบไม่เห็นฝุ่น 

.

4. พลังโซเชียล ม้วนเดียวรู้ผล

การเลือกตั้งในครั้งนี้หลายพรรคการเมืองหันมาใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสร้างนำเสนอจุดยืนและอุดมการณ์ รวมไปถึงนโยบายที่โดดเด่น และคลิปไวรัลเรียกกระแสจากสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก DOM ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน ถึง 11 พฤษภาคม 2566 แสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลมี Engagement ในโซเชียลมีเดียสูงสุด 4.3 ล้านครั้ง ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 2.2 ล้านครั้ง และพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 ล้านครั้งตามลำดับ

.

รวมไปถึงปรากฎการณ์การเกิดขึ้นของ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ ซึ่งสร้างแรงสนับสนุนให้แก่พรรคก้าวไกลเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกที่พลังของโซเชียลมีเดียชี้ชะตาผลการเลือกตั้งได้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นบทเรียนที่หลายพรรคการเมืองจะต้องศึกษาและปรับกลยุทธ์ในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

.

5. คนไทยใช้สิทธิ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

จากข้อมูลของ กกต. ระบุว่า มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 52 ล้านคน คิดเป็น 75.22% โดยภาพรวมถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงที่สุดตั้งแต่ กกต. จัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง 

.

สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ต้องการใช้สิทธิ์และเสียงของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มคน GEN Y และ Z ที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงถึง 31 ล้านคน และเป็นตัวแปรสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้

.

6. บ้านใหญ่แพ้หน้าใหม่ยับเยิน

การเลือกตั้งปี 66 เกิดปรากฏการณ์ล้ม “บ้านใหญ่” หรือตระกูลการเมืองที่ยึดครองจังหวัดมาอย่างยาวนาน เช่น ตระกูลอัศวเหมที่พ่ายแพ้ในสมุทรปราการ ตระกูลรัตนเศรษฐสอบตกที่นครราชสีมา ตระกูลปิตุเดชะที่แพ้ยับเยินทั้ง 5 เขตในจังหวัดระยอง รวมไปถึงบ้านใหญ่อย่างตระกูลคุณปลื้มที่สูญเสียฐานเสียงในชลบุรี เป็นต้น 

.

และปรากฏการณ์ “ปักธงใหม่-ขยายเขตเดิม” ของพรรคพรรคก้าวไกล ที่ยังได้ที่นั่ง ส.ส. ยกจังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี ตราด จันทบุรี ระยอง และภูเก็ต รวมไปถึงการชนะในเขต 1 ที่ถือเป็นศูนย์กลางการเลือกตั้งในหลายจังหวัดอีกด้วย

.

7. มหาชน 14 ล้านเสียง ปะทะ 250 ส.ว. 

โอกาสในการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจถูกขัดขวางด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เพียงพอในรัฐสภา เพราะมีอำนาจพิเศษต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ระบุไว้ เช่น คะแนนเสียงจาก ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 250 คน มาร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้

.

ซึ่งกระแสวิจารณ์การทำงานของ ส.ว. รุนแรงมากขึ้น เมื่อมี ส.ว. หลายคนออกมาให้ความเห็นในทำนองที่ว่า จะไม่โหวตให้กับแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ทั้งยังโยนให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ที่ต้องไปรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีผลต่อคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

.

อย่างไรก็ตาม มีหลายพรรคการเมืองที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนในการทำตามฉันทามติของประชาชน โดยจะโหวตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แม้จะไม่ได้ร่วมตั้งรัฐบาล และเป็นฝ่ายค้านก็ตาม

.

8. ผลเลือกตั้งหักปากกาเซียน

ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น นักวิชาการหลายฝ่าย โพลหลายสำนัก ต่างคาดการณ์ว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย จะสามารถคว้าที่นั่งส.ส.ในสภาฯ ได้มากที่สุด แต่กลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลสามารถกวาดที่นั่งส.ส. ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ถึง 32 จาก 33 เขต เกือบเป็น ‘ก้าวไกลแลนสไลด์กรุงเทพฯ’ 

.

นอกจากนี้ กระแสของพรรคก้าวไกล กลับมาโดดเด่นในช่วงก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน สวนทางกับกระแสของพรรคเพื่อไทย ที่มาแรงในช่วงแรก แต่มาแผ่วในช่วงปลาย ทั้งที่พรรคได้รับการคาดการณ์จากนิด้าโพล ว่าจะสามารถคว้าที่นั่งส.ส.ได้ถึง 160 ที่นั่ง นับเป็นการหยุดสถิติ ‘พรรคที่ไม่เคยแพ้’ ตกลงมาเป็นพรรคอันดับ 2 ในรอบ 22 ปี

.

9. กกต. มีไว้ทำไม?

อาจเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่ กกต. ถูกจับตามองโดยประชาชนอย่างเข้มงวดมากที่สุด ทั้งในเรื่องของการใช้งบประมาณที่สูงถึง 5.9 พันล้านบาท แต่ปรากฏภาพของการจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหาตามมามากมาย 

.

เช่น การใช้ลังกระดาษทำคูหา ใช้ตะกร้าจักสานขนส่งบัตรเลือกตั้ง ยังไม่รวมปัญหาการส่งบัตรเลือกตั้งล่าช้า การนับคะแนนในบางพื้นที่ที่มีปัญหา และการประกาศผลที่ล่าช้า สร้างเสียงวิจารณ์มากมายจากประชาชน

.

อีกทั้งก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น มีการพากกต. ไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ แต่เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น กลับถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล แต่กลับได้การทำงานที่ไม่คุ้มค่า จึงเกิดเป็นคำถามของประชาชนสะท้อนไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ‘กกต. มีไว้ทำไม?’

.

ที่มา : BBC, ThaiPBS, Matichon, PPTV, Workpointtoday, ILaw

Popular Topics