Home Social ปลอดภัยแบบเหมาเข่งด้วยการแอบหลัง ‘ด่านหน้า’ ? รู้จัก ‘นิรโทษกรรม’ กับบริบทการใช้ ‘ล้างผิดหรือให้อภัย’

ปลอดภัยแบบเหมาเข่งด้วยการแอบหลัง ‘ด่านหน้า’ ? รู้จัก ‘นิรโทษกรรม’ กับบริบทการใช้ ‘ล้างผิดหรือให้อภัย’

0

หลายต่อหลายครั้งที่มีสถานการณ์วิกฤติ เกิดความสูญเสีย หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การ ‘นิรโทษกรรม’ มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอ

ในวิกฤติโควิด 19 นี้ก็เช่นกัน

ผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง บุคลากรด่านหน้ายังไม่สามารถพักผ่อน ประชาชนทั้งกลัวโรคและกลัวภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับความระอุทางการเมือง ที่หลายครั้งประชาชนรวมตัวกันให้รัฐแจกจ่ายวัคซีนอย่างโปร่งใส แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือกระสุนยางและแก๊สน้ำตา

– ปลอดภัยแบบเหมาเข่งด้วยการแอบหลัง ‘ด่านหน้า’ ?

เรื่องเก่ายังไม่กระจ่าง แต่ดูท่าว่าทางออกที่สธ.เตรียมเอาไว้ ไม่ใช่วัคซีน mRNA แต่เป็น “ร่างพ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ…”

โดยสาระสำคัญของพ.ร.ก. คือ การกำหนดให้บุคลากรสาธารณสุข 7 กลุ่ม และสถานพยาบาล 3 ประเภท ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่ง อาญา วินัย และการละเมิดของเจ้าหน้าที่ 

ถ้ามีการผ่านพ.ร.ก.นี้ จะมีผลย้อนหลัง ครอบคลุมไปนับแต่วันที่ประกาศให้ ‘โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 

ลำพังการปกป้องบุคลากรด่านหน้าในช่วงเวลานี้นั้นไม่มีใครโต้แย้ง 

ทว่า อีกสาระสำคัญของพ.ร.ก. คือผู้ที่จะได้การยกเว้นความรับผิดนั้นเหมารวม “บุคคล / คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน”” ด้วย

จุดนี้เองที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และเกิดแคมเปญ “คัดค้าน พ​.​ร​.​ก. นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งคนจัดหาวัคซีน” บนแพลตฟอร์ม Change โดยมีผู้สนับสนุนมากกว่า 22,000 ชื่อแล้ว

ในขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงจุดประสงค์ของพ.ร.ก.ตามที่ตั้งใจไว้เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่า

“ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสามเพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

– รู้จัก ‘นิรโทษกรรม’ 

นิรโทษกรรม หมายความว่า การทำให้ไม่มีโทษ หรือการลบล้างความผิด โดยถือว่าให้ผู้นั้นไม่เคยกระทำผิดมาก่อน

ความหมายของ นิรโทษกรรม ยังมีการแบ่งเป็นนิรโทษกรรมทางแพ่ง และทางอาญา (iLaw, ราชบัณฑิตยสถาน) ว่า

1. นิรโทษกรรมทางแพ่ง 

หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย

2. นิรโทษกรรมทางอาญา 

หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

‘นิรโทษกรรม’ กับประวัติศาสตร์ไทย

หากไล่ทบทวนกฎหมายนิรโทษกรรมในประวัติศาสตร์ไทยกว่า 22 ฉบับในอดีต จะพบว่าการนิรโทษกรรมแต่ละครั้ง มักเกี่ยวข้องตั้งแต่ความผิดในช่วงสงคราม การรัฐประหาร การก่อกบฎ การชุมนุมทางการเมือง

ถ้าหากพ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่กำลังเป็นประเด็นนี้ผ่านใช้ อาจเป็นครั้งแรกที่มีนิรโทษกรรมเกี่ยวกับสาธารณสุข ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา

แง่มุม ‘นิรโทษกรรม’ ล้างผิดหรือให้อภัย

การยก ‘นิรโทษกรรม’ ขึ้นมาใช้มักก่อให้เกิดข้อถกเถียงก็จริง แต่จะมองนิรโทษกรรมแต่ละครั้งในแง่มุมไหน ก็คงขึ้นอยู่กับ ‘วัตถุประสงค์’ ที่แท้จริง และการเนื้อหาที่ ‘สอดไส้’ อยู่ข้างใน

ที่มา: 

– https://workpointtoday.com/amnesty-law/

– https://workpointtoday.com/2politic-summarize/

– https://www.thansettakij.com/politics/438624

– http://chng.it/PgxHrZmH6h

– https://ilaw.or.th/node/562

Exit mobile version